จากข้อมูลงานวิจัยสู่วิดีโอแอนิเมชั่น 3D เรื่อง “สุวรรณภูมิ เส้นทางการค้า ข้ามคาบสมุทร" ผลงานสร้างสรรค์โดยมหาวิทยาลัยรังสิต

08 Aug 2023

 

ศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มจัดทำโครงการศึกษาและสำรวจเส้นทางการค้า ข้ามมหาสมุทร ปักหมุดและนำร่องศึกษาจังหวัดชุมพร และระนอง ด้วยความพยายามรื้อฟื้นเรื่องราวจากอดีตว่าเส้นทางการคมนาคมนั้นเป็นอย่างไร การทำงานของคณะนักวิจัยและทีมเก็บข้อมูล จะเน้นศึกษาและวิเคราะห์องค์ความรู้จากหลักฐานทางโบราณคดี ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ผนวกกับธรณีวิทยา รวมทั้งการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่จังหวัดชุมพร และระนอง เรื่องราวที่น่าสนใจของอารยธรรมสุวรรณภูมิได้ถูกเปิดเผยขึ้น และยังสร้างความน่าสนใจให้กับคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก ด้วยหลักฐานที่ถูกค้นพบตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน จะเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีว่า ประเทศไทยของเรานั้นเป็นพื้นที่ที่เฟื่องฟูด้านการค้า เปิดเสรีด้านการต่างประเทศ การคมนาคม และยังเป็นแหล่งต้นแบบของการใช้ชีวิตมากมายในยุคนั้น

 

 

 

อาจารย์อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล

 

 

สุวรรณภูมิ ดินแดนอารยธรรมที่รุ่งเรืองในอดีต ได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตก อินเดีย ตะวันออก และจีน ระยะเวลากว่า 1 ปีของการเริ่มเก็บข้อมูล ค้นคว้า วิจัย อาจารย์อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล ผู้อำนวยการศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  หรือ วช. ได้มอบหมายผ่าน 6 มหาวิทยาลัยในการจัดทำโครงการ มหาวิทยาลัยรังสิตรับหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งหมด โดยทำเป็น Basic Research รูปแบบรายงานวิจัย ตัวงานแอนิเมชั่นชิ้นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะมาเสริม มาสนับสนุนรูปเล่มงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง

 

