พลันที่รังสิตโพลล์เปิดเผยผลการศึกษา ผลการสำรวจคะแนนนิยมของประชาชนว่าอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง เรื่องนี้กลายเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ มีการรายงานข่าวตามสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางทั้งทีวี วิทยุและใน social media มีทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมืองที่เห็นด้วยและที่ตั้งข้อสังเกต ส่วนบางคนคงโกรธผมพอประมาณ
ตลอดระยะเวลาเวลากว่า 30 ปีงานวิจัยของผมก็เป็นที่ถกเถียงว่าน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือมาโดยตลอด แต่งานวิจัยของผมมักถูกนำไปโยงกับการเมืองอยู่เสมอทั้งๆ ที่ไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นเลย งานวิจัยชิ้นแรกที่ผมทำร่วมกับอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรเรื่อง คอรัปชั่นกับประชาธิปไตย กลายเป็นข่าวใหญ่หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์อยู่ราว 3 อาทิตย์ ประเด็นที่ถกเถียงกันคือผมเห็นว่าพรรคการเมืองที่มาจากเจ้าพ่อท้องถิ่นและเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นคอร์รัปชั่นมากที่สุด ซึ่งคนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อ พวกเขาเชื่อว่าพรรคการ เมืองเป็นพลังขับเคลื่อนประชา ธิปไตย และเมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองนั้นประกาศฟ้องผมในข้อหาหมิ่นประมาททั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศในขณะนั้น เพราะเขาเชื่อว่าผมมีเจตนาร้ายต่อพรรคของเขา เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นเสรีภาพในทางวิชาการกับอำนาจทางการเมือง ผลลัพธ์ที่ดีประการหนึ่งของเรื่องนี้คือมีการบรรจุเรื่องเสรีภาพในการวิจัยและการทำงานวิชาการในรัฐธรรมนูญปี 2540 งานวิจัยชิ้นถัดมาที่ผมทำร่วมกับอาจารย์ผาสุกและอาจารย์นวลน้อย ตรีรัตน์ เรื่อง เศรษฐกิจนอกกกฎหมาย: หวย ซ่อง บ่อน ยาบ้า งานวิจัยชิ้นนี้ต้องการประมาณการขนาดของเศรษฐกิจผิดกฎหมาย 4-5 เรื่องเพื่อเปรียบเทียบกับ official GDP ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ทั้งสังคมสื่อมวลชนรายงานและวิพากษ์วิจารณ์กันใหญ่ เพราะงานวิจัยส่วนที่ผมรับผิดชอบคือเรื่องหวยใต้ดินและบ่อนการพนันผิดกฎหมายนั้น ผมไม่เพียงแต่ประมาณการขนาดของเงินหมุนเวียน (turnover) กำไรที่เกิดขึ้นแต่ผมยังแจกแจงว่าผลกำไรนั้นแจกจ่าย (distribution) กันอย่างไร ข้อเสนอของผมในขณะนั้นคือมีส่วยตำรวจเกิดขึ้น ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยในขณะนั้นมีคนจำนวนมากรู้ว่ามีส่วยตำรวจอยู่แต่เพราะอำนาจที่ล้นฟ้าของตำรวจที่กดทับสังคมเอาไว้ ทำให้ไม่มีใครกล้าพูดเพราะเกรงอันตรายต่อชีวิต ผลที่ติดตามมาจากงานวิจัยชิ้นนี้มีหลายประการคือ 1. ตำรวจส่งกำลังไปปิดล้อมบ้านผมเอาไว้เพื่อจะจับตัว 2. อธิบดีตำรวจออกคำสั่งให้ผู้กำกับทุกโรงพักทั่วประเทศแจ้งความดำเนินคดีผมในข้อหาหมิ่นประมาท 3. ความรู้ (knowledge)และความจริง (truth) ของสังคมไทยเรื่องส่วยตำรวจมาแทนที่ความจริงชุดเก่าที่ว่าตำรวจไม่ได้รับส่วยจากธุรกิจการพนัน 4. เมื่อสังคมตื่นตัวเรื่องนี้ขึ้นมาและผมประกาศยืนยันว่านี่เป็นงานวิจัย ใครจะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้เพราะงานวิจัยในตัวของมันเองไม่เคยมีความสมบูรณ์และผมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าอธิบดีตำรวจหมดความชอบธรรมในตำแหน่งแล้ว 24 ชั่วโมงหลจากนั้นอธิบดีตำรวจถูกสั่งย้ายให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะตั้งคำถามว่าในเมื่อมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ทำโพลล์อยู่แล้วมาเป็นเวลาหลายปีอย่างเนื่อง แต่โพลล์เหล่านั้นเพียงแต่ถูกรายงานในสื่อมวลชนแต่มักไม่มีการถกเถียงกันอย่างเอาจริงเอาจังเหมือนรังสิตโพลล์ ผมคิดว่ารังสิตโพลล์แตกต่างจากโพลล์ทั่วไปอย่างน้อย 2 ประการคือ
ประการแรก รังสิตโพลล์เป็นการทำโพลล์ตามหลักวิชา การจริง เพราะเราเอาโครงสร้างของประชากรทั้งประเทศที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเป็นฐาน มีการกระจายตัวอย่างตามภูมิภาค อาชีพ เพศ อายุ ระดับการศึกษาและอื่นๆ ระดับความเชื่อมั่นของเราสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ (เวลาออกข่าวถ่อมตัวว่า 90 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่โพลล์อื่นๆนั้นใช้ตัวอย่างระหว่าง 1,200-2,000 โดยประมาณ สำหรับผมแล้วนี่ไม่ใช่โพลล์ในความหมายของมันจริงๆ แต่น่าจะเรียกว่าเป็น การสำรวจทัศนคติ (attitude) ของคนจำนวนหนึ่งอาจจะเป็น 2,000-3,000คนในประเด็นหนึ่งๆเท่านั้น
ประการที่สอง โพลล์ทั่วไปนั้นเพียงแต่รายงานผลลัพธ์ของการศึกษาเท่านั้น แตกต่างจากรังสิตโพลล์ที่เรามีการวิเคราะห์และตีความประกอบกันไปด้วย ในการวิเคราะห์ผมเริ่มต้นจากการใช้ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี ( dialectical materialism)ของ Karl Marxนักปรัชญาชาวเยอรมันที่วิพากษ์ปรัชญาทั้งหมดในยุโรปก่อนหน้าว่าปรัชญาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เพียงเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ แตกต่างจากปรัชญาของเขาที่ไม่ใช่เพียงเพื่ออธิบาย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการเปลี่ยนแปลง Marxสร้าง ปรัชญาของเขาจากการวิพากษ์ปรัชญา dialectic ของ Hegel และวิพากษ์ปรัชญา materialism ของ Feuerbach สาระที่สำคัญประการหนึ่งของปรัชญาของ Marx คือเขาเสนอว่าเราไม่ควรให้ความสนใจกับ สถาบันด้านเศรษฐกิจการเมืองที่ดูเหมือนเข้มแข็งและมั่นคงแล้ว (establishment)ในทางตรงกันข้ามเขาเสนอว่าเราควรสนใจพลังที่กำลังเกิดขึ้นใหม่และกำลังจะเป็นพลังแห่งอนาคต แนวคิดในการวิเคราะห์แบบนี้จึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (tendency) มากกว่าการวิเคราะห์สถานการณ์ ณ จุดใดจุดหนึ่ง (static) แบบที่นักวิชาการไทยทั่วไปนิยมกัน
ในการวิเคราะห์ผลของโพลล์ผมจึงพิจารณาจากแนวโน้มคะแนนนิยมของผู้นำพรรค คะแนนนิยมของพรรคและการผลิตสร้างนโยบายพรรคใหม่ๆของแต่ละพรรค อย่างไรก็ดีผมอยากจะกล่าวว่าขณะนี้มีแต่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่เริ่มทะยอยประกาศนโยบายพรรคออกมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พรรคอื่นๆยังไม่ได้ประกาศนโยบายพรรคของพวกเขาเลย ตลอดเวลาก่อนถึงวันเลือกตั้