กีรติ เจริญลาภ หน้าก็ให้ใจก็รักกับบทบาทเจ้าของค่ายมวย TBM GYM

23 Feb 2018

กีรติ เจริญลาภ หน้าก็ให้ใจก็รักกับบทบาทเจ้าของค่ายมวย TBM GYM

ประสบการณ์สอนกันไม่ได้ ต้องลงมือทำ และก้าวผ่านความท้าทายนั้นไปด้วยตัวเอง


            ค่ายมวย TBM GYM หรือ Thai Boxing Master ธุรกิจแนวผสมผสานระหว่างค่ายมวยดั้งเดิมกับยิมฟิตเนสออกกำลังกายของ “กีรติ เจริญลาภ” หรือ “ตั้ม” ศิษย์เก่าสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  ลูกชายคนเล็กของโปรโมเตอร์มวยราชดำเนินชื่อดังยุค 70 ที่มีชื่อว่า “ป๋ากอบ หรือ ประกอบ เจริญลาภ” เจ้าของรายการศึกถล่มพสุธา

            สมัยเด็กๆ ตั้มติดตามคุณพ่อไปที่เวทีมวยราชดำเนินบ่อยครั้ง และเขาก็ค่อนข้างซึมซับความชื่นชอบในกีฬานี้ไปโดยไม่รู้ตัว แต่หลังจากที่คุณพ่อเสียชีวิตไปนั้น ตั้มก็ห่างหายไปไกลจากกีฬาชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการออกกำลังกายด้วยการชกมวย หรือ การดูมวยก็ตาม


            “ประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับเรื่องมวยนั้น ไม่มีเลยครับ มีเพียงแค่บรรยากาศและความสนุกสนานของเวทีมวยราชดำเนินที่ยังพอนึกออกบ้างในความทรงจำสมัยเด็ก ตั้งแต่เด็กจนโตผมค่อนข้างเป็นเด็กที่รักอิสระ ผมมักจะคิดและตัดสินใจเองว่าผมอยากทำอะไร มันจึงกลายเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ติดตัวมา และกลายเป็นประสบการณ์ที่สอนให้ผมรู้ว่าชีวิตคนเราปล่อยเวลาเลยผ่านไปคงไม่ได้ ชีวิตต้องดำเนินไปตามห้วงของโอกาส สมัยเป็นวัยรุ่น พอเรียนจบมัธยมปลาย ผมตามแม่ไปอยู่ที่ญี่ปุ่น สมัครเรียนมหาวิทยาลัย ไปเรียนได้แค่เทอมเดียวแล้วก็ไม่ได้ไปเรียนอีกเลย อย่างที่บอกว่าผมค่อนข้างรักอิสระ เกเร หลังจากได้รู้จักเพื่อน เริ่มรู้จักสถานที่ รู้จักการทำงานหาเงิน พวกนี้มันสนุก สนุกตรงที่เราได้เงิน มันก็ดีกว่าไปเรียนหนังสือ เลยตัดสินใจว่าทิ้งเรื่องเรียนไปเลยแล้วทำงานหาเงินดีกว่า มีชีวิตทำงานและเล่นสนุกไปวันๆ กว่า 4 ปี ก็มีเหตุให้ต้องกลับประเทศไทย อกหักครับ ช่วงนั้นก็วัยรุ่น อยู่ไม่ได้แล้วชีวิตมันเป๋ เลยกลับมาตั้งสติที่บ้านเราดีกว่า และก็ได้สมัครเรียนเอกญี่ปุ่น ที่ ม.รังสิต เพราะว่าเรามีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นติดตัวมา เป็นเด็กซิ่วครับ อายุเยอะที่สุดเลยทำตัวเกเรเหมือนเดิมครับ วิชาพื้นฐานง่ายๆ เราก็เน้นสอบตอนปลายเทอม วิชาเอกก็เน้นตามงาน ส่งงานอาจารย์ ไม่ค่อยได้เข้าเรียน แต่ก็ได้รับความเมตตาจากอาจารย์ และเพื่อนๆ ที่ช่วยตามช่วยเข็นกันจนจบมาได้ครับ”