“ความร่วมมือภายในมหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์ฟอร์มทีมโดยมีอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น  อาจารย์จากดิจิทัลอาร์ตเพื่อจัดทำตัวแอนิเมชั่น และก็อีกหลายๆ ท่าน ซึ่งในการเดินทางสำรวจพื้นที่จริงนั้น เพื่อศึกษาร่องรอยของการค้นพบหลักฐาน และนำไปพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังเพื่อประเมินเส้นทางในเชิงธรณีวิทยากายภาพในพื้นที่จริง ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน  นอกจากนี้ ยังเพื่อการวิเคราะห์เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรในประวัติศาสตร์ ร่วมกับการสร้างสรรค์ และหยิบยกขึ้นมาพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม ดังนั้น งานแอนิเมชั่นชิ้นนี้ทางทีมงานจึงได้ต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นภาพ เป็นวิดีโอ งานชิ้นนี้จะเป็นภาพการเดินทางแบบย่อ ความยาวประมาณ 6.30 น.  นำเสนอเส้นทางของการการนำสินค้ามีค่าจากดินแดนสุวรรณภูมิ ปักหมุดที่ เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ถึง ปากคลองละอุ่น ลัดเลาะเลียบชายฝั่งไปจนถึงแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง ณ หาดบางกล้วยในพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อออกสู่ทะเลอันดามัน ผ่านเขม่ายี้ มะลิวัลย์ สู่โลกตะวันตกก็คืออินเดีย จริงๆ แล้วเราก็มองว่า เราได้นำงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับมาเพิ่มรูปแบบและนำเสนอออกไป ตรงนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการกระตุ้น ปลุกกระแสให้เกิดพลวัติทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนในพื้นที่ ระหว่างจังหวัดชุมพร และระนอง จริงๆ พื้นที่หับการค้าของไทยในสมัยนั้นมีชาวต่างชาติเดินทางผ่านมาผ่านไปกันมากหน้าหลายตา เช่น เวลาที่คนจากอินเดีย หรือจีนเดินทางมาค้าขายนั้น คนพื้นที่ซึ่งก็คือคนไทย เราก็จะดูแลเป็นคนกลางจัดหาของป่า คนไทยเอย คนที่มาพักอาศัยระหว่างการเดินทางเอย ก็กลายเป็นการตั้งถิ่นฐาน นักวิชาการเขาก็ค้นพบโครงกระดูก ข้าวของเครื่องใช้ ตรงนี้มันก็ยืนยันเป็นหลักฐานว่านี่น่ะ เคยมีคนอาศัยอยู่จริงๆ นะ จุดนี้ก็ตรงที่เรารู้จักกันว่ากาแฟเขาทะลุ มันคือตรงจุดเขาทะลุ สิ่งของบางอย่างก็มีตรา มีเครื่องหมายที่เป็นของต่างชาติด้วย โครงกระดูกที่ค้นพบอย่างอาจารย์เองก็ยังรู้สึกว่าน่าสนใจ อายุของสิ่งที่ค้นพบก็น่าจะนานกว่า 3,000 ปี เขาค้นพบเป็นโครงกระดูกที่อยู่กันเป็นลักษณะของครอบครัว โครงกระดูกของผู้ชายที่มีสันจมูกโด่ง และมีความสูงที่ผิดปกติ โครงกระดูกของเด็ก หรือผู้หญิงก็ปกติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกายวิภาค เขาก็สันนิษฐานว่าผู้ชายน่าจะเป็นคนต่างชาติ แต่ถ้าเขาอยู่เป็นครอบครัวนั่นแสดงว่าโครงกระดูกเด็ก เขาเป็นเด็กลูกครึ่งครอบครัวแรกๆ เลยไหม หรือแม้กระทั่งการเดินทางของตัวละครที่ออกเดินทางไปทางระนอง ในทางด้านการขุดค้นก็พบเม็ดลูกปัดสี่เหลี่ยม และมีตัวหนังสือจารึกเป็นภาษาอินเดียไว้ว่า โสณะ ซึ่งมีความหมายว่าทอง ทางทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเขาก็สันนิษฐานว่า นี่เป็นหลักฐานชิ้นแรกเลยหรือไม่ที่จะยืนยันว่าเมื่อก่อนนั้นมีการเผยแพร่ศาสนา ด้วยชื่อที่จารึกบนลูกปัด การเดินทางโดยเรือของพ่อค้าชาวอินเดีย อาจจะนำพามาซึ่งนักศาสนา ช่าง พ่อค้า ก็เป็นไปได้หมด เอาเข้าจริงประเทศไทยของเราก็เป็นประเทศแบบเปิดมาแต่ไหนแต่ไร เป็นท่า เป็นเส้นทางสายไหม ด้วยชัยภูมิ ตำแหน่งที่ตั้ง เรือที่เดินทางผ่านมาก็ต้องมาจอดพัก มารอเวลาเป็นเดือนๆ จนเกิดเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ในยุคสุวรรณภูมิ หรือพูดให้เห็นภาพก็อาจเรียกได้ว่า จังหวัดทางใต้ของเรา อาจเป็นจุดเชื่อมโลกมาตั้งแต่ 2500 – 3000 ปีมาแล้ว”

 

 

ผลงานแอนิเมชั่น สร้างแรงบันดาลใจ

ผลงานชิ้นนี้อาจเป็นผลงานที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครได้อีกหลายคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ หากเขาจะได้เรียนรู้ ได้สัมผัสกับเรื่องราวที่ผ่านมาเนิ่นนาน หรือที่เราเรียกมันว่า ประวัติศาสตร์  หากพวกเขาสนใจและจะต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปตามรอย การหาข้อมูลเพิ่มเติม เราเรียกสิ่งนี้ว่า Awakening Diversity ดังนั้น รายละเอียดในวิดีโอแอนิเมชั่นตัวนี้ ทุกอย่างต้องละเอียดและสมจริงให้มากที่สุด เพื่อการรับรู้ รับชมเรื่องราวจะได้ไม่บิดเบือน

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ อาจารย์แขนงการประพันธ์เพลงภาพยนตร์ วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ดูแลกำกับบท กล่าวว่า คาแรกเตอร์ของตัวละครอ้างอิงทั้งหมดมาจาก Basic Research ทีมงานตรวจสอบทุกขั้นตอนกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เคยได้ค้นพบ DNA โครงกระดูก เพื่อเป็นข้อมูล และสร้างขึ้นมาให้ภาพเสมือนจริงที่สุด

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญรัตน์ ศิริรัตนพันธ

 

 

