กลเม็ดเคล็ดไม่ลับกับการใช้ตะเกียบแบบชาวจีน

27 Nov 2019

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากว่า 5,000 ปีและเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการกินอันพิถีพิถันและเลื่องชื่อ ซึ่งเป็นที่มาของอุปกรณ์การกินที่มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของชาวจีนเกิดขึ้น ตามหลักฐานที่ปรากฏในตำราคัมภีร์หลี่จี้ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมหลักจารีตประเพณีด้านต่าง ๆ ของท่านขงจื้อในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องวัฒนธรรมการกินอาหารไว้ว่า  “เมื่อมีกับข้าวจงเลือกใช้ไม้ยาวในการคีบตัก หากไม่มีกับข้าวก็ไม่ต้องใช้ไม้ยาวตักคีบใดใด” แม้จะไม่มีหลักฐานว่าจีนเริ่มใช้ตะเกียบจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าชาวจีนเริ่มใช้ตะเกียบกินข้าวกันอย่างแพร่หลายในหลังยุคราชวงศ์ฮั่น หรือเมื่อประมาณ 3,000 กว่าปีก่อน ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนโบราณที่กล่าวถึงเรื่องการใช้ตะเกียบเป็นอุปกรณ์ในการกินอาหารของคนในบ้านและใช้สำหรับต้อนรับแขกชาวจีนก็เลือกใช้อุปกรณ์ลักษณะเป็นไม้ยาวคีบอาหารซึ่งในปัจจุบันเราเรียกอุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า ตะเกียบจะสังเกตว่าตัวอักษรจีนคำว่าตะเกียบนั้นมีคำว่า “ไม้” และ “ไผ่” และ “เร็ว” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “สนุกสนาน/มีความสุข” รวมกันเป็นอักษรจีนคำว่าตะเกียบเกิดขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตะเกียบกับไม้ไผ่มีความสัมพันธ์กันมากนี่จึงเป็นที่มาว่าตะเกียบของจีนนิยมทำจากไม้ไผ่ โดยวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบนี้ยังแพร่หลายไปยังอีกหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่นหรือเวียดนามซึ่งก็มีการดัดแปลงและพัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินประจำชาติของตนเองไปด้วย

 

 

ตะเกียบมีลักษณะเป็นแท่ง 2 แท่งมีขนาดใกล้เคียงกันใช้เป็นอุปกรณ์หลักในการกินอาหาร มีการผลิตจากหลายหลายวัสดุ หลายรูปทรงและประยุกต์กันไปตามแต่ละวัฒนธรรมท้องถิ่น วัสดุที่ทำจะมีทั้งนิยมทำมาจากไม้ ไม้ไผ่ โลหะ หรือพลาสติก หากเลือกมองจากคุณค่าในการใช้งานตะเกียบที่ทําด้วยไม้ไผ่, ไม้เนื้อแข็ง ธรรมดา ๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างดี แต่หากเพื่อต้องการแสดงฐานะความมั่งคั่งของตนเองหรือครอบครัว ฯลฯ ก็จะเกิดการประดิษฐ์คิดค้นการทำตะเกียบที่วิจิตรพิสดารหรูหราขึ้นมาแทน เช่น ตะเกียบจากงาช้าง ตะเกียบฝังเพชร ตะเกียบหยก ตะเกียบเลี่ยมทอง ตะเกียบทองเหลือง ฯลฯ ในปัจจุบันตะเกียบก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น บ้างคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย บ้างคำนึงถึงความสะดวกในการพกพา บ้างเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับการใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น มีตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้ง ตะเกียบพับเก็บสะกวกพกพา ตะเกียบส่วนตัว ตะเกียบจากวัสดุที่กินได้ เป็นต้น ลักษณะที่สำคัญของตะเกียบจีนที่สังเกตุง่ายและแตกต่างไปจากตะเกียบญี่ปุ่น ตะเกียบเกาหลี คือความยาวของตะเกียบซึ่งโดยปกติจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 9-10 นิ้ว คนจีนจะใช้ตะเกียบคู่กับช้อน ภาพที่เราคุ้นตาบนโต๊ะจีนคือเป็นลักษณะโต๊ะกลม มีจานหมุนและนำอาหารมาไว้ตรงกลางเพื่อทานร่วมกัน เมื่อใช้เป็นตะเกียบไม้ที่ขนาดยาวพอเหมาะ ผู้ร่วมโต๊ะจะได้เอื้อมมือใช้ตะเกียบไปคีบอาหารที่ตั้งอยู่ไกลได้หรือหากต้องทานอาหารจำพวกสุกี้ ฮอตพอท ก็สามารถช่วยให้คีบอาหารได้สะดวกไม่ร้อนมือ อีกประการที่สำคัญคือการใช้ตะเกียบในการทานอาหารยังสามารถเติมเต็มทุกอรรถรสของการทานอาหารตามแบบฉบับของชาวจีนซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมความกลมเกลียวสมานฉันท์รักใคร่ผูกพันตามแบบฉบับครอบครัวจีนอีกด้วย