 

ค่ายมวย TBM GYM เป็นได้ทั้งยิมและค่ายมวย


           เมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ตั้มได้หยิบจับธุรกิจมาค่อนข้างหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นล่ามให้คนไทยที่ประเทศญี่ปุ่น ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์บุพเฟ่ต์ปิ้งย่าง ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบสายพาน หลังจากทำได้สักพักก็ขายหุ้นให้เพื่อนไปซึ่งจากงานตรงนี้ทำให้ตั้มได้ประสบการณ์และ Connection ที่แปลกใหม่มากขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เช่น เกี่ยวกับการส่งออกเนื้อ ส่งออกปลา เป็นต้น

            “แน่นอนว่าดีลธุรกิจกับประเทศญี่ปุ่น จะต้องมีเดินทางไปเพื่อติดต่องานผมก็ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เรียนจบมา จนมาถึงวันหนึ่งกิจการพวกนี้ก็ทำรายได้ให้กับเรา มันก็อยู่ตัวและทำให้เราคิดว่า มีอะไรที่เราอยากทำบ้าง มันก็ถึงเวลาที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นเพื่อนๆ ก็คิดจะทำเกี่ยวกับยิมมวย ผมจึงเอาทุนทั้งหมด รายได้ที่เคยมีมา มาลงทุนตรงนี้ เริ่มจากศูนย์กันใหม่โดยที่ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย จากวันนั้นจนถึงวันนี้ TBM GYM ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้วครับ หลักๆ ทางค่ายมวยจะดูแลในส่วนของนักมวยอาชีพที่จะต้องไปต่อยที่เวทีราชดำเนิน เวทีลุมพินี เวทีช่อง 7 เวทีช่อง 3 ทั่วๆ ไป ตอนนี้มีนักมวยอาชีพอยู่ 13 คนครับ อีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นยิมที่เปิดสอนการต่อยมวยสำหรับคนที่อยากจะเรียนศิลปะมวยไทย หรือออกกำลังกาย ก่อนเริ่มทำเราก็บิ้วตัวเองด้วยการกลับไปสู่บรรยากาศเดิมๆ เข้าไปสวัสดีผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ แนะนำตัวกัน สิ่งที่ง่ายก็คือพวกเขาจดจำเราได้เร็วอาจเพราะด้วยนามสกุลและสิ่งที่พ่อเคยทำมา แต่ถามว่าง่ายต่อธุรกิจเราหรือเปล่า ข้ามขั้นไปเริ่มต้นที่สูงๆ เลยไหม ก็ไม่นะครับ ผมกับเพื่อนยังต้องเริ่มจากศูนย์อยู่เหมือนเดิม เรียกง่ายๆ ว่าก็ยังเป็นเด็กใหม่ในวงการ เป็นคนรุ่นใหม่ของวงการนี้ ส่วนปัจจุบันนี้เราพยายามดูแลนักมวยในสังกัดและผลักดันเพื่อให้เราและคนในค่ายได้ไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน อยู่วงการนี้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ผมพยายามทำมวยของค่ายเพื่อจะได้พบกับชัยชนะ และพยายามเสนอศึกที่น่าสนใจเพื่อลงต่อย”

 


            หากมองในมุมมองของคนรุ่นใหม่ในวงการมวย ผมก็มีข้อเสนอที่อยากปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับศึกการชกมวยในแต่ละครั้ง ผมมักจะมีคำถามเสมอว่าทำไมนักมวยของเราจำเป็นจะต้องต่อยศึกนั้นแค่ศึกเดียว ไม่สามารถข้ามศึกได้ สำหรับผมคิดว่า เราควรมีทางเลือกใหม่ นักมวยสังกัดเราแท้ๆ อยากจะไปร่วมศึกไหน น่าจะเปิดดีลได้หมด แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นอุปสรรคที่คิดว่ายาก ยากที่จะเปลี่ยน มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ความรู้สึกความภูมิใจ