“ตัวละครหลักของเรื่องเป็นชาวมอญ แต่งกายและมีคาแรกเตอร์อ้างอิงมาจากตำราทั้งสิ้น หน้าตาต้องแบบไหน ลูกปัดห้อยคอต้องเป็นอย่างไร จมูกจะเป็นสันเกินไปไม่ได้ รายละเอียดเหล่านี้ค่อนข้างสำคัญ แม้จะยังไม่ได้ตรงเป๊ะๆ แต่ทีมงานก็พยายามทำออกมาให้ละมุนสมกับเป็นตัวเอกมากที่สุด โดยที่ยังคงความเป็นคนสมัยนั้น นอกจากนี้ ยังปักหมุดเส้นทางด้วยครับว่าจากชุมพรไประนอง รูปแบบของเส้นทางมันเป็นอย่างไร ตัดผ่านอะไรบ้าง  แม้กระทั่งเรือ เรือสมัยก่อนหน้าตาเป็นอย่างไร สิ่งที่เราไปสำรวจเชิงกายภาพต่างๆ ก็นำมาออกแบบ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลงเสียง อุปกรณ์เครื่องดนตรีที่ผมศึกษา เช่น ปี่ กลองมโหระทึก ในส่วนของเรื่องบท ผมพยายามสื่อสารด้วยมุมมองว่า พื้นที่การค้า เมืองของนักการค้า พวกเรา Friendly มีช่างมากฝีมือ มีของดีหลายๆ อย่าง ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นก่อนที่อินเดีย หรือจีนจะเข้ามา เราทำการค้ามาก่อนสมัยสุโขทัยด้วยซ้ำ  ประโยชน์ของแอนิเมชั่นตัวนี้สำหรับผม มันค่อนข้างมีหลากหลายมิติ ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรากฐานของความเป็นคนไทย เส้นทางของการค้าทางทะเล นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย หากเราสามารถเผยแพร่งานวิจัย หรือคลิปแอนิเมชั่นจนเป็นที่รู้จัก ก็จะทำให้พื้นที่แห่งนี้มีผู้คนไปท่องเที่ยว หรือเป็นที่กล่าวถึง เรียกได้ว่าเราสร้างแรงบันดาลใจก่อนก็ได้ครับ จากงานวิจัยที่เราทำ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยของเรา พื้นที่ตรงนั้นเป็นแหล่งการค้าขายมาแต่โบร่ำโบราณ นานกว่า 2500 – 3000 ปี มีผู้คนมากมายแวะเวียนเข้ามาทำการค้า เราสื่อสารกันด้วยภาษาอะไรในสมัยนั้น การเปิดโรงงานทำสินค้าที่ใหญ่โตก็มี การให้ที่พักอาศัยแก่ชาวต่างชาติ และอีกมากมายหลายประเด็นที่น่าสนใจ ตัวตนที่มีคุณค่าของพวกเราชาวสุวรรณภูมิ ดินแดนของพวกเรา รากแห่งวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมดจากงานวิจัยที่เราทีมงานรู้สึกภูมิใจและอยากถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นๆ ได้รู้สึกภูมิใจไปด้วยกันครับ ตรงนี้ก็เป็นการหวนคืนคุณค่าให้กับพวกเราคนไทย”

 

อาจารย์พาสิน ธนสิน

 

 

อาจารย์พาสิน ธนสิน อาจารย์คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะกำกับและแอนิเมชั่น กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทางศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา ที่ได้มองเห็นศักยภาพของคณะดิจิทัลอาร์ต ผมและทีมงานที่ประกอบไปด้วยอาจารย์และนักศึกษา พวกเราเริ่มจากการตีโจทย์ออกมากก่อน

 

“เราประชุมกันหลายครั้งมากๆ ครับ กว่าจะได้โจทย์ที่ออกมาเป็นแอนิเมชั่นตัวนี้ เมื่อเราได้คอนเซปต์ที่นิ่งแล้วก็เริ่มลงมือ ศึกษาคาแรกเตอร์ แบ่งงานให้กับทีม ความยากคือดราฟที่ออกมาครั้งแรกยังไม่ตรงกับสิ่งที่ทางอาจารย์อยากได้ ผิวพรรณการแต่งกายมันต้องไม่ละมุนเหมือนตัวละครทั่วไป เราต้องแยกระหว่างข้อมูล Fact กับภาพ ครั้งแรกที่ตัวละครออกมาโดยอิงจากข้อมูลเป้ะๆ จะไม่มีความหล่อเลยครับ ทรงผมก็ส่งงานไปหลายแบบมากครับ เอาจริงๆ แล้วการแต่งกายของคนในยุคสมัยนั้นไม่ซับซ้อน แต่ที่ยากกว่าคือเครื่องประดับ แม้จะมีตัวอย่างอ้างอิงจากของจริงมาให้ดูแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ตัวละครหลักก็จะต้องมีรอยสักด้วยครับ ซึ่งผมและทีมพยายามไปตามหาตัวอย่างแต่ก็มีน้อยมากจริงๆ ครับ ก็โดนตีกลับมาจากนักวิชาการ หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องคาแรกเตอร์ ก็จะมีทีมดูแลเรื่องการทำ 3D Model ปั้นมันขึ้นมา กระบวนการก็จะวนอยู่อย่างนี้อยู่ระยะหนึ่งครับ สร้าง ปรับแก้ สร้างปรับแก้ งานชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นตัวเริ่มต้น ด้วยระยะเวลาที่จำกัดแต่เราก็ต้องการสร้างมันขึ้นมาให้สมจริงที่สุดภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ดังนั้น ในอนาคตก็อาจจะมีการต่อยอด หรือขยับขยายเพิ่มเติมอีกครับ”