                                                                   

 

ตะเกียบนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าอย่างหนึ่งของจีนทั้งยังเป็นอุปกรณ์ในการรับประทานอาหารที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในระดับโลกซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “อารยธรรมของโลกตะวันออก”  คนไทยเรามักจะใช้ตะเกียบในการทานอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว อาหารเกาหลีหรืออาหารญี่ปุ่นซึ่งเราก็จะหัดใช้ตะเกียบจากการจับแบบลองผิดลองถูก ฝึกคีบไปเรื่อย ๆ จนนิ้วมือเกิดความเคยชินไปเองโดยที่ไม่มีใครมาแนะนําหลักการจับตะเกียบและวิธีใช้ที่ถูกต้องให้ อีกอย่างเรามักจะคิดและสรุปกันเองว่าจับอย่างไรก็ได้ขอแค่ให้คีบอาหารทานได้ก็พอ ดังนั้นจะทำยังไงถึงจะได้ขึ้นชื่อว่า จับตะเกียบเป็นและใช้ตะเกียบได้ถูกต้อง มีเคล็ดลับมาบอก -: วิธีการจับตะเกียบที่ถูกต้อง มีขั้นตอนดังนี้ ขั้นตอนแรก ใช้มือข้างขวา หยิบตะเกียบทั้งสองข้างขึ้นมาให้อยู่ในแนวระนาบปลายตะเกียบทั้งสองข้างเท่ากัน ปกติเวลาจะจับตะเกียบจะเลือกจับมาทางปลายตะเกียบสักเล็กน้อย ประมาณ ¾ ของความยาวตะเกียบ ตามภาพด้านล่าง จับไม้ล่างให้นิ่ง โดยใช้นิ้วนางและนิ้วก้อยคอยรองรับไม้ล่างซึ่งไม้ล่างนี้จะนิ่งไม่ขยับตลอดการใช้งาน จับไม้บนโดยใช้นิ้วโป้งนิ้วชี้และนิ้วกลางสามนิ้วควบคุมไม้บน ซึ่งจะต้องเป็นไม้ที่ขยับและเคลื่อนไหวสำหรับคีบอาหาร

 

 

จะเห็นว่าลักษณะการทํางานของตะเกียบทั้งสองแท่งนี้คือการใช้หลักการทำงานของ “คาน” ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่หากมองตามหลักวัฒนธรรมและปรัชญาของจีนก็จะเห็นว่าตะเกียบทั้งสองแท่งนั้นเปรียบเสมือนหยินกับหยางเป็นสิ่งของคู่กัน ที่ต้องประกบเข้าคู่กัน เวลาใช้ตะเกียบข้างหนึ่งจะต้องคงที่คอยรองรับน้ำหนักถ่วงดุลไว้ ส่วนอีกข้างหนึ่งจะต้องเคลื่อนไหวให้เกิดพลังขับเคลื่อน ตะเกียบข้างที่ไม่เคลื่อนไหวนั้นเปรียบเป็น “หยิน” ส่วนข้างที่ต้องเคลื่อนไหวนั้นเปรียบเป็น “หยาง” แต่ถ้าตะเกียบทั้งสองข้างวางอยู่เฉยๆ ไม่มีมือเข้ามาทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ตะเกียบก็ไม่มีบทบาทอะไร (ไม่เกิดพลังขับเคลื่อน)

 

นอกจากจะนำความรู้เกี่ยวกับตะเกียบและวิธีการจับตะเกียบมาฝากกันแล้วยังมีเกร็ดวัฒนธรรมบนความเชื่อเกี่ยวกับการจับตะเกียบของลูกสาวชาวจีนมาฝากกันด้วย นั่นคือชาวจีนเชื่อว่าตำแหน่งมือในการจับตะเกียบของลูกสาวสั้นหรือยาวมักจะบ่งบอกถึงเนื้อคู่ในอนาคตว่าจะอยู่ใกล้หรือไกลนั่นเอง ซึ่งที่ผ่านมาสังเกตว่าก็มักจะแม่นทุกราย เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปไม่ว่าจะทานอาหารจีน อาหารเกาหลี หรืออาหารญี่ปุ่นเวลาจะใช้ตะเกียบจะวางนิ้วแบบไหนจะคีบอาหารอย่างไรไม่ลืมอย่างแน่นอน มาลองฝึกตามขั้นตอนด้านบนบ่อยๆ แล้วก็จะเกิดความชำนาญมากขึ้น

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