ดร.อาทิตย์และชาว ม.รังสิต รวมพลังช่วยประชาชนฝ่าวิกฤต COVID-19

11 Apr 2020

 

          ในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ประเทศทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบ รวมถึงประเทศไทยของเราที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตในครั้งนี้นั้น ทุกภาคส่วนได้ออกมามีบทบาทในการสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ และโรงพยาบาล เพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรังสิตในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความหลากหลายทางวิชาการ ได้ร่วมแรงร่วมใจทำประโยชน์เพื่อให้การช่วยเหลือสังคม  

 

 

            ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 มหาวิทยาลัยรังสิต มีความห่วงใยและเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักศึกษา เราจึงได้ปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ในทุกหลักสูตร เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  และลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัส โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยและความเหมาะสมของบุคลากรและนักศึกษาในระดับสูงสุด สำหรับบุคลากรนั้นให้ปฏิบัติงานอยู่ที่บ้าน (Complete Work at Home) รวมทั้งวางมาตรการการเฝ้าระวังป้องกันภายในมหาวิทยาลัย โดยได้ดำเนินการตามวิธีการป้องกันที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

 

 

          “แม้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จากวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้จะยุติเมื่อใด แต่ทุกอย่างกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ควบคุมได้มากขึ้น มหาวิทยาลัยรังสิต จึงขอเป็นอีกหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ใช้วิชาชีพของพวกเรา คิด ออกแบบ และลงมือทำ อะไรที่สามารถที่จะช่วยเหลือประเทศชาติ ช่วยเหลือสังคมตอนนี้ได้อย่างไรบ้างเราก็จะลงมือทำ หลายคณะ วิทยาลัย และหน่วยงาน ต่างก็เดินหน้าในยามวิกฤตเช่นนี้ อาทิ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ผลิตแอลกอฮอล์เจลล้างมือ น้ำยาสำหรับสเปรย์ฆ่าเชื้อบนผิววัสดุ ด้านวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์และวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ จัดทำตู้หัตถการสำหรับผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ รวมไปถึงความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผลิต Low Cost PPE สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ผลิต Face Shield ช่วยเหลือโรงพยาบาลที่อยู่ชายแดน คณะบริหารธุรกิจ ได้จัดทำพื้นที่ออนไลน์สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดค้าขายในช่วงนี้ เป็นต้น”

 

          อธิการบดี ม.รังสิต กล่าวต่อว่า อีกไม่นานเกินรอ พวกเราทุกคนจะต้องผ่านพ้นวิกฤตนี้ เก็บบทเรียนครั้งนี้เพื่อวางแผนการใช้ชีวิต และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ขอให้พวกเราอดทนอีกหน่อย เพื่อชาติ เพื่ออนาคตอันสดใส Social Distancing และการอยู่บ้านเพื่อชาติ จะเป็นวิธีการง่ายๆ ที่พวกเราทุกคนจะช่วยร่นเวลาที่ยืดเยื้อของวิกฤตนี้ไปได้

 

 

วิศวกรรมชีวการแพทย์ เตรียมความพร้อมสำรองเครื่องมือแพทย์ช่วย รพ.ต่างๆ

          ด้านรองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้จัดเตรียมความพร้อมของเครื่องมือแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือโรงพยาบาลจากวิกฤต COVID-19 ได้แก่

 

 

งานเตรียมสำรองเครื่องมือแพทย์สำหรับช่วยโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน

          เตรียมความพร้อมโดยการสำรองเครื่องมือแพทย์ให้พร้อมใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องช่วยหายใจ สำหรับในกรณีฉุกเฉินที่โรงพยาบาลต่างๆ ขาดแคลน เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมาก สามารถให้ยืมใช้งานและให้บริการดูแล บำรุงรักษา และให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางในการบริหารจัดการการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ถูกต้องกับโรงพยาบาลในเขตจังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศที่ร้องขอ

 

 

งานวิจัยและพัฒนาในรูปแบบ Instant Research and Development

          วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลต่างๆ ในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์สำหรับบุคลากรทางด้านการแพทย์สำหรับไว้ใช้ในยามฉุกเฉินให้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาฯ สถาบันบำราศนราดูร เป็นต้น

 

 

          นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยต่างๆ ได้แก่ 1. ผลงานวิจัยและพัฒนาตู้ป้องกันการติดเชื้อสำหรับทำหัตถการผู้ป่วย COVID-19  2. ผลงานวิจัยและพัฒนาหน้ากากป้องกันการติดเชื้อสำหรับการดูแลผู้ป่วย COVID-19 รุ่น RSUPmask N-99  ผ่านการทดสอบเชิงคุณภาพจากกรมควบคุมโรค ประสานกับศูนย์ความร่วมมือไทยสหรัฐด้านสาธารณสุข (US Centers foe Decease Control and Prevention Devision of Global Health Protection (DGHP) Laboratory Branch, Thailand)

