ละคอนถาปัด หรือ ละครสถาปัตย์ เป็นกิจกรรมประจำปีของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ นำความคิดสร้างสรรค์มาทำกิจกรรม ละคอนถาปัดเป็นกิจกรรมที่นิสิตสถาปัตย์ฯ ทำกันมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีของคณะสถาปัตย์ฯ ในปัจจุบันละครถาปัดจัดการแสดงช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี แต่ทว่า ทำไมจึงอยากให้มาดูกันจัง มาฟังเสียงของเด็กถาปัตย์รังสิต โปรโมตกัน!!
ละครถาปัตย์มีดีอะไร ทำไมต้องมาดู?
นายภูวเดช จันทโสภณโน ชื่อเล่น จดจำ
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
กดติดตาม FB : jodjumm puvaded IG : jjod.jumm
:: ละครเวทีของคณะเราปีนี้ ขอพูดในฐานะที่ผมดูแลรับผิดชอบเรื่องบทละคร ปีนี้บทละครของพวกเราพูดถึงประเด็นที่พวกเราทุกคนนั้นได้สัมผัสกันนั่นคือ เรื่องของ สังคมโซเซียลมีเดีย ที่พวกเราต่างใช้งานมันอยู่ในทุกวัน โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวน่าหลงใหลที่อิงจาก งานคาร์นิวัล ที่เวนิส ประเทศอิตาลี งานเทศกาลประจำของที่เวนิช ที่ผู้คนพากันใส่หน้ากากเต็มไปหมด แต่งตัวกันสวยงามและร่วมเฉลิมฉลองกัน ความสวยงามที่น่าหลงใหลของคนทั้งเมืองและผู้คนที่ถูกดึงดูดไปด้วยความงาม จนทิ้งความจริงที่อยู่ภายใต้หน้ากากใบนั้น สังคมที่เรามองกันแค่ภายนอก และตัดสินไปแล้วว่าดีหรือไม่ดี สังคมเปรียบเทียบที่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น จนนำพาไปสู่ความบ้าคลั่งเกินกว่าจะหยุดหยั่ง เนื้อหาของละครที่เสียดสีสังคมเล็กๆ ให้เห็นสภาพปัจจุบันที่เกิดขึ้นในสังคมของพวกเรา อยากเชิญชวนมาร่วมกันรับชมเรื่องราวที่จะสะท้อนว่าสังคมของพวกเราตอนนี้ว่าผิดแปลกแค่ไหน ในละครถาปัดลำดับที่ 28 " MADQUERADE บทบรรเลงหน้ากากสีเลือด
:: การทำละครที่เรียกว่าละครเวทีเป็นเรื่องที่ไกลตัวจากพวกเราเด็กถาปัดตาดำๆ มาก แต่เมื่อมีโอกาสที่สานต่อกิจกรรม พวกเราถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทดลองกับอะไรที่สเกลใหญ่ ความกดดัน การทำงานร่วมกันหลายฝ่าย การทำงานเป็นทีม พวกเราได้อะไรจากการทำละคร และคิดว่าหลังจากละครเรื่องนี้ เรียนจบไปแล้ว คงไม่ได้มีโอกาสที่จะได้ทำอะไรแบบนี้แล้ว ฮ่าๆ ต้องลองลุยกันสักตั้งหนึ่ง!! ส่วนตัวผมต้องศึกษาเรื่องการเขียนบทละครอย่างมาก จากเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ชอบดูหนัง แต่ตั้งแต่ได้เข้ามาทำตรงนี้ มันก็ทำให้การดูหนังของเราเปลี่ยนไปตลอดกาล การทำละครเปลี่ยนพวกเราทุกคนให้เป็นอีกคนที่เจ๋งขึ้นโคตร ๆ !! ความเหนื่อย ความกดดัน ความเครียด ที่เกิดขึ้นพวกเรานั้น ทำให้เราเข้มแข็งและพร้อมไปลุยกับโลกความจริงข้างนอก!!
