ม.รังสิต จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ปันภาษาไทยกับคนเก่ง... รัดเกล้า อามระดิษ

22 Apr 2019

สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการสัมมนาทางวิชาการ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๒ เรื่อง “ปันภาษาไทยกับคนเก่ง... รัดเกล้า อามระดิษ” โดยได้รับเกียรติจากคุณรัดเกล้า อามระดิษ นักแสดงชื่อดัง เป็นวิทยากรบรรยาย ณ ห้อง 11-101 อาคารรัตนคุณากร (อาคาร 11) มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งในการบรรยายครั้งนี้ คุณรัดเกล้าได้แบ่งปันประสบการณ์การใช้ภาษาไทยในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของนักร้อง นักแสดง ผู้ประกาศ หรือ พิธีกร และได้ตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาของการใช้ภาษาไทยที่พบเจอในชีวิตประจำวันกับนักศึกษาที่เข้าร่วมงานอีกด้วย

 

 

“ในเรื่องของการร้องเพลง เป็นนักร้องต้องใช้ทักษะทั้งฟัง อ่านโน้ต จับประเด็น ตีความให้ออกว่าสิ่งที่ผู้แต่งเพลงต้องการจะสื่อคืออะไร แล้วเราก็ถ่ายทอดอารมณ์ตามนั้น มันถึงจะจับใจผู้ฟัง สำหรับบทบาทการแสดง เมื่อได้บทมาก็ต้องใช้ทักษะในการอ่านจับประเด็น อ่านแล้วต้องตีความให้เข้าใจบุคลิกของตัวละคร ว่าทำไมเขาถึงต้องพูดแบบนี้ ทำไมถึงเลือกใช้คำแบบนี้ พื้นฐานครอบครัว พื้นฐานการศึกษาเป็นอย่างไรทำไมถึงใช้ระดับภาษาแบบนี้ ทุกอย่างมันบอกหมดจากคำพูดของตัวละคร บทละครไม่เหมือนเรื่องสั้น หรือนวนิยาย ที่มีบทบรรยาย แต่บทละครจะเล่าผ่านคำพูด เพราะฉะนั้นคุณต้องตีความให้ได้ ว่าเบื้องหลังการกระทำของเขาทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อยากจะบอกน้องๆ ไว้ เอาไปใช้ได้ตลอดชีวิต เวลาที่เราเจอใคร ให้อ่านเขาจากวัจนภาษา และอวัจนภาษา คำพูดที่เขาพูด โทนเสียงที่เขาใช้ มันบอกถึงความเป็นตัวตนเขาทั้งหมด คนบางคนพูดมารู้เลยว่าคนนี้ไม่น่าจะมีความรับผิดชอบ คนบางคนฟังแล้วรู้สึกว่าคนนี้ชอบดูถูกคนอื่น ทุกอย่างมันออกมาจากคำพูดเขาทั้งนั้น ทักษะการอ่านจึงสำคัญ เหล่านี้จะทำให้เรามีความเข้าใจในมนุษย์มากขึ้น”

 

 

นอกจากนี้ คุณรัดเกล้ายังได้กล่าวถึงประเด็นภาษาวิบัติด้วยว่า  “ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงต้องผ่านการพิสูจน์ทางการเวลา และความนิยมใช้ของสังคม เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหา ควรเริ่มที่ตัวเราก่อน”