 

 

 

3. ชุด Protective Personnel Equipment  4. เครื่องวัดอุณหภูมิผิวหนังเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์  5. ระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับการทำนายอาการปอดติดเชื้อจากฟิล์มเอกซเรย์ และ 6. ระบบปัญญาประดิษฐ์ทำนายแนวโน้มของผู้ป่วยที่จะติดเชื้อโรค COVID-19 รายวัน

 

 

ทีมวิศวะ ม.รังสิต เซฟนักรบเสื้อกาวน์

          รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำหรับวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อมอบให้ทั่วถึงโรงพยาบาลต่างๆ  โดยการเปิดรับบริจาคจากบุคคลทั่วไป นำงบประมาณมาจัดทำอุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ 1. ตู้ป้องกันการติดเชื้อสำหรับทำหัตถการผู้ป่วย COVID-19  (กล่องอะคริลิค) โดยถอดแบบมาจาก รพ.พระมงกุฎเกล้า และแบบโครงสแตนเลส พัฒนาร่วมกับทีมวิสัญญีแพทย์ รพ.กองทัพเรือ 2. อุปกรณ์ป้องกันความเสี่ยงจุดคัดกรองผู้ป่วย และ 3. Face Shield ที่ปริ้นด้วยเครื่อง 3D Printing ของวิทยาลัย ที่พัฒนาแบบมาจาก NIH-Verkstan และ Prusa RC 2&3  ซึ่งบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน และจากศิษย์เก่าวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ขณะนี้มี รพ.ติดต่อเข้ามาแล้ว 32 แห่ง จำนวน 93 ชุด และ Face Shield จำนวน 500 อัน

 

 

 

เภสัชฯ ส่งต่อความรู้ และผลิตภัณฑ์ช่วยประชาชน

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร ธนภัทร  ทรงศักดิ์ คณบดีวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า "สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่สังคม" คือปณิธานของพวกเรา วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในยามที่เกิดความทุกข์ โรคระบาด ความเจ็บป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และความขาดแคลนต่างๆ เราไม่เคยเห็นว่าความทุกข์ร้อนต่างๆ เหล่านั้น เป็นของคนอื่น ความทุกข์ร้อนนั้นเป็นของเราด้วย ดังนั้น พวกเราทุกคนจึงตั้งใจมุ่งมั่นนำวิชาความรู้ทางเภสัชกรรม ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่เรามีและทำได้ เพื่อแบ่งเบาและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบความทุกข์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาทิ Hand Sanitizer Gel Hand Sanitizer Spray น้ำยาสำหรับสเปรย์ฆ่าเชื้อบนผิววัสดุ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล ผลิตโดย SUN HERB Thai Chinese Manufacturing ตลอดจนการให้ความรู้ด้านสมุนไพรที่ถูกต้องกับประชาชนทาง Facebook สื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ และการปฏิบัติงานของอาจารย์เภสัชกร ณ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (ร้านยา) มหาวิทยาลัยรังสิต และ Face Shield โดยหวังใจเพียงว่าจะได้ช่วยเหลือ และแบ่งเบาความทุกข์ของพี่น้องประชาชน และทำให้ทุกคนมีความสุข

 

 

 

 

กายภาพบำบัดฯ ผลิต Face Shield ส่งต่อ รพ.ชายแดน

          ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คณาจารย์คณะกายภาพบำบัดฯ ได้ร่วมกันทำ Face Shield เพื่อส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลชายแดน ได้แก่ โรงพยาบาลอุ้มผาง โรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก มูลนิธิบ้านครูน้ำ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โดยตั้งเป้าจำนวน 1,000 ชิ้น

 

 

 

 

สมุนไพรต้าน COVID-19

          ด้านนายแพทย์วิชาญ เกิดวิชัย คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันสมุนไพรไทยมีสรรพคุณที่สามารถป้องกันไวรัส COVID-19 โดยจากผลการวิจัยและติดตามการใช้ยาสมุนไพรในการป้องกันและรักษาไข้หวัดธรรมดา ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไรโนไวรัส (Rhinovirus) แบคทีเรีย และโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ที่ไม่กลายพันธุ์ พบว่า มีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถป้องกัน และรักษาโรค ผ่านกลไกการต้านเชื้อโรคโดยตรง และการสร้างภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในทางเดินหายใจ การขยายผลมาใช้ในไข้หวัดใหญ่ Influenza พบว่า ได้ผลในระดับหนึ่งส่วนการใช้ในโคโรน่าไวรัสที่กลายพันธุ์ SARS และ MERS ไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ แต่ด้วยกลไกการทำงานดังกล่าวมา เชื่อว่าหากนำมาใช้กับ COVID-19 อาจจะช่วยได้โดยเฉพาะการป้องกัน เสริมจากมาตรการทางกายภาพคือ ใส่ Mask กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือ และ Social distancing

