วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป แทบจะทุกวงการทุกอาชีพต่างหันมาเล่น Social Media มากขึ้น ในหลายอาชีพที่เราไม่เคยรู้เลยว่าเวลาทำงานหรือไลฟ์สไตล์ของพวกเขาเป็นอย่างไร แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายมารู้ตัวอีกทีเราก็เป็นแฟนคลับ (FC) ของ Influencer เหล่านั้นไปแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นักบินลูกตาล พรรณาภา อฆะสิริกูล ศิษย์การบินรุ่นที่ 5 สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต (TikTok : @luktalpannapa) นักบินสาวสวยแห่งสายการบินไทยไลน์อ้อนแอร์ ที่ทำคลิปเม้าท์มอยเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ชีวิตนักบิน

นักบิน & Influencer
หลังจากที่เรียนจบจาก ม.รังสิต ตาลสมัครเป็นครูฝึกบินที่โรงเรียนการบิน Bangkok Aviation Center (BAC) ทำงานอยู่ได้ 3 ปีครึ่ง มีสายาการบินเปิดใหม่รับสมัครพนักงานและนักบิน ซึ่งตาลสะสมชั่วโมงบินจากการเป็นครูการบินมาพอสมควร จึงไปสอบเข้าสายการบินนิวเจนแอร์เวย์ส บินอยู่ได้ 2 ปีครึ่งก็ย้ายมาสายการบินไทยไลน์อ้อนแอร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 จนตอนนี้ก็ทำงานเข้าปีที่ 6 แล้ว ซึ่งจากวิกฤติโควิด-19 เป็นที่รู้กันดีว่าหลายอาชีพได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะนักบินเป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างสูง แต่พอเจอวิกฤติโควิด-19ได้รับแค่เงินช่วยเหลือซึ่งน้อยกว่ารายได้ปกติมากและไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตาลกำลังจะสอบกัปตันเพราะชั่วโมงบินครบและสายการบินก็กำลังเปิดสอบกัปตันพอดี ตอนนั้นทำให้เครียดและจิตตกมากๆ

ตาลก็เหมือนกับหลายๆ คนที่ไม่รู้จะทำอะไรแต่ก็ต้องหารายได้ จึงทำทุกอย่างแบบที่คนอื่นทำ เช่น ทำขนมขาย ขายของออนไลน์ ซึ่งก็ไม่ใช่ทางของเราเท่าไหร่ แต่ก็ลองทำมาเรื่อยๆ จนช่วงหลังเรารู้แล้วว่าเราชอบพูดชอบรีวิวมากกว่าขายของจึงมาเป็น Influencer รีวิวสินค้าและรีวิวคอร์สเสริมความงาม จนสถานการณ์กลับมาปกติเลยทำคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์นักบิน รีวิวชีวิตนักบิน และทำคอนเทนต์ตัวเองในมุมอื่นๆ บ้างเล็กน้อย เช่น รีวิวไฟล์ท บิน เมื่อต้องบินนักบินทานข้าวแบบไหน พูดคุยกับพี่กัปตันและลูกเรือ ตรวจเครื่องบินก่อนบิน หรือให้ความรู้เรื่องการบินบ้างเล็กๆ น้อยๆ

ศิษย์การบิน RSU05
ตาลเรียนจบ ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนสุราษฎร์ธานี ที่บ้านอยากให้เรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพจึงมาดูที่เรียนที่ ม.รังสิต เห็นว่ามีสถาบันการบินเปิดสอนมา 4 ปีแล้ว และที่ ม.รังสิต ก็เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแรกๆ ที่เปิดสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ในระดับปริญญาตรี พี่รุ่น 1 เริ่มทำงานในสายการบินต่างๆ บ้างแล้วจึงสนใจมาก (ความเข้าใจเดิมคิดว่านักบินรับเฉพาะผู้ชายเท่านั้นและต้องเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์หรือเรียนมาทางสายทหาร) ซึ่งพอได้คุยกับอาจารย์ยิ่งทำให้อยากเรียนมากขึ้น จึงคุยกับที่บ้านอยู่นานกว่าจะยอมให้เรียน ซึ่งเหตุผลหลักที่ที่บ้านไม่อยากให้เรียนเพราะคุณอาประสบอุบัติเหตุจากเครื่องบินโดยสารตก จึงทำให้มีความทรงจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับเครื่องบิน ซึ่งถ้าไม่จำเป็นจะหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ตอนนั้นดื้อด้วยอยากเรียนให้ได้ต่อรองว่าลองเรียน 1 ปี ถ้าเกรดไม่ดีหรือเรียนแล้วไม่โอเคจะย้ายคณะไปเรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพตามที่อยากให้เรียน
พอเข้ามาเรียนจึงค่อยๆ พิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่าเราทำได้นะ แต่ก็ต้องค่อยๆ ผ่านไปทีละขั้นทีละตอน ตอนตาลเข้ามาเรียนสถาบันการบินพึ่งเปิดมาได้ 5 ปี จึงเป็นคณะเล็กๆ ที่มีนักศึกษาไม่มาก รุ่นพี่รุ่นน้องจะรู้จักกันหมด อาจารย์หรือพี่ๆ เจ้าหน้าที่ดูนักศึกษาดีมากตอนเรียนจึงไม่เครียดเรียนสนุกมากและทำเกรดได้ดี

