“คุณภาพชีวิตพนักงานในยุค Taylorism หรือ Cubicle Farms อาจไม่ต่างจากยุคปัจจุบัน เพราะ Work From Home (WFH) หรือการทำงานแบบเวิร์คเพลส ไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานกับทุกคน หรือที่แย่กว่าคืออาจนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ ลดลง ประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำลง”

นางสาวชญาณี ว่องวรรณกุล หรือ โฟล์ค นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กับโครงการวิทยานิพนธ์ในการออกแบบ “Place & Working Efficiency” Guidelines for designing workspaces that promote working efficiency สถานที่แบบไหนจะเป็นทางเลือกในการทำงานแบบ ‘Digital Workplace’ นอกจากบ้านในเมื่อสำนักงานให้เช่ากำลังหายไป และปัจจัยอะไรส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของคนทำงานในยุค ดิจิทัล เวิร์คเพลส
จุดเริ่มต้นของการเลือกโจทย์การออกแบบนี้?
เหตุผลที่เลือกออกแบบพื้นที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยส่วนตัวแล้วเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับพื้นที่ทำงานและรู้สึกว่ามันมีผลกับประสิทธิภาพการทำงานของเรา แม้แต่เรื่องเวลาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้ทำงานได้เร็วขึ้นหรือช้าลง เมื่อได้เห็นสถานการณ์ที่องค์กรหรือบริษัทหลายแห่งมีการทำงานแบบ Work From Home (WFH) เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า “สถานที่ทำงานมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานไหม?”
แต่ก่อนเราทำงานที่ร้านคาเฟ่ หรือบางครั้งก็เปลี่ยนบรรยากาศไปทำกับเพื่อนที่มหาวิทยาลัย แล้วถ้าเราต้องทำงานอยู่ในบ้านที่ซึ่งแต่ละครอบครัวก็อาจจะไม่ได้มีพื้นที่รองรับการทำงาน และอาจต้องทำเป็นเวลานาน ๆ เราจะเกิดความเครียดหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราลดลงไหม? ด้วยเหตุนี้จึงสนใจทำวิจัย (Research) เบื้องต้นเพื่อลองเช็คว่าสิ่งที่เราสงสัยมันพอจะมีข้อมูลรองรับหรือไหม? หรือเราแค่คิดไปเอง ระหว่างทำการศึกษายิ่งสืบค้นก็ยิ่งพบข้อมูลที่มีการพูดถึงประเด็นนี้และประเด็นใกล้เคียงกับข้อสันนิษฐานที่เราตั้งไว้ ทำให้เรายิ่งสนใจและอยากศึกษาให้ระเอียดและลึกขึ้น


จุดเด่นหลักๆ ที่เราใส่กับงานออกแบบนี้คืออะไร?
คอนเซ็ปต์ คือ “การเกิดพื้นที่ปฏิสัมพันธ์อย่างมีขอบเขต” ด้วยเราต้องการให้พื้นที่ทำงานสามารถใช้ได้กับกลุ่มคนหลายประเภท ทั้งกลุ่มผู้ใช้ที่มีทั้งลักษณะที่ต้องการการปฏิสัมพันธ์กับคนหมู่มาก และกลุ่มที่ต้องการทำงานแยกออกจากคนหมู่มากเพราะต้องการสมาธิและจดจ่อกับงาน ดังนั้นเป้าหมายแรกโครงการคือการออกแบบพื้นที่ที่หาจุดตรงกลางระหว่างคนสองกลุ่มนี้ จึงพยายามออกแบบรูปทรงที่มีที่ว่างของแต่ละ Function ให้แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ใช้แต่ละ Function เห็นเขตขอบพื้นที่กิจกรรมของตนเองได้ชัดเจน รวมถึงแยกการเข้าถึงของแต่ละ Function เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้แต่ละ User เห็นได้จาก Skywalk ซึ่งในโครงการจะประกอบด้วยการออกแบบพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยเน้นการเชื่อม Function พื้นที่เดียวกันที่อยู่คนละอาคาร เพื่อเกิดทางสัญจรเฉพาะของ Function นั้น ๆ
งานออกแบบเน้นเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ของแต่ละ Function การวางทางสัญจรของผู้ใช้แต่ประเภทและการกำหนดขอบเขตของที่ว่าง ทั้งสามเรื่องนี้ระหว่างเรียนเราได้ใช้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรคำนึงถึงเพราะมันมีผลกับผู้ใช้โดยตรง ยิ่งโปรเจคของเราต้องรองรับคนทำงานที่ต้องการพื้นที่ทำงานแตกต่างกันสิ่งเหล่านี้จึงยิ่งสำคัญ การจัดการความสัมพันธ์ของแต่ละ Function จะสัมพันธ์กับการวางทางสัญจรของผู้ใช้แต่ละเภท ตัวอย่างเช่น หากเรากำหนด Function ที่เป็น Private มากมาติดกับ Function ที่เป็นพื้นที่ Public หรือมีทางสัญจรที่ต้องผ่านกัน พื้นที่ที่เราจะให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึก Private ก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นทุกครั้งก่อนที่จะวางผังเราต้องทำไดอะแกรมความสัมพันธ์การใช้งาน (Bubble Diagram) ก่อนเสมอ