ถ้าถามว่าวันนี้ความฝันความคาดหวังในการทำงานคืออะไร ผมก็อยากให้นักมวยในค่ายได้เป็นแชมป์ แชมป์ประเทศไทย แชมป์โลก แต่หากถามความคาดหวังความสำเร็จส่วนตัว ทุกวันนี้ผมมีเงินให้แม่ ซื้อบ้านซื้อรถ ดูแลตัวเองได้ มันก็โอเคที่สุดแล้วครับ

“ผมเริ่มธุรกิจกับเพื่อนแบบเริ่มต้นใหม่ ความเป็นลูกชายของโปรโมเตอร์มวยชื่อดังไม่ได้มีส่วนที่ทำให้ธุรกิจเดินไปได้ แต่มันมีส่วนที่ทำให้ผมมีกำลังใจเดินหน้าไปได้ในวงการนี้ นักมวยของผม และผมเข้าหาโปรโมเตอร์หลายๆ คน เพื่อเดินเข้าไปแนะนำและสมัครขึ้นชก เขาก็จะดูหน้างานว่านักมวยของเราอยู่พิกัดไหน รุ่นไหน ควรจะต้องจับคู่กับใครประมาณนี้มากกว่าครับ สิ่งที่ผมได้ยินเสมอเมื่อไปพบกับผู้ใหญ่ในวงการคือ ทุกคนในวงการชื่นชมพ่อ ผมรู้สึกว่าภูมิใจนะ ตอนเด็กๆ ผมไม่เคยรู้เลยว่าพ่อผมดังขนาดไหน ไม่เคยรับรู้เลย ผมทำตรงนี้ พอมาถึงวันหนึ่ง เจอผู้คนเขาชื่นชมและพูดถึงพ่อเยอะมาก รู้สึกดีและภูมิใจมากๆ ครับ”

 

เกเรแค่ไหน แค่ไหนที่เรียกว่าเกเร


            ตั้มเป็นเด็กที่ไม่ขยันเรียน จะเรียกว่าเป็นคนเกเรก็ไม่ผิด มันเป็นความคะนองนิดๆ ช่วงโค้งสุดท้ายของการเป็นวัยรุ่น แต่ในความเกเรนั้น เราต้องรู้จักตัวเอง อาจเข้าเรียนบ้างไม่เข้าเรียนบ้าง แต่ผมตามส่งทุกงานและต้องเข้าเรียนให้ครบตามเวลาที่หลักสูตรกำหนดไว้เพราะไม่เช่นนั้นจะหมดสิทธิ์สอบ

            “สมัยนี้ถ้ามัวเกเรน่าจะหมดสิทธิ์สอบง่ายๆ นะครับ  ผมโชคดีที่เพื่อนและอาจารย์เอ็นดูครับ ตอนนั้นเป็นคนเดียวในชั้นเรียนที่เกเรที่สุด เพื่อนทุกคนพยามยามดึงเรา โทรตามโทรปลุก วันนี้มีสอบนะ พรุ่งนี้ส่งงานนะ แม้แต่อาจารย์ก็ไม่เคยทอดทิ้งผม ผมรู้สึกขอบคุณทุกๆ คน มากครับ วันสุดท้ายที่ผมเรียนจบ ผมเข้าไปกราบอาจารย์ ทั้งขอโทษและขอบคุณ พอจบมาผมก็มานั่งคิดเหมือนกันครับว่าเราต้องปรับตัว ต้องเปลี่ยนตัวเองยังไงให้อยู่แบบมั่นคงที่สุด เลยทำให้เราต้องมองตัวเองให้เห็น หาตัวเองให้เจอ ผมประทับใจมหาวิทยาลัยที่ผมจบมาครับ ที่นี่อบอุ่นไปด้วยมิตรภาพ สมบูรณ์ไปด้วยความรักจากอาจารย์”

 


            ประสบการณ์ที่ได้รับจากชีวิตในแต่ละช่วง ชีวิตใครก็ชีวิตคนๆ นั้น เลียนแบบกันไม่ได้ สอนกันก็ยาก อะไรที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราต้องเรียนรู้ ต้องพยายาม และต้องกล้ารับผลของมัน

 

 

 

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