เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหม ว่าสิ่งที่คุณทำอยู่ทุกวันนี้คือความสุขที่สุดในชีวิตแล้วหรือยัง? สุขที่ว่าคือ สุขเพียงตัวเรา หรือสุขที่เราได้แบ่งปัน เช่นเดียวกับ “สิริกร ลิ้มสุวรรณ” คนรุ่นใหม่หัวใจรักการทำเกษตรอินทรีย์ที่เลือกเดินออกจากงานประจำ เงินเดือนสูง เพื่อกลับคืนสู่ท้องถิ่นและมุ่งทำเกษตรอินทรีย์ หวังตอบแทนคุณธรรมชาติและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา และภารกิจใหม่ร่วมสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การเป็น Young Smart Farmer

หนุ่มนิติฯ ทำงานแบงก์ และจุดเปลี่ยนสู่เกษตรกร
นายสิริกร ลิ้มสุวรรณ ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ (รุ่นที่ 9) มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้ฟังว่า ในชีวิตเขาผูกพันกับธรรมชาติ ชุมชน และท้องถิ่น ตรงนี้ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนกฎหมายเพื่อวันหนึ่งจะได้นำความรู้ไปช่วยเหลือผู้อื่น และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คือสถาบันการศึกษาที่เขาตัดสินใจเดินเข้ามาศึกษาโดยที่เขาได้เห็นโครงการเพื่อสังคม การอนุรักษ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยดำเนินตลอดมา และภายหลังเข้ามาศึกษาเขาก็เข้าร่วมทุกกิจกรรมอาสา ค่ายพัฒนาชุมชนต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือการที่มีโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมา

“หลังจากที่ผมเรียนจบนิติศาสตร์ ตอนนั้นคิดว่าจะทำงานหาประสบการณ์ก่อนสักสองสามปี โดยผมมีโอกาสได้เข้าทำงานในฝ่ายการตลาด ทำเกี่ยวกับสินเชื่ออยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่งประมาณสามปี ตอนนั้นเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งและกลับมาคิดทบทวนว่า อะไรคือความสุขในชีวิตเรา สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าเราจะนำความรู้ที่เรามี ศักยภาพในตัวที่เราจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ เราจะนำสิ่งเหล่านั้นออกมาสร้างความรู้ ทำเกษตรให้ยั่งยืน และให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะผมเชื่อว่าทำเกษตรสามารถตอบแทนสังคมและธรรมชาติได้ โดยใช้วิธีการเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน และที่สำคัญที่สุดคือลองผิดลองถูกจากการลงมือทำ”
เรียนรู้และแบ่งปันตามหลักเกษตรพอเพียง
สิริกร เล่าให้ฟังต่อว่า ตอนออกจากงานธนาคารมาทำเกษตร เขาเริ่มต้นจากการเลี้ยงไส้เดือน ตั้งใจว่าจะทำมูลไส้เดือนขายให้เกษตรกร อยากให้ชาวนาเปลี่ยนจากนาเคมี มาเป็นนาอินทรีย์ แต่ทำไปได้ปีหนึ่ง ก็รู้ว่าเราเปลี่ยนใครไม่ได้ อาจจะเพราะภาระต่างๆ ที่ชาวบ้านเค้าต้องแบกรับ เลยคิดว่าเราต้องกลับมาเปลี่ยนตัวเองก่อน เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานอยู่เป็นปี จนทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางและมีคนสนใจเข้ามาถามไถ่ หลังจากนั้นก็เริ่มสร้างเครือข่ายขึ้นมา โดยเรามีทีมงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว ก็เริ่มวางแผนต่อว่าหลังจากนี้อีกสี่ห้าปีจะวางแผนทำอะไรต่อ

“ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสังคมเกษตรอินทรีย์ อยากให้คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ มากกว่ารอการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ทำไปแล้วคือ โรงเรือนบ้านรักษ์ดิน โดยมาจากความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ดิน เลี้ยงดินให้ดี เมื่อดินดีอุดมสมบูรณ์ก็จะปลูกพืชได้ดี ทำให้มีกินและแบ่งขายได้ เป็นการเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเอง"