งานออกแบบมีประโยชน์กับกลุ่มคนไหนที่สามารถนำไปใช้ได้
พื้นที่ทำงานทางเลือกอย่าง Co-Working Space อาจไม่ใช่พื้นที่ที่ตอบโจทย์กับทุกคน เพราะสุดท้ายแล้วก็ยังมีคนที่สะดวกจะทำงานที่บ้าน แต่เราก็มองว่าพื้นที่ทำงานทางเลือกแบบนี้ก็ยังสำคัญ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่มีพื้นที่ทำงานแม้แต่ในบ้านตนเอง หลายคนยังต้องการพื้นที่ทำงานที่เหมาะสมกับตนเอง ทั้งในรูปแบบที่ต้องการสมาธิ การจดจ่อกับงาน หรือรูปแบบที่ต้องการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ กับคนรอบข้าง กับสภาพแวดล้อมรอบตัว และไม่ใช่ร้านกาแฟทุกที่จะสามารถตอบโจทย์รูปแบบที่กล่าวมาได้ทุกร้าน
นอกจากมุมมองการได้ใช้ประโยชน์จากคนทำงานทั่วไปแล้ว Co-Working Space ยังได้ใช้ประโยชน์กับกลุ่มองค์กรหรือบริษัทที่ต้องการหาพื้นที่ประชุมงาน หรือ Workshop เพียงเดือนละไม่กี่ครั้ง ก็จะสามารถเช่าห้องประชุม พื้นที่ Workshop ห้อง Studio หรือพื้นที่จัดงานได้เป็นครั้งคร่าวไป วิธีนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรแทนที่จะต้องไปจ่ายค่าเช่าอาคารระยะยาวที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า




นี่คือผลงาน The Best Thesis of the Year ประจำปี 2564 ที่เป็นผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ในการสร้างพื้นที่ที่เหมาะกับประสิทธิภาพการทำงานในยุคนี้ ชมผลงานและคอนเซ็ปต์การออกแบบเพิ่มเติมได้ที่ https://chayaneew59.wixsite.com/thesis63
ข้อคิดและประสบการณ์จากรุ่นพี่ถึงรุ่นน้อง..
“การออกแบบอะไรสักอย่างไม่ว่าจะเป็นอาคารหรืออะไรก็ตาม นอกจากเราต้องตีโจทย์งานชิ้น ๆ นั้นให้ได้แล้ว เราควรต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่เรากำลังออกแบบนั้นจะมีผลกระทบต่ออะไรในภายหลังไหม หมายถึงกระทบต่อคนในพื้นที่ ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชุมชน และสังคม หรือไม่อย่างไร สิ่งที่ได้จากการเรียนในคณะสถาปัตย์ คือ การฝึกระบบความคิดในการแก้ปัญหาต่าง ๆ หรือจัดลำดับการทำงาน มันทำให้เราเป็นคนละเอียดรอบคอบมากขึ้น ยิ่งเรียนชั้นปีที่สูงขึ้น เราก็จะเห็นภาพรวมของโครงการหนึ่งโครงการ และรู้ว่าส่วนที่เราทำหรือรับผิดชอบอยู่นั้นจะมีผลอย่างไรกับการทำงานในขั้นตอนต่อไป ควรให้ความสำคัญกับลำดับงานส่วนไหนก่อนเพื่อให้ส่งงานทันเวลาในเวลาจำกัด หรือในเรื่องของการทำงานเป็นทีมที่ค่อนข้างเกิดขึ้นบ่อยครั้งในคณะนี้ ด้วยงานที่ต้องทำหลายหน้าที่มันบีบให้เราต้องกระจายงานให้เป็น รู้ว่าเพื่อนคนไหนถนัดหน้าที่ส่วนไหน เราถนัดหน้าที่ส่วนไหน ตรงนี้ก็จะทำให้เรารู้จักความถนัดในสายงานของตัวเองมากขึ้นด้วย”
"