อาจารย์จิรพร รักษาพล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้จัดงานสัมมนา  ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปในการจัดงานสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้ว่า  “เป็นโครงการของสาขาวิชาภาษาไทยที่จัดขึ้นทุกปี เราจึงต้องคิดว่าจะเชิญใครที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย เพื่อที่จะมาให้ความรู้กับนักศึกษาของเรา เนื่องจากว่ามีลูกศิษย์ที่รู้จักกับคุณรัดเกล้า เวลาที่คุณรัดเกล้าใช้ภาษาไทยในการพูด การออกเสียง ไม่ว่าจะเป็นงานอีเว้นท์ งานร้องเพลง งานพิธีกร ผู้ประกาศข่าว หรือการให้สัมภาษณ์ เขาจะออกเสียงภาษาไทยอย่างชัดเจน เลยอยากจะรู้ว่าคุณรัดเกล้ามีความคิดอย่างไร ประสบการณ์ของเขาน่าจะนำมาแบ่งปันให้กับนักศึกษาของเราฟัง จึงพยายามหาทางติดต่อค่ะ เมื่อติดต่อไปก็เล่าถึงสาเหตุที่ว่า ทำไมจึงต้องเป็น คุณรัดเกล้า อามระดิษ เพิ่มเติมว่า “ถ้าเกิดว่าเป็นครูเองที่สอนวิชาภาษาไทยแล้วพูดชัด คนก็จะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลก  ในเมื่อเป็นอาชีพของครูอยู่แล้ว ครูเลยต้องพูดให้ได้ เลยคิดว่าคนที่น่าจะเป็นแบบอย่างได้ น่าจะเป็นคนที่ไม่ได้จบเอกภาษาไทยมาก่อน อย่างคุณรัดเกล้าที่จบเอกภาษาอังกฤษ โทก็เป็นล่ามการแปลภาษาอังกฤษ แต่เขายังสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี น่าจะเป็นแรงกระตุ้นในการสร้างจิตสำนึกในการใช้ภาษาไทยได้ อย่างน้อยๆ นักศึกษาจะได้มองเห็นความสำคัญในการใช้ภาษาไทยเพื่อประกอบอาชีพในอนาคตได้มากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ”

 

 

เนื่องจากคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องน้อยลง  โดยคิดว่าแค่พูดได้ สื่อสารได้ก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น ในสังคมของการทำงาน การพูดจาก็มีส่วนสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นเพื่อให้ได้ใจความและถูกต้อง ปัญหาสำคัญในการใช้ภาษาไทยที่เห็นได้ชัดเจน คือ ภาษาวิบัติ อาจารย์จิรพร ได้ให้ความเห็นว่า

 

 

“มองว่ามันจะยิ่งเป็นการทำลายภาษาไทยมาก ถ้าคนมองไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยเมื่อไหร่ เขาก็จะนำไปใช้ตามใจชอบโดยไม่สนใจว่า ภาษาวิบัติ จะส่งผลกระทบต่อคนไทยและประเทศชาติในอนาคตอย่างไร ยิ่งมีสื่อโซเชียลเข้ามามากขึ้นเท่าไหร่ ความสำคัญของภาษาก็ยิ่งลดน้อยลง ถ้าเรายิ่งไม่ช่วยกันปลูกฝัง โอกาสภาษาวิบัติก็จะยิ่งเพิ่มพูน พอกพูนมากขึ้น อย่างที่ทุกคนรู้ว่าภาษาไทยไม่ได้มีแต่เพียงพวกเราที่เห็นความสำคัญและอยากอนุรักษ์ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงห่วงใยถึงปัญหาของการใช้ภาษาไทย จึงทำให้เวลามีพระราชดำรัส พระราชดำริ หรือมีพระบรมราโชวาสใดๆ ก็ตาม พระองค์ทรงใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องอย่างยิ่ง และเมื่อคนเห็นความสำคัญของภาษาไทยน้อยลง พระองค์จึงกำหนดให้มีวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นมา ในเมื่อพระองค์เองยังทรงเห็นความสำคัญของภาษาไทย เพราะฉะนั้น พวกเราเองซึ่งเป็นคนไทย อย่ามองว่าภาษาไทยไม่สำคัญ แค่เริ่มจุดง่ายๆ โดยการอย่ามองว่ามันยาก ฟัง พูด อ่าน เขียน ให้ถูกต้องตามโอกาส ภาษาไทยมันมีหลายระดับ นักศึกษาสามารถใช้ภาษาแสลงกับคนที่สนิทได้ ไม่มีใครว่า แต่เวลาที่เข้าสังคมเมื่อไหร่ เราปรับมาอีกสักนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องยากถ้าเรามีความใส่ใจ”

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