นางสาวมนัชนก ชมมี
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
กดติดตาม FB : Manutchanok Modmod IG : Thisismanuch
:: ละครถาปัตย์ของเราจัดขึ้นทุกปี ตอนนี้เป็นปีที่ 28 แล้ว โดยทุกปีก็จะแตกต่างกันไปตามเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อแต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของละครเราเลยคือความสนุก มุขตลก เพราะเราต้องการให้ผู้ชมที่มารับชมละครของเรามีความสุข อยากจะบอกว่าพวกเราผลิตละครเวทีนี้ขึ้นมาอย่างตั้งใจ พวกเราทำกันเองทุกอย่าง ทั้งคิดบท กำกับ แสดง ทำฉาก ทำชุด ขอฝากละครถาปัตย์ลำดับที่ 28 “MADQUERADE บทบรรเลงหน้ากากสีเลือด” รับประกันความสุขแน่นอน
:: ละครเวทีครั้งนี้คงเป็นเรื่องของการเรียนรู้สิ่งใหม่ เนื่องจากการทำละครเวทีเป็นเรื่องที่เราไม่เคยมีความรู้มาก่อน พอได้เริ่มทำก็ต้องเรียนรู้อะไรใหม่อีกมากมาย ต้องพูดคุยกับคนหลายกลุ่ม ตอนทำเราต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน ประชุมกันหลายครั้ง มีทะเลาะกันบ้าง ความคิดเห็นไม่ตรงกัน เราก็ต้องพยายามอดทนและคุยกันใหม่เพื่อให้เข้าใจกันให้ได้ ส่วนเรื่องความประทับใจคงเป็นเรื่องของการร่วมมือกันของพวกเราทุกคน มันเป็นการร่วมมือกันของทุกคน ทั้งเพื่อน พี่น้อง และผู้ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือและผู้ใหญ่ใจดีที่มีความเมตตาให้การสนับสนุนพวกเรา ทั้งนี้พวกเราต้องขอขอบคุณทุกการร่วมมือและสนับสนุนมาโดยตลอด
นางสาวศิริพร เรืองศิริ ชื่อเล่น กรีน
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
กดติดตาม FB : Greenn Siripornn IG : greensiri_
:: ต้องบอกว่าละครถาปัดมีเสน่ห์ในตัวอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการแสดงที่ตลกแบบโบ๊ะบ๊ะมากๆ การทำฉากที่สวยงามตระกาลตา หรือโชว์ที่มีแสง สี เสียงต่างๆ สามารถบ่งบอกได้เลยว่าเด็กถาปัดเป็นคนทำ ปีนี้เราพยายามนำเสนอสิ่งที่แตกต่างออกไป อาทิ เนื้อเรื่องที่ตรงกับสังคมปัจจุบัน การให้ค่าความสวยงามแค่เปลือกนอก สังคมโซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่ง Social Bullying ที่คล้ายจะตลกแต่ไม่ตลก จะถูกบอกเล่าอย่างสวยงามผ่านงานเต้นรำคาร์นิวาล ส่วนเรื่องการแสดงงนักแสดงทุกคนทุ่มเทมาก แต่ละคนจะมี “จริต”ท่าทางที่ถูกฝึกฝนอย่างหนัก และจะแตกต่างกันออกไป การใช้กายภาพที่ใหญ่ สวยงาม และสนุกสนาน จะมาเพิ่มเสียงหัวเราะให้กับทุกคน อีกทั้งในเรื่องของโชว์ที่เป็นตัวเพิ่มอรรถรสในการดูละครเรื่องนี้อีกด้วย โดยนำเสนอโชว์ผ่านความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในเรื่องด้วยการร้องและการเต้นรำ โดยการใช้แสงเงา ท่าทางที่แปลกใหม่ หรือเสียงต่างๆมาช่วยทำให้การแสดงดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเรื่องของ Costume ที่ปีนี้เราได้มีโอกาสได้น้องๆ จากสาขาแฟชั่นดีไซน์ วิทยาลัยการออกแบบ เข้ามาช่วยทำให้ตัวละครมีเสน่ห์มากขึ้นไปทั้งหมดที่อยากให้มาดูกัน