 

 

 

‘ถาปัตย์รังสิต รวมใจสู้ภัย COVID-19

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้จัดโครงการ ‘ถาปัตย์รังสิตรวมใจสู้ภัย-COVID ร่วมกับศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เชิญชวนทุกคนรวมพลังไร้ค่ายไร้สีเพื่อระดมทุน ระดมแรง ระดมความร่วมมือ ในการจัดทำและผลิต  Isolate Chamber เพื่อส่งให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ โดยทีมงานจิตอาสาแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบประสานกับทางโรงพยาบาลแต่ละภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรวบรวมข้อมูลและจัดทำ Isolate Chamber  ให้ตรงกับความต้องการของโรงพยาบาลตลอดจนส่งมอบให้ได้เร็วที่สุด โดยล่าสุดทางทางทีมงานได้ส่งมอบ Isolate Chamber ให้แก่โรงพยาบาลบางส่วนเรียบร้อยแล้ว อาทิ โรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลศรีเทพ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลวิหารแดง ในส่วนของโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความประสงค์นั้นจะดำเนินการและประสานงานต่อไป ในฐานะสถาปนิกวิชาชีพทุกคนเราขอเป็นส่วนเล็กๆ ที่มีส่วนสนับสนุนช่วยเหลือ รวมถึงเป็นกำลังใจให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้

 

 

 

 

www.arthitmarket.com เว็บไซต์รวบรวมร้านค้า ช่วยผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต COVID-19

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุจาภา แพ่งเกษร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนไปทั้งในการเดินทาง การจับจ่ายใช้สอย ในที่สุดก็เข้าสู่การขอความร่วมมือให้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ขณะเดียวกันบริษัท ห้างร้านต่างๆ ถูกกำหนดให้เปิดบริการจำหน่ายสินค้าบางประเภท ทำให้การซื้อขายสินค้าในตลาดไม่เหมือนเดิม ร้านค้าเริ่มขายสินค้าได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะผู้ซื้อไม่ได้ออกจากบ้าน วงจรของธุรกิจเริ่มสะดุดและมีปัญหา มหาวิทยาลัยรังสิต ทางคณะบริหารธุรกิจ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.arthitmarket.com เป็นศูนย์กลางการรวบรวมสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการ SME’s รายเล็กรายใหญ่ โดยแบ่งเป็น กลุ่มร้านอาหาร Street food ร้านอาหารดัง ผลิตภัณฑ์ของนักศึกษา Startup กลุ่มผลิตภัณฑ์ในชุมชน และกลุ่มสินค้าของผู้ประกอบการค้าปลีก ค้าส่ง โดยเริ่มต้นจากร้านค้ารอบๆ มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการฝ่าวิกฤต COVID-19

 

 

 

อุโมงค์สเปรย์พ่นฆ่าเชื้อ ลดความเสี่ยงไวรัส COVID-19

          อาจารย์ปรเมศวร์ พลรัฐธนาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำนักงานอาคารและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากอธิการบดี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในการดำเนินการจัดทำอุโมงค์สเปรย์พ่นฆ่าเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงของไวรัส COVID-19 โดยพัฒนาต่อยอดจากตู้อบฆ่าเชื้อ COVID-19 ของประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดทำอุโมงค์ฆ่าเชื้อ เป็นความร่วมมือกันของหลายคณะ โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นที่ปรึกษาร่วมดูแลและวางแผนนโยบายในการจัดทำ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ช่วยดูแลเรื่องส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งอุโมงค์ฆ่าเชื้อดังกล่าวจะฉีดพ่นลงไปบนร่างกายของผู้ที่เดินผ่านอุโมงค์ เพื่อทำความสะอาดประมาณ 15 ถึง 20 วินาทีต่อคน โดยสามารถทำความสะอาดและช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสบนร่างกาย และเสื้อผ้า ให้ถูกชะล้างออกไปได้ประมาณ 90% สำหรับหน่วยงานที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลแบบสำหรับนำไปผลิตใช้งานได้เอง

 

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