ม.รังสิต ปั้น Startup & Innovation ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เพราะที่นี่ “การศึกษาคือ นวัตกรรม”

27 Mar 2018

 

       

      นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและการรวมกลุ่มของกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ของประเทศไทย ที่รัฐบาลมีความตั้งใจให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้ยืนหยัดอยู่ได้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและส่งเสริมศักยภาพด้านต่างๆ ให้สามารถเติบโตไปสู่ระดับสากล โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเป็นเจ้าภาพจัดโครงการและเชิญพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักลงทุน ภาคอุตสาหกรรม มาร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนา Startup Thailand ตั้งแต่เริ่มต้น

 

 

 

ผศ.ดร.เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน คณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยรังสิต หัวหน้าโครงการ RSU Startup กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิต เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยถือเป็นคลังปัญญาที่รวบรวมงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ของคณาจารย์และนักศึกษา ที่สามารถนำมาต่อยอดให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศได้เป็นอย่างมาก ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของ Startup ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 9 สาขา ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร (AgriTech/ Food Startup) 2.การแพทย์และสาธารณสุข (MedTech/ Health Tech) 3.การเงินและการธนาคาร (FinTech) 4.การศึกษา (EdTech) 5.การท่องเที่ยว (TravelTech) 6.ไลฟ์สไตล์ (LifeStyle) 7.พาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) 8.ภาครัฐ/การศึกษา (GovTech/EdTech) และ 9.อสังหาริมทรัพย์ (Property Tech)

 

 

“ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรังสิตมีงานวิจัย โปรเจกต์ของนักศึกษาคณะต่างๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นในปี ค.ศ.2017 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยส่งผลงานนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ Startup Thailand 2017 ซึ่งถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวที่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันมากที่สุด 110 ทีม จากวิทยาลัย/ คณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยรังสิต ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 32 ทีม ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทีมละ 200,000 บาท ซึ่งผลงานที่ผ่านเข้ารอบประกอบด้วย วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 17 ทีม คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ 8 ทีม คณะบริหารธุรกิจ 5 ทีม คณะวิทยาศาสตร์ 1 ทีม และคณะเทคโนโลยีอาหาร 1 ทีม เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการต่อยอดโดยมีผู้ร่วมทุนจัดตั้งเป็นบริษัท จำหน่วยสินค้าจริง อยู่ระหว่างการพัฒนาชิ้นงานร่วมกับ TRUE INCUBE อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอจดสิทธิบัตร ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อขอรับรองมาตรฐาน ส่งชิ้นงานไปทดสอบในโรงพยาบาลหรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอีกหลากหลายผลงานที่ไม่ได้ส่งเข้าร่วมโครงการ startup แต่ผลักดันให้ส่งผลงานเข้าประกวดเวทีต่างๆ ตามความเหมาะสม อาทิ โดรนสำรวจใต้น้ำ ของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  รถเข็ญไฟฟ้าเคลื่อนที่รอบทิศทาง ของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ฯลฯ

 

 

“จากประสบการณ์ในเวที Startup ทำให้หลายคณะในมหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ของนักศึกษามากขึ้น โดยมีอาจารย์เป็นโค้ชคอยแนะนำให้นักศึกษาทำตามความฝันได้ตั้งแต่เริ่มเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งจากเดิมนักศึกษาจะคิดโปรเจกต์ตอนอยู่ชั้นปีที่ 4 ให้สามารถคิดและทำโปรเจกต์ได้ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เพราะนักศึกษามีศักยภาพเพียงพอและมีเวลาและความพร้อมในการต่อยอดวิชาความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อนำไปสู่แนวทางการประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยที่จะปรับตัวให้ทันต่อโลกอนาคต โดยมหาวิทยาลัยรังสิตจะผลักดันและสนับสนุนให้นักศึกษาแสดงศักยภาพขอตนให้เต็มที่ในเวทีต่างๆ ต่อไป”  ผศ.ดร.เชฏฐเนติ กล่าวเพิ่มเติม

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