“สำหรับผมไม่สำคัญว่าจะจบอะไรมาหรือจะทำงานอะไร แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อจบไปแล้วคุณสามารถนำความรู้ความสามารถไปทำประโยชน์หรือให้อะไรแก่สังคมบ้าง”
นายธนพงศ์ ทองสุข (บิล) ศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานสโมสรนักศึกษาคณะฯ คนที่ 2 เล่าถึงการมาเป็นนักศึกษารุ่นบุกเบิกของคณะรัฐศาสตร์ ว่า ผมมีความตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิต เพราะชื่อเสียงด้านคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย พอจบ ม.ปลาย จึงมาสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิตเลย โดยเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเพิ่งเปิดการเรียนการสอนเป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ.2554 ส่วนเรื่องการเกษตรให้มาเรียนรู้จากของจริงหลังจากผ่านประสบการณ์ในสิ่งอยากทำมาแล้ว สุดท้ายจึงเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์
“ผมรู้สึกภาคภูมิใจมากๆ ที่เป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกของคณะรัฐศาตร์ เพราะมหาวิทยาลัยได้ให้โอกาสในด้านต่างๆ แก่นักศึกษาเป็นอย่างมากทั้งวิชาความรู้ในห้องเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น กิจกรรมจิตอาสา การออกค่าย การจัดเวทีสาธารณเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาคประชาสังคม การศึกษาดูงานและกิจกรรมโครงการต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ทำให้เราได้มิตรภาพที่ดีจากเพื่อนทั้งในคณะและต่างคณะ ดังนั้น สิ่งที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยสามารถนำประสบการณ์มาใช้ได้ในปัจจุบัน”
หลังเรียนจบบิลอยากนำวิชาความรู้ที่เรียนมากลับไปพัฒนาบ้านเกิด จึงมาสมัครเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ที่โรงเรียนเกาะสมุย และศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ภาคพิเศษใน จ.สุราษฎร์ธานี ไปด้วย ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกมาสานต่ออาชีพเกษตรกรรมของครอบครัว ด้วยการทำสวนทุเรียนแบบเกษตรอินทรีย์ ด้วยวัยเพียง 20 ปีเศษ
“ผมสอนหนังสืออยู่ได้ 2 ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างสอนผมตัดสินใจไม่ต่อสัญญา ตั้งใจเรียนปริญญาโทให้จบ และมาสานต่ออาชีพเกษตรกรรมของครอบครัว และต้องการทำสวนทุเรียนแบบเกษตรอินทรีย์ จึงเริ่มศึกษาดูงานการทำเกษตรอินทรีย์จากจังหวัดนครนายกและจันทบุรี และนำมาใช้กับสวนของตนเอง โดยเริ่มจากแปลงสวนทุเรียนบริเวณน้ำตกหน้าเมือง แล้วจึงขยายพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ไปปรับใช้ในแปลงทุเรียนสวนเขาป้อม สวนทุเรียนของครอบครัวถือเป็นสวนทุเรียนลำดับต้นๆ ของเกาะสมุย เริ่มต้นบุกเบิกโดยปู่ของบิล ขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ ปัจจุบันต้นทุเรียนในสวนมีอายุกว่า 50 ปี ตัวผมเองถือเป็นรุ่นที่ 3 ของครอบครัวที่มาสานต่อ โดยผมเริ่มทำสวนทุเรียนแบบเกษตรอินทรีย์มาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว ค่อยๆ ขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ ซึ่งผลผลิตที่ได้จากสวนจะนำส่งไปขายยังล้งรับซื้อทุเรียนในจังหวัดชุมพรเพื่อส่งออก ส่วนทุเรียนอินทรีย์จะขายภายในประเทศ ซึ่งนอกจากทุเรียนแล้วในสวนยังมืผลไม้อื่นๆ ที่ส่งออกอีก ได้แก่ มังคุด ลองกอง กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง และกล้วยไข่”
"การปลูกทุเรียนแบบเกษตรอินทรีย์จะให้ปริมาณผลผลิตน้อยกว่าการปลูกแบบใช้สารเคมี วิธีการดูแลรักษายากกว่า แต่รสชาติหวานมันกว่าแบบใช้สารเคมี”
อนาคตผมวางแผนไว้ว่าจะปรับให้เป็นสวนทุเรียนแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด และทำให้สวนทุเรียนเป็นสวนเกษตรอินทรีย์เชิงท่องเที่ยว เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน เพราะเกาะสมุยเป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตลอดปี ดังนั้น นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้มาพักผ่อนกับบรรยากาศริมทะเลแล้ว ยังมีกิจกรรมใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้สัมผัสวิถีการทำเกษตรกรรมของไทย ได้ทดลองทำการเกษตรและเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายพันธุ์พืชในสวนให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
"