เอาชนะแรงกดดัน เอาชนะใจตัวเอง
พอขึ้นปี 3 ตาลต้องไปสอบเวชศาสตร์การบิน ก่อนเลือกไปเรียนฝึกบินที่สถาบันการบินภายนอก ระหว่างนั้นก็เห็นรุ่นพี่สอบไม่ผ่านบ้างจึงรู้สึกกลัวและไม่มั่นใจ พอถึงเวลาที่ตัวเองต้องสอบก็สามารถผ่านมาได้ ตาลเลือกไปฝึกบินที่ โรงเรียนการบิน Bangkok Aviation Center (BAC) ตอนนั้นสิ่งที่ทำให้ตาลรู้สึกกดดันมี 2 เรื่องคือ 1. เรื่องที่บ้านอย่างที่กล่าวไปตอนต้น คือ ที่บ้านพยายามเกลี้ยกล่อมให้ตามไปเรียนสายวิทยาศาสตร์สุขาภาพมาโดยตลอด และเรื่องที่ 2 คือ เรียนฝึกบิน เพราะนักบินเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับตาล ยิ่งต้องไปเรียนฝึกบินกับครูฝึกที่ไม่ใช่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยยิ่งทำให้เรากังวลพอสมควร และเมื่อเราต้องฝึกบินคะแนนที่ได้ไม่ได้มาจากการอ่านหนังสือสอบ แต่เป็นการฝึกปฏิบัติล้วนๆ ครูการบินก็ค่อนข้างดุ ครูจะบอกเสมอว่า “เขาสอนด้วยชีวิต” เพราะฉะนั้นเขาเลยต้องกดดันเรามากกว่าปกติ ซึ่งครูที่ฝึกบินให้ตาลบอกกับตาลว่า ครูไม่เคยสอนผู้หญิงมากก่อน ครูก็กดดัน เราก็กดดัน ดังนั้น เวลาฝึกบินครูจะใช้ไม้ในการสะกิดเราช่วยในการสอน
ถ้าให้มองย้อนกลับไปไม่คิดเลยว่าตัวเองจะเป็นนักบินได้ ไฟล์ทแรกที่ตาลต้องเป็นคนขับเครื่องบิน ตาลทำอะไรไม่ได้เลย ที่ครูสอนที่เราเรียนมาทั้งหมดตาลจำอะไรไม่ได้เลย บินไม่ได้จริงๆ ทั้งกลัวความสูง เครียด กดดัน มือสั่นขาสั่น รู้สึกว่าไม่ใช่ทางของเรา ถอดใจ Toxic ซึ่งก่อนฝึกบินค่อนข้างมั่นใจมากว่าเราทำได้ เพราะทฤษฎีเราค่อนข้างแม่น เราตั้งใจเรียนมาก คะแนนสอบเราก็ทำได้ดี

ไฟล์ทสุดประทับใจ : ไฟล์ทตัดเชือก
ไฟล์ทที่ 2 ตอนขึ้นบินช่วงแรกก็ยังรู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ ครูถามว่า เราตั้งใจจริงมั้ย ตั้งใจขนาดไหน ลองตั้งสติ ซึ่งพอเราตั้งสติได้เราก็บินได้ แต่ในใจยังคิดว่าไม่อยากเรียนแล้ว ไม่เอาแล้ว พอลงมาถึงพื้นวิ่งเข้าห้องน้ำไปรองไห้เลย ไม่รู้จำทำอย่างไร ไม่อยากบิน เราบินไม่ได้ คิดอยู่แบบนั้น แต่ครูไม่ยอมแพ้ ครูบอกว่า “ครูไม่เคยคิดเลยว่าตาลบินไม่ได้ แล้วทำไมถึงคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ นี่แค่ชั่วโมงที่ 2 ของการฝึกบิน ผมยังไม่ยอมแพ้ในตัวคุณเลย แล้วคุณจะยอมแพ้ในตัวเองได้อย่างไร ครูเป็นครูการบินมาทั้งชีวิต ใครจะบินได้หรือไม่ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครู คุณไม่ได้เลือกผมมาสอน ผมไม่ได้เลือกคุณมาเรียน เราจับฉลากมาเป็นลูกศิษย์-อาจารย์ คุณไม่เชื่อในตัวผมว่าผมจะสอนคุณบินได้หรอ” ซึ่งตาลไม่เชื่อในตัวเองเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าครูต้องสอนตาลได้ รู้สึกประทับใจมากในคำพูดไม่ได้มีการปลอบโยน แต่สำหรับตาลเป็นคำพูดที่ทัชใจมาก ครูจะคุยกับเราตลอด ทั้งครูการบินและอาจารย์ที่ ม.รังสิต ซึ่งนอกจากอาจารย์คุยกับเราแล้วยังช่วยคุยกับที่บ้านให้ตลอดเหมือนกันหลังจากนั้นก็ค่อยๆ มั่นใจขึ้น ฝึกตามที่ครูสอนทุกอย่างพอไฟล์ทที่ 4-5 ก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งก็ได้จากครูมาเยอะมาก ตอนปล่อยบินเดี่ยวครั้งแรกที่บ้านก็เริ่มดีขึ้นแต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเลยคือตอนที่ตาลเรียนจบแล้วได้งานทำเลย ซึ่งที่บ้านเชื่อมั่นในตัวตาลมากขึ้น ตาลว่า นักบิน เป็นอาชีพที่ต้องรอจังหวะชีวิตจริงๆ

