หลายคนอาจคุ้นหูกับคำว่าบรรณาธิการ อาชีพเบื้องหลังที่ผู้เป็นบรรณาธิการจะต้องรับผิดชอบหนังสือในทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งหนังสือผลิตออกมาเป็นรูปเล่ม สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือ ก็จะคุ้นชินกับคำนี้เป็นอย่างดีเพราะในหนังสือทุกเล่มจะมีการเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลที่ร่วมทำหนังสือ แล้วคนที่ไม่ได้คลุกคลีหรือเป็นหนอนหนังสือล่ะ รู้จักอาชีพนี้หรือไม่ คนที่เป็นบรรณาธิการจะต้องทำอะไรบ้าง บทบาทหน้าที่ความสำคัญของบรรณาธิการเป็นอย่างไร “อาจารย์รพีพรรณ เพชรอนันต์กุล” อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เป็นทั้งอาจารย์และยังเป็นบรรณาธิการหนังสือด้วยจะมาพูดถึงอาชีพนี้ อาชีพที่อาจเป็นความฝันของใครหลายคน รวมถึงเป็นความฝันของอาจารย์รพีพรรณด้วยเช่นกัน
ในยุคของอาจารย์รพีพรรณ คนที่เรียนจบสายวิชาภาษา หรือเรียนเอกวิชาภาษาไทยมาต่างก็มีความฝันว่าอยากเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สื่อสิ่งพิมพ์เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟู เมื่อเรียนจบทุกคนต่างก็อยากไปสมัครงานตามสำนักพิมพ์ เรียกได้ว่าอาชีพบรรณาธิการ หรือได้เป็นส่วนหนึ่งในกองบรรณาธิการนั้นโก้ที่สุด
“ครูเองก็ไปสมัครงานที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่ผู้จัดการที่สัมภาษณ์กลับแนะนำว่าให้ครูไปเรียนต่อให้สูงๆ เพื่อเป็นอาจารย์จะดีกว่า ในตอนนั้นครูก็ไม่เข้าใจเหตุผลว่าเพราะอะไร เราเพียงอยากทำงานเกี่ยวกับตัวหนังสือเท่านั้น แต่คำแนะนั้นก็ทำให้เราตัดสินใจเรียนต่อเพื่อเป็นครู เมื่อเรียนจบก็มาทำงานที่มหาวิทยาลัยรังสิตและศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ในตอนนั้นความรู้สึกที่อยากเป็นบรรณาธิการก็ยังมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้ลงมือทำ ขณะที่ทำหน้าที่ครูที่มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ได้รับโอกาส และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทำตามความฝัน ตอนนั้น ครูรวบรวมผลงานของตัวเองที่เคยส่งประกวดมาทำเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า ‘วราวรรณ’ หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต และได้รับรางวัลจาก สพฐ (สำนักงานคณะการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ยุคนั้นคณบดีของคณะศิลปศาสตร์ ยังเป็น ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ‘เป็นครูเขา ก็ต้องมีผลงานให้ลูกศิษย์เอาไปเชิดชู ว่านี่ผลงานครูฉัน’ คำคมที่สร้างแรงบันดาลใจ ผลงานหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชย จากผลงานนี้นอกจากเป็นผลงานของตัวครูเองแล้ว ยังได้เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยรังสิตอีกด้วย ทั้งนี้ รางวัลล่าสุดของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต คือรางวัลหนังสือดีเด่น จำนวน 3 เล่ม หนังสือทั้งสามเล่มนี้เป็นกวีนิพนธ์และครูก็เป็นบรรณาธิการด้วย จริงๆ แล้วในวงการร้อยกรองนั้น หลายคนเจอปัญหาเดียวกันกับที่ครูเจอ คือเรื่องการถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ สำหรับครูก็มีประสบการณ์การถูกปฏิเสธมาแล้วเช่นกัน จึงอยากมีส่วนร่วมในการผลักดันให้นักเขียนที่มีความฝัน มีความสามารถ สามารถติดต่อที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิตได้เช่นกัน เวลาที่มีใครมาปรึกษาเกี่ยวกับการรวมเล่มหนังสือ ครูก็จะแนะนำโดยใช้เกณฑ์ของ สพฐ เป็นหลัก กระทรวงการศึกษาต้องการกลอนที่ถูกฉันทลักษณ์ เพื่อจะได้นำไปเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องให้กับนักเรียน สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิตส่งประกวดหนังสือทุกปี และได้รางวัลทุกปี ในแวดวงนี้ทุกคนก็จะทราบว่า สนามนี้ ลักษณะหนังสือแบบนี้ ต้องมหาวิทยาลัยรังสิต”
หลายคนอาจอยากทราบว่าหน้าที่ของบรรณาธิการคืออะไร อาจารย์รพีพรรณได้เล่าให้ฟังว่า หน้าที่หลักคือการจัดสรร การคัดสรร การตรวจสอบต้นฉบับ สมัยก่อนจะมีรายวิชาที่ชื่อว่า การบรรณาธิการ เพื่อผลิตเนื้อหาที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดทำหนังสือเล่มนั้นๆ ในฐานะบรรณาธิการ การคัดเลือกต้นฉบับที่จะส่งเข้าประกวดนั้น อย่างครูเป็นคณะกรรมการในการประกวดกลอนสด ซึ่งจัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตด้วย ครูจะได้เจอนักเรียนที่มีความชื่นชอบด้านการเขียนร้อยแก้ว ร้อยกรอง เมื่อได้ฟังได้เห็นก็จะพอมองออกว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของเขามาเต็มเปี่ยมขนาดไหน บางคนครูสามารถชี้ได้เลยว่าคนนี้มาประกวดหลายปี ผลงานของนักเรียนเขาดีมาโดยตลอด สำนวนดี แนวคิดดี ก็จะกรุยทางไว้ว่าหากนักเรียนคนนี้สนใจ และสามารถผลิตผลงานออกมาได้ทันกำหนดการส่งเข้าประกวด ก็สามารถลองหาประสบการณ์ได้ หลายคนก็เกิดแรงบันดาลใจจากการชักชวน เพราะครูมองเห็นความสามารถ มองเห็นพลังของเขา เมื่อเขามีความสามารถก็น่าจะได้ลองดู ครูจะเป็นสะพานให้เดินข้าม ส่งนักเรียน นักศึกษา ได้ลองหาประสบการณ์ หากเขาชนะเขาจะได้รู้ว่าชนะต้องทำอย่างไร หากเขาไม่ชนะ เขาจะได้รู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร ถ้าเจออุปสรรคต้องทำอย่างไร
ปัจจุบันนี้จะเรียกได้ว่าทั้งบทบาทครูอาจารย์แล้ว บทบาทของการเป็นบรรณาธิการเป็นอาชีพหลักของอาจารย์รพีพรรณ ซึ่งสองบทบาทนี้ค่อนข้างที่จะแตกต่างกัน เมื่อถามถึงข้อเปรียบเทียบของอาชีพทั้งสอง อาจารย์รพีพรรณเล่าว่า “ไม่รู้ว่าจะเปรียบเทียบในด้านไหน แต่คิดว่ามันก็สามารถประกอบอยู่ในตัวคนเดียวได้ ไม่ว่าจะบทบาทครูอาจารย์ หรือบทบาทบรรณาธิการ มันก็เป็นเพียงกรอบกรอบหนึ่ง หากเราใฝ่รู้ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ครูเชื่อว่าเราจะทำมันได้อย่างดี”
"