"อีกทั้งยังมีการทำโรงเรือนปลูกผักออร์แกนิกไว้กินเอง เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเก็บผัดปลอดสารพิษไปทานได้โดยไม่คิดเงิน หรือจะบริจาคได้ตามศรัทธาเพื่อเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ได้ปลูกต่อไปเรื่อยๆ และยังทำบ่อมะนาว รวมทั้งสร้างเครือข่ายจากการทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ เช่น ข้าวไรท์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ หลักๆ จะเน้นไปที่การแปรรูปจากข้าวมากกว่า เช่น ผงพอกหน้าขาวหอมมะลิ แชมพู ครีมนวดผมข้าวหอมนิล น้ำอบเชยกลั่นต้านเบาหวาน ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นออร์แกนิกทั้งหมด และกรรมวิธีขั้นตอนการผลิตต่างๆ ล้วนเป็นมิตรกับธรรมชาติ และมีคุณภาพคงคุณค่าก่อนถึงมือผู้บริโภค”

หลังจากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวด้านเกษตรอินทรีย์ ล่าสุด สิริกร ยังทำหน้าที่อีกบทบาทคือ ผู้อำนวยการสถาบันบ่มเพาะและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์วิถีไทยและอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต
สิ่งที่ต้องทำกับบทบาทใหม่...
“ต้องขอบคุณ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ และให้โอกาสผมในการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ โดยสถาบันดังกล่าวได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการบ่มเพาะและฝึกอบรมผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์วิถีไทย และเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การเป็น Young Smart Farmer สนับสนุนปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การแปรรูปด้วยนวัตกรรม และการตลาดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของวงการเกษตรอินทรีย์ไทยสู่มาตรฐานโลก โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์การศึกษาและวิจัย เพื่อพัฒนาระบบ รูปแบบในการพัฒนาวงการเกษตรอินทรีย์ไทย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์วิถีไทยให้เป็นอาหารหรือสิ่งใหม่ ส่งเสริมและประสานความร่วมมือด้านการพัฒนาองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และนวัตกรรมสมัยใหม่กับองค์กรอื่น เพื่อการพัฒนาเกษตรกรอย่างเป็นระบบ สนับสนุนการเข้าถึงตลาดเชิงสร้างสรรค์ สร้างแบรนด์และสร้างรูปแบบธุรกิจจากผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์วิถีไทย”

มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยกับเป้าหมายที่วางไว้
“ในส่วนของการดำเนินงานนั้นมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย มุ่งเน้นตัวชี้วัดที่ครอบคลุมกระบวนการผลิต พืช ผัก และผลไม้ที่ไม่มีการใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยที่ผู้บริโภคตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชน และการมีวิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น ข้อกำหนดมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย จึงประกอบด้วย การผลิตพืช ผัก ผลไม้ในรูปแบบที่ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ มาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงการผลผลิตบนพื้นฐานของวิถีธรรมชาติ (หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเกษตรอินทรีย์) คือ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูหรือป้องกันศัตรูพืช และสารเคมีกำจัดวัชพืช ไม่ใช้พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (GMOs) สามารถเปิดเผยและตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับกระบวนการผลผลิตได้อย่างมีรูปธรรม และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ในพื้นที่ มีการกำหนดหน่วยมลภาวะและมีการทดแทนคุณค่ากลับสู่ดิน น้ำ และป่าอย่างเป็นระบบ”
นอกจากนี้ จะดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องไม่ปลูกเพื่อขายผลผลิตทั้งหมดเพียงอย่างเดียว เกษตรกรต้องปลูกพืชไว้บริโภคในครอบครัว เมื่อเหลือจึงแบ่งปัน เมื่อเหลือจากการแบ่งปันจึงรวมกันขาย สร้างภูมิคุ้มกันในคุณภาพชีวิต และลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในตลาดที่ขาดความโปร่งใสและไร้คุณธรรม
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เรียกว่า เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต่อไปจะเป็นกำลังสำคัญให้เกษตรอินทรีย์วิถีไทยอย่างยั่งยืนแน่นอน อ่านไปก็ยิ้มตามไปด้วย ความจริงแล้วความสุขแบบไม่ต้องร่ำรวยมากมาย สุขแบบวิถีชีวิตพอเพียง โดยน้อมนำแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินชีวิตก็เป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแค่หันกลับมามองที่ตัวเรา ในสิ่งที่เราเป็นอยู่ เพราะบางทีคุณอาจจะพบว่า ชีวิตนี้แค่กินอยู่อย่างพอเพียงก็เพียงพอแล้ว
สำหรับคนอยากจะขอคำแนะนำเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ สถาบันบ่มเพาะและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์วิถีไทยและอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต หรือหากสนใจผลิตภัณฑ์และอยากเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ สามารถแวะเวียนไปดูตัวอย่างได้ที่บ้านรักษ์ดิน จังหวัดกาญจนบุรี
บางทีคุณอาจจะพบคำตอบว่า การอยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวคือ ความสุขที่คุณไม่สามารถหาได้จากเมืองใหญ่

"