ทีมนักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โชว์ฝีมือผลิต VTR งานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวน 5 เรื่อง เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ สวทช.
คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้านสื่อและประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ด้วยทาง สวทช. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแรงและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจโลก โดยการทำภาคเกษตร การแพทย์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากการนำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้เทคโนโลยีที่มีความสำคัญในอนาคต และกระตุ้นให้เกิดความคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงสร้างสรรค์ในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว โดยจะนำเสนอผลงานวิจัย พัฒนา ของสวทช. ในรูปแบบ VTR เพื่อเผยแพร่ผ่านชองทางโซเซียลมีเดีย และอื่นๆ จึงได้ร่วมกับสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล ม.รังสิต ในการทำ VTR จำนวน 5 เรื่อง พร้อมให้เงินสนับสนุนจำนวน 110,000 บาท
“ทางสวชท. เล็งเห็นถึงศักยภาพในการดำเนินงานและการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีของนักศึกษาในสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล ม.รังสิต ประกอบกับพื้นที่ตั้งหน่วยงานอยู่ในจังหวัดปทุมธานี น่าจะมีความสะดวกในการติดต่อขอข้อมูลในขั้นตอนการจัดทำเนื้อหาของ VTR อีกอย่าง VTR ดังกล่าวจะนำไปใช้ในการเผยแพร่ส่วนงานวิจัย พัฒนา ของสวทช. จึงอยากได้มุมมองใหม่ของน้องๆ นักศึกษาในการทำ VTR เรื่องต่างๆ ซึ่งผลงานในภาพรวมของVTR ทั้ง 5 เรื่อง ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี เนื้อหามีการย่อยให้เข้าใจง่ายมากขึ้น โดยการนำเสนอผ่านเนื้อเรื่อง ตัวละคร และการถ่ายทำที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวจะนำเสนอผ่านช่องทางโซเซียลมีเดียของ สวทช. ต่อไป” คุณกุลประภา กล่าว
อาจารย์วาจวิมล เดชเกตุ หัวหน้าสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียนการสอนทางด้านภาพยนตร์ ม.รังสิต เราเน้นให้นักศึกษาได้คิดจริง ทำจริง ผ่านการเรียนทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งในส่วนของการสร้างสรรค์ผลงานนอกจากจะมีโจทย์ในคลาสเรียนให้ได้ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งในส่วนของการคิดบท การคัดเลือกนักแสดง การจัดแสงฉาก การถ่ายทำ การตัดต่อ การบันทึกเสียง เป็นต้น ซึ่งนักศึกษายังสามารถต่อยอดผลงานเพิ่มเติมเข้าสู่เวทีการประกวดหนังสั้นในโครงการต่างๆ อีกด้วย นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีหลายหน่วยทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้ความสนใจในผลงานของนักศึกษาและมาทำโครงการร่วมกันโดยให้ทุนสนับสนุนในการทำหนังสั้นเพื่อเผยแพร่หน่วยงานนั้นๆ ซึ่งส่วนนี้ก็ทำให้นักศึกษาได้นำความรู้ไปทำงานจริงได้อย่างมืออาชีพ สร้างรายได้ และผลงานนั้นๆ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อเป็นพอร์ตในการสมัครงานภายหลังจบการศึกษาได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการร่วมทำผลงาน VTR จำนวน 5 เรื่องให้กับ สวทช. ในครั้งนิ้
ผลงาน VTR เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ สวทช. จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ VTR หัวข้องานวิจัยเรื่อง “Kidbright”
นายชนาธิป พิสุทธิ์เสรีวงศ์ นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนทีมทำ VTR หัวข้องานวิจัยเรื่อง Kidbright กล่าวว่า หลังจากตนและเพื่อนสมาชิกในทีมประมาณ 16 คน ได้รับโจทย์จากทาง สวทช. ก็ได้กลับมาวางแผนในการทำงานกัน โดยเริ่มต้นจากการศึกษาและขอข้อมูลกับทางสวทช. เกี่ยวกับเรื่อง Kidbright สิ่งที่ต้องการนำเสนอคือ ทำให้รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์อยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด จากที่ส่วนตัวเคยคิดว่าวิทย์เป็นเรื่องยากและไกลตัวมาก แต่เมื่อได้มารับรู้ข้อมูลจึงได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้ยากเลย ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวละครซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์สองคนที่มีความคิดขัดแย้งกัน และจากชื่อของตัวละครก็มีนัยยะแฝง คือ “มิสเตอร์แคนดู” และ “มิสเตอร์ลองดู” โดยในส่วนของความยากสำหรับการทำ VTR เรื่องนี้คือ เรื่องของเนื้อหากับการลำดับภาพค และจังหวะในการนำเสนอเพื่อสื่อสารให้คนดูรู้สึกตามเรื่องราวที่นำเสนอจริงๆ กับผลงานในภาพรวมผมและสมาชิกในทีมไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะได้รับรางวัลชนะเลิศ การได้ร่วมในโครงการนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีในการที่จะพัฒนาผลงานต่อไป
- รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ VTR หัวข้องานวิจัยเรื่อง “สมุนไพร” และ “Plant Factory”
นายวีรภัทร มีสกุลทิพยานนท์ นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนทีมทำ VTR หัวข้องานวิจัยเรื่อง สมุนไพร กล่าวว่า สมาชิกในทีมที่ร่วมโปรเจกต์นี้มีกัน 3 คน ซึ่งการเริ่มต้นหาข้อมูลจากโจทย์คือเรื่องสมุนไพร เป็นโจทย์ที่ยากเพราะตัวเราเองไม่ได้ใกล้ชิดกับเรื่องสมุนไพรเลย จึงต้องมีการหาข้อมูลใหม่หมดเลย และทางสวทช. ได้ช่วยอำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลที่ดีมาก ทำให้ทีมงานทำงานได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องการนำเสนอผ่าน VTR เรื่องสมุนไพร เราต้องการจะสื่อออกไปว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีนาโนทำให้สมุนไพรในบ้านเรา สามารถนำมาใช้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเสียเวลา และยังเพิ่มประสิทธิภาพของสมุนไพร รวมทั้งช่วยยกระดับมูลค่าสมุนไพรบ้านเราอีกด้วย กับความยากง่ายในโปรเจกต์นี้ สิ่งที่เราคิดคือสมุนไพรเป็นเรื่องที่เหมาะกับคนสูงวัย แต่เราจะทำยังไงให้วัยรุ่นหันมาสนใจ เราจึงทำหนังแนวตลกเข้ามา เพื่อให้ให้สมุนไพรเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ตอนที่คุยกับนักแสดงก็บอกกับเขาว่า ต้องการให้เล่นใหญ่ออกไปในแนวทางโฆษณามากกว่าหนัง ซึ่งในภาพรวมก็ถือว่าทำออกมาได้ดี และรางวัลนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่เป็นประสบการณ์ที่ดีที่ทางทีมของเรา มีโอกาสได้ทำหนังสั้นกับหน่วยงานภายนอก
นายธนากร เหลืองธนาวัฒน์ นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนทีมทำ VTR หัวข้องานวิจัยเรื่อง Plant Factory กล่าวว่า จากโจทย์ที่ได้รับมาให้ทำ VTR ขอ สวทช. ครั้งนี้คือ พรีเซ็นงานวิจัยเรื่อง Plant Factory ซึ่งมันคือเทคโนโลยีปลูกพืชแบบฟาร์มระบบปิด เราเองก็สนใจอยู่แล้วเพราะอาชีพที่บ้านก็ทำเกษตรกร จึงค่อนข้างเต็มที่กับงานนี้ สำหรับความยากง่ายของ VTR เรื่องนี้ ด้วยความที่มันเป็นอะไรที่ใหม่และยังไม่เคยทำ จึงค่อนข้างท้าทาย เพราะเราต้องพรีเซ็นงานวิจัยของเขาเพื่อบอกเรื่องยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น หลังจากเสร็จงานพวกเราทีมงานทั้ง 17 คน ก็รู้สึกภูมิใจเหมือนเราได้ก้าวขึ้นไปอีกขั้น ทำให้เรามีประสบการ์ณมากขึ้น หลายครั้งผมจะบอกทุกคนในทีมเสมอ ไม่ว่างานจะออกมาดีหรือไม่ มีคนชอบมั้ย แต่เราต้องภูมิใจกับงานที่เราทำอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว “ผมไม่ได้เก่ง แต่ผมได้ทีมงานที่ดี” ทุกคนช่วยกันเต็มที่ในทุกฝ่าย ขอบคุณที่เราก้าวไปด้วยกัน
- รางวัลชมเชย ได้แก่ VTR หัวข้องานวิจัยเรื่อง “EECi” และ “Denti Scan”
นางสาวธิดาทิพย์ พรรคพล นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนทีมทำ VTR หัวข้องานวิจัยเรื่อง EECi กล่าวว่า ด้วยหัวข้อที่ได้รับโจทย์มาค่อนข้างยากคือ EECi แหล่งข้อมูลสำคัญคือจากทางทีมของ สวทช. บวกกับหาข้อมูลเพิ่มเติมจากข่าวและเว็บไซต์ของ EECi และสิ่งที่ต้องการจะนำเสนอจากโจทย์ที่ได้รับมาผ่าน VTR เรื่องนี้คือ จะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนทั่วไปรู้จักและเข้าใจ EECi รู้ว่า EECi มีไว้ทำไม และทำอะไร ความยากก็คือจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับวิชาการได้ง่ายขึ้น การใช้ภาษาการพูดจากศัพท์วิชาการมาเป็นภาษาพูดที่คนปกติเข้าใจ ซึ่งถือว่ายากกว่าการทำหนังสั้นที่ผ่านมาหรือแนวอื่นๆ ที่เคยทำมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ดี
นางสาวมารียา ศรีอุทิศ นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนทีมทำ VTR หัวข้องานวิจัยเรื่อง Denti Scan กล่าวว่า หลังจากได้รับโจทย์พวกเราสมาชิกในทีมทั้ง 6 คน เริ่มต้นจากการหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และได้รับข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวกับเนื้อหาใน VTR จากทาง สวทช. โดยโจทย์ที่ทางทีมเราได้รับ คือ เครื่องเอ็กซเรย์ฟันสามมิติ DentiiScan 2.0 ซึ่งในช่วงเตรียมเขียนบท ทางสวทช. ต้องการงานที่สามารถสื่อสารให้คนดูเข้าใจง่าย เราเลยเลือกที่จะเล่าเรื่องในมุมความคิดของคนทั่วไปที่กลัวการทำฟัน ด้วยเวลาที่จำกัด วิธีการคิดบท การถ่ายทำ ก็จะแตกต่างจากการทำหนังสั้นปกติที่เคยทำ ก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ท้าทายกับการที่ลองทำหนังจากโจทย์งานที่ยาก ถือเป็นการพัฒนาตัวเองในการทำงานรูปแบบอื่นๆ ที่เราไม่เคยทำมาก่อนก็ว่าได้
ทั้งนี้ สามารถติดตาม VTR งานวิจัยของ สวทช. ทั้ง 5 เรื่อง คือ Kidbright, สมุนไพร, Plant Factory, EECi และ Denti Scan ได้ในช่องทางโซเซียลมีเดียของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
"