ไฟล์ทวิกฤติของนักบินลูกตาล
ตาลเคยเจอไฟล์ทผู้โดยสารแพนิค เป็นไฟล์ที่บินจากภูเก็ตไปจีน ผู้โดยสารมีปัญหาส่วนตัวตอนบินจากสนามบินภูเก็ดก็ปกติไม่มีอาการอะไรบินมาไกลพอสมควร ผู้โดยสารบอกบินต่อไม่ไหวจะลงให้ได้ หลังจากที่หารือกับทุกฝ่ายแล้ว เครื่องบินลงจอดได้ที่สนามบินดอนเมืองไม่สามารถกลับไปสนามบินภูเก็ตได้ (Flight Duty Period) ต้องประสานงานกับภาคพื้น และไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ซึ่งก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นเคสที่ต้องตัดสินใจว่า สรุปผู้โดยสารจะลงมั้ย เพราะอะไร สิ่งที่เราต้องตอบคำถามไม่ใช่แค่ผู้โดยสารบนเครื่อง เราต้องตอบคำถามบริษัท ตอบคำถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการบินอีกมากมาย ว่าทำไมอยู่ๆ นักบินถึงตัดสินใจลง ซึ่งระหว่างนั้นผู้โดยสารก็เริ่มแพนิคมากขึ้นต้องให้ออกซิเจน จึงตัดสินใจลงซึ่งเสียเวลาไป 3 ชั่วโมง โดยการนำเครื่องลงในลักษณะนี้ต้องมีรถพยาบาลและมีขั้นตอนอีกมากมายทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งผู้โดยสารโอเคที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และการลงลักษณะนี้ผู้โดยสารจะลงคนเดียวไม่ได้ต้องมีเพื่อนหรือญาติลงไปด้วย ขณะนั้นผู้โดยสารก็มีปัญหากับเพื่อนเพราะเพื่อนอยากกลับบ้านแต่ก็ต้องอยู่กับเพื่อน ซึ่งเคสนี้คิดว่าน่าจะตื่นเต้นที่สุดที่เคยเจอมา
เคสอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเครื่องยนต์ จะมีคู่มือช่วยในการตัดสินใจตามขั้นตอนซึ่งเรายังค่อนข้างอุ่นใจ นอกนั้นก็เป็นเคสเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ไม่ดี ทำให้ไม่สามารถบินลงสนามบินปลายทางได้ต้องไปลงสนามบินสำรอง ซึ่งไม่ได้มีเราแค่ลำเดียวยังมีสายการบินอื่นๆ ที่กำลังจะลงช่วงนั้นก็เจอสภาพอากาศเช่นเดียวกับเรา ดังนั้น การลงสนามบินสำรองจะที่มีขั้นตอนในการนำเครื่องลงตามกฎการบินอยู่แล้ว

อายุน้อยได้เปรียบ
ตาลว่า อายุน้อยจะได้เปรียบ อายุน้อยยังมีโอกาสค้นหาตัวเอง เราอาจจะเจอสิ่งที่ชอบจริงๆ ก็ได้ จนมาถึงทุกวันนี้ตาลไม่ได้มีความชอบนักบินตั้งแต่เด็ก ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ แต่รู้แค่ว่าเราอยากทำอะไรหรือไม่อยากทำอะไร ไม่ได้มีความชอบเรื่องใดเป็นพิเศษ ตาลเป็นคนหนึ่งที่ธรรมดามากๆ แต่ทุกวันนี้โชคดีตาลชอบงานที่ตัวเองทำ ให้ลองดูว่าตัวเองชอบอะไร ให้ลองทำดูว่าชอบมั้ย ไม่ว่าจะอาชีพหรืองานอะไรให้ลองทำก่อน เราจะรู้เองว่าเราชอบสิ่งนั้นหรือไม่ ทุกอย่างกำลังค่อยๆ ดีขึ้น ยกตัวอย่าง อาชีพนักบิน สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ที่สำคัญนักบินไทย Quality สูงมาก เป็นที่ต้องการของสายการบินต่างชาติ ดังนั้น จึงอยาปิดกั้นโอกาสในการลงมือทำ
"