คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สมาคมรังสีเทคนิค และโรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ จัดกิจกรรมเนื่องในวัน “World Radiography Day” โดยปีนี้มุ่งเน้นในเรื่องของความปลอดภัยของผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิคเป็นหลัก
รองศาสตราจารย์มานัส มงคลสุข คณบดีคณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะรังสีเทคนิค สมาคมรังสีเทคนิค โรงพยาบาลกรุงเทพและในเครือ ได้ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวัน “World Radiography Day” โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ให้เป็นวัน “World Radiography Day” ที่นักรังสีเทคนิคทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ
“สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ร่วมกันจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงวันแห่งการค้นพบเอกซเรย์ของศาสตราจารย์ Wilhelm Conrad Röntgen ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการบอกดังๆ ให้สังคมได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักรังสีเทคนิค ในการใช้รังสีเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย ทั้งตัวผู้ป่วยและตัวนักรังสีเทคนิคเอง โดยในปีนี้สมาคมรังสีเทคนิคโลก (ISRRT) ได้ชูธงเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยชูคำขวัญว่า “ความปลอดภัยของท่านต้องมาก่อน: นักรังสีเทคนิคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย” ยกระดับความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยขึ้นไปอีก จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ซึ่งนักรังสีเทคนิคทั้งมวลต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดขึ้นและรักษาไว้ให้ยั่งยืน
ดังนั้น หัวข้อการบรรยายพิเศษครั้งนี้จึงได้เลือกเน้นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ "ความปลอดภัยของท่านต้องมาก่อน" คือความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและนักรังสีเทคนิคต้องมาก่อน หัวข้อที่บรรยายพิเศษได้แก่ “ความปลอดภัยของผู้ป่วยในงานรังสีวิทยา” โดย คุณพัชราภา ไตรแก้วเจริญ จาก BDMS การบรรยายพิเศษเรื่อง “การตรวจและการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้รังสี” โดย อ.ดร.ทวีป แสงแห่งธรรม จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” คณบดีคณะรังสีเทคนิค กล่าว
นอกจากนี้ความพิเศษคือ คณะผู้จัดได้ยกระดับการจัดงานจากเดิมที่เคยจัดเป็นลักษณะกิจกรรม ให้ขึ้นไปเป็นการประชุมวิชาการ เป็นการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งของการจัดกิจกรรม ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ 360 คน มาจาก 11 หน่วยงาน ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลในกรุงเทพและต่างจังหวัด ช่วงเช้ามีการบรรยายพิเศษหัวข้อตามที่กล่าวข้างต้น ช่วงบ่ายมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจาและโปสเตอร์ ซึ่งปีนี้มีจำนวนกว่า 20 เรื่อง ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีการเก็บข้อมูลรายละเอียดของกิจกรรมของนักรังสีเทคนิคที่ต่อต้านพิษภัยของบุหรี่ เพื่อนำเผยแพร่ในสื่อของสมาคมรังสีเทคนิคโลก (ISRRT) ด้วย
รศ.มานัส กล่าวปิดท้ายไว้ว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้นอกจากจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการรังสีเทคนิคอย่างดีเยี่ยมจากผู้เข้าร่วมประชุมและผู้เสนอผลงานวิชาการแล้ว ยังจะทำให้เกิดความตื่นตัวทางวิชาการตลอดเวลา เป็นการสะท้อนคุณภาพของสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค นักรังสีเทคนิค ตลอดจนชุมชนรังสีเทคนิคได้เป็นอย่างดี เป็นที่เชื่อมั่นต่อสังคมวงกว้างสืบต่อไป น่าจะได้มีการจับมือกันระหว่างสถาบันผู้ผลิต เช่น ในกรุงเทพเพื่อลองจัดประชุมวิชาการประเพณีสี่เส้า ห้าเส้า ซึ่งแต่ละสถาบันจะได้มาแชร์ผลงานกัน สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
"