:: ด้วยความที่นี่คือละครเวทีที่เราทำเป็นครั้งแรก บางอย่างที่ไม่รู้ต้องพยายามหาข้อมูลและทำงานหนักกันมากๆ ต้องขอบคุณรุ่นพี่ที่คอยช่วยแนะนำ และช่วยทำความเข้าใจทั้งในเรื่องการทำงานแบบต้องเมเนจคนเยอะๆ หลายๆ ฝ่าย ทุกคนที่มาทำงานร่วมกันต้องพยายามปรับจูนทำความเข้าใจกันอยู่ตลอด อีกทั้งการให้ความร่วมมือจากพี่ๆ น้องๆ หรือแม้แต่อาจารย์ก็สละเวลาทำโปรเจ็คเพื่อมาช่วยให้ละครดียิ่งๆขึ้นไป เกิดความประทับใจแก่ทุกคน
นายชนะโชติ ลุมชะเนา ชื่อเล่น ต้อม
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
กดติดตาม FB Tom’s Chanachot IG ttomry_
:: พวกคุณทุกคนรู้ไหมว่า ละครเวทีสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต (ละครถาปัด รังสิต) มียาวนานมากถึง 27ปีแล้ว ซึ่งเก่าแก่รองจากละครเวทีสถาปัตยกรรมศาสตร์ของจุฬาฯ และปีนี้ละครเวทีของเราเข้าสู่ปีที่ 28 ถ้าพูดถึงความน่าสนใจของละครถาปัด รังสิต หนึ่ง เวทีที่เราใช้ในการแสดง คือ ศาลาดนตรีสุริยเทพ ซึ่งมีความยิ่งใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็น แสง สี เสียง รับรองว่าจุใจแน่นอน 2.ทักษะการแสดงของผู้แสดง เชื่อผมเถอะว่าถ้าคุณมาดูครั้งแรก พวกคุณทุกคนจะพูดเหมือนผมว่า “นี่นักศึกษาคณะสถาปัตย์จริงๆ หรอ พวกที่วันๆ ทำแต่งาน ติ๊สแตก แต่ดันมีทักษะของการแสดงขนาดนี้เลยหรอ 3.เนื้อเรื่องที่แปลกใหม่ที่คุณอาจจะยังไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน ซึ่งมีการผสมผสานความ ตลก ซึ้ง ดราม่า หักมุม ไซไฟ และ โชว์การแสดงที่เต็มรูปแบบ สำคัญที่สุด คือ ความคาดหวังว่าละครเวที ของละครถาปัด จะดูแล้วรู้สึกอ๋อ หรือ เข้าใจง่ายเหมือนหนังหรือภาพยนต์ ที่แสดงผ่านทางหน้าจอ คุณทุกคนต้องเผื่อใจ และเปิดใจรับประสบการณ์ที่แปลกกว่าการชมภาพยนต์ในจอ สู่การแสดงสด ที่มีหนึ่งครั้งต่อปี จะทำให้ประทับใจเหมือนที่ผมประทับใจแน่นอน
:: ความประทับใจของการทำละครถาปัด คือ ได้ร่วมงานกับเพื่อน พี่ น้อง ภายในคณะ และต่างคณะ อีกทั้งอาจารย์ ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่มาก ใหญ่เกินกำลังเด็กมหาวิทยาลัยไม่กี่คนแน่นอน ต้องมีการร่วมงานจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดเป็นละครถาปัดขึ้นมาได้ และขาดไม่ได้เลยคือ ผู้ชมทุกท่าน เรายังต้องการพวกคุณเพื่อให้ละครถาปัตย์กลายเป็นละครที่ทุกๆ คนอยากจะให้มันเป็น MADQUERADE บทบรรเลงหน้ากากสีเลือด 20,21,22 มีนาคม 2563 เวลา 18:00 น.
"