 

อาจารย์ธิติพงศ์ เนื่องพิมพ์

 

อาจารย์ธิติพงศ์ เนื่องพิมพ์ อาจารย์คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะกำกับศิลป์และสตอรี่บอร์ด กล่าวว่า นักศึกษาที่มาช่วยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 ซึ่งพวกเขาก็จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบของการทำงานจริงๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ พวกเราพูดคุยปรึกษาหารือประชุมกันอยู่สม่ำเสมอ ด้วยเพราะระยะเวลาในการทำงานค่อนข้างมีน้อย และการบรีฟงานจากทางอาจารย์เจ้าของงาน การถ่ายทอดจากทั้งมุมมองของอาจารย์ด้านสถาปัตย์ ดนตรี นักวิชาการ ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความไม่รู้ พวกเราทำงานกันโดยอ้างอิงจากบทความ โบราณวัตถุ หลักฐานด้านการวิจัย ดังนั้น เมื่องานออกมาแล้ว ไม่ผ่านก็คือต้องแก้ใหม่ ตรงนี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้มากๆ เลยครับว่า ในการทำงานจริง ความอิสระทางความคิด งานจะต้องออกมาจากมุมมองของนักทำ 3D เท่านั้น มันก็อาจจะเป็นไม่ได้ ยิ่งเป็นงานที่มา Support งานวิจัยลักษณะนี้ แม้กระทั่งตัวผมเอง จากการได้ร่วมงานครั้งนี้ก็ทำให้รู้ข้อเท็จจริง ได้รู้ประวัติศาสตร์ การสร้างสรรค์ต่างๆ ที่พวกเราต้องจินตนาการ ก็จะต้องมาจากรากฐานความจริง อิงจากหลักฐานหรืองานวิจัยที่ระบุไว้

 

ผศ.ดร.สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว)

 

ผศ.ดร.สุดจิต เศวตจินดา (สนั่นไหว) อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กล่าวว่า ข้อมูลเชิงลึกด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เป็นอะไรที่น่าสนใจ องค์ประกอบต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราว การทำงานกับข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียดและมีเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลงานแอนิเมชั่นชิ้นนี้ยังสามารถต่อยอดไปได้อีก

 

“อาจารย์ผึ้งจากศูนย์สุวรรณภูมิศึกษา ท่านมาชวนร่วมงานด้วย อาจารย์ก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เส้นทางที่ใช้ก็ทำให้ได้เปิดมุมมอง และยังได้จินตนาการย้อนกลับไปพร้อมกับเรื่องราวที่ได้รับฟังด้วย ประกอบกับต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย เราก็อ่านหนังสือ หาภาพประกอบ ยุคนั้นการตั้งถิ่นฐาน บ้านช่องเขาเป็นอย่างไร เรือ พาหนะเขาเป็นอย่างไร แม้กระทั้งต้นไม้ เขา ทะเล แม้หลักฐานมันจะน้อยมากแทบไม่เหลืออะไร มีเพียงซากอิฐซากหิน แต่ก็ยังพอมีมูลให้ได้คาดคิดต่อ จึงได้ไปศึกษาสถาปัตยกรรมของชาวมานิ ชาวซาไก แล้วก็นำมาประกอบกับข้อมูลทางงานวิจัย ตัดไปปรับมาในตัวงานแอนิเมชั่นให้ใกล้เคียงกับข้อมูลมากที่สุด ตัวคลิปนี้ จริงๆ ยังสามารถตัดแต่ง ต่อยอดไปได้อีก แต่ด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้น ก็ถือว่าออกมาได้ใกล้เคียง อาจารย์ก็หวังว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน อารยธรรมที่พวกเราคนไทยควรภูมิใจ เรื่องราวเหล่านี้ควรได้ส่งต่อให้ถึงคนรุ่นใหม่”

 

 

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