เทศกาลตวนอู่ หรือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ถ้านับตามปฏิทินจันทรคติ เมื่อวนมาถึง วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ก็จะเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่สำคัญของชาวจีน และทางรัฐบาลจีนได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุดราชการ เทศกาลนั้นก็คือ เทศกาลตวนอู่ หรือที่คนไทยเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า วันไหว้บ๊ะจ่าง ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือน มิถุนายน หรือกรกฏาคม ของทุกๆปีครับ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 7 มิถุนายน
บ๊ะจ่าง คือสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้สำหรับเทศกาลนี้เลยทีเดียวครับ ในเมืองไทยบ๊ะจ่างเรามีมากมายหลากหลายรสชาติ แต่ละร้านค้าก็จะมีสูตรและเครื่องที่แตกต่างกันไป บางเจ้าใส่เครื่องมากกว่า 10 ชนิดเลยทีเดียว แต่ว่าเมื่อมองย้อนไปที่ประเทศต้นตำหรับ บ๊ะจ่างในประเทศจีน เป็นบ๊ะจ่างที่เรียบง่าย บางชนิดเป็นไส้หวานใส่แค่พุทราแดงและถั่วลิสง บางชนิดมีไส้ถั่วเขียวบดกับถั่วลิสง บางเจ้าหรูหราขึ้นมาหน่อยก็จะมีการเติมไข่แดงลงไป ซึ่งวัตถุดิบหลักของการทำบ๊ะจ่างคือ ใบไผ่ ข้าวเหนียว เนื้อหมูปรุงรส ไข่เค็มแดง และถั่วลิสง เริ่มต้นด้วยการนำข้าวเหนียวดิบแช่น้ำค้างคืนก่อนนำมาผัดกับไชโป้วสับที่ทอดน้ำมันแล้ว จากนั้นใส่ถั่วลิสง กุ้งแห้งทอด และกระเทียม ปรุงรสด้วยผงพะโล้ พริกไทย เกลือ และซีอิ๊วขาว ผัดต่อไปจนข้าวเหนียวสุก แล้วนำมาห่อด้วยใบไผ่เป็นทรงสามเหลี่ยม ใส่หมูที่หมักเรียบร้อยแล้ว กุนเชียง ไข่เค็มแดง เห็ดหอม แปะก้วย จัดเรียงให้สวยงามแล้วใช้ใบไผ่ที่เหลือห่อจนมิด จากนั้นผูกเชือกแล้วนำไปนึ่งจนส่วนที่เป็นเนื้อสัตว์สุกพอดี หากใส่เผือกกวนเพิ่มเข้าไปก็จะได้บ๊ะจ่างไส้หวาน ที่สำคัญใบไผ่ที่นำมาใช้ห่อบ๊ะจ่าง ต้องเป็นไผ่พันธุ์ที่มีใบขนาดใหญ่เป็นเอกลักษณ์ ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีนเท่านั้น
นอกจากนี้ จากการค้นคว้าและสืบหาในหลายแหล่งข้อมูลทำให้พอจะสรุปได้ว่าตำนาน "บ๊ะจ่าง" ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่นั้นจะมีความแตกต่างจากตำนานของชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันค่อนข้างมาก เรื่องราวที่มาของเทศกาลบ๊ะจ่างจากประเทศจีนนั้น เกิดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงนักกวีผู้มีความสามารถและยังเป็นขุนนางผู้ซื่อสัตย์ รักชาติ จงรักภักดี ยึดถือคุณธรรม และชอบช่วยเหลือชาวบ้านแห่งรัฐฉู่ ชื่อ ชูหยวน (Qu Yuan) อีกทั้งยังมีประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับเทศกาลนี้ก็คือการแข่งเรือมังกร (เรือที่มีหัวเรือเป็นมังกร) แต่ในประเทศไทยไม่มีการจัดแข่งเรือมังกร เพราะตามตำนานของชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ประเทศไทย กลับกล่าวว่าตำนานบ๊ะจ่างนั้นเกิดขึ้นในยามบ้านเมืองกำลังมีภัยจากสงคราม ยามออกรบเสบียงของทหารจะทำจากข้าวเหนียวและห่อในใบไผ่ให้แน่นเพื่อเก็บไว้กินได้นานๆ เมื่อข้าศึกฝ่ายตรงข้ามแฝงกายเข้ามาเป็นสายลับเพื่อหาทางโจมตีเมือง เหล่าทหารที่ทราบเรื่องจึงใช้วิธีเขียนสาส์นลับ วางแผนกลศึกต่าง ๆ ใส่จดหมายแล้วยัดลงในบ๊ะจ่างแทนการส่งโดยนกพิราบเพื่อลวงข้าศึก และรักษาความลับทางการทหารไว้ไม่ให้ข้าศึกไหวตัวทัน จนบ้านเมืองพ้นวิกฤต สามารถปราบไส้ศึก ชนะสงคราม และกลับมาสงบสุขดังเดิม
ส่วนที่มาของเทศกาลตวนอู่ เริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยชุนชิว (ยุคก่อนปีคริสตศักราช 229) ในแคว้นฉู่ มีขุนนางที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งชื่อ ชวี เอวี๋ยน ได้พยายามกราบเรียนกษัตริย์ให้ปกครองประเทศให้ดี เพื่อที่จะไม่โดนรุกรานจากแคว้นอื่น แต่กษัตริย์หาได้สนใจไม่ สุดท้ายแล้ว จึงแพ้สงครามแก่แคว้นฉิน และขุนนางตงฉินคนนี้ ก็ได้เศร้าโศกเสียใจเหลือคณานับ จึงได้ กระโดดน้ำปลิดชีวิตตัวเอง เนื่องจากท้อแท้ใจที่ไม่สามารถช่วยเหลือแคว้นของตนเองได้ ด้วยความที่ขุนนางชวี เอวี๋ยนเป็นคนดีมาก และเป็นที่รักใคร่ของประชาชน ทุกคนจึงช่วยกันงมหา แต่ไม่มีใครสามารถงมหาร่างกายของชวี เอวี๋ยนได้เลย ดังนั้นชาวบ้านทุกคนจึงร่วมใจกันโปรยเมล็ดข้าวและธัญพืชต่าง ๆ ลงไปในน้ำ เพื่อที่จะให้กุ้ง หอย ปู ปลามากินสิ่งเหล่านี้แทนที่จะไปกินศพของชวี เอวี๋ยน และได้มีการพายเรือเพื่อกระทุ้งน้ำ ให้สัตว์น้ำต่างๆ หลีกหนีไป
และพอเรื่องราวผ่านยุคผ่านสมัยมาเรื่อยๆ ประเทศจีนได้พบเจอกับพิบัติภัยต่าง ๆ นานา ๆ เพื่อเป็นการไม่สิ้นเปลือง ประเพณีการโยนลงน้ำ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นห่อในใบไผ่ และนำไปเซ่นไหว้แทนครับ แต่ก็ยังมีคำสอนที่แฝงมากับข้าวเหนียวใบไผ่นี่อยู่เสมอๆ ว่า “อย่าลืมรักษาความจงรักภักดีที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าพึงมีต่อประเทศชาติให้สืบต่อไป”
เครดิต: สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
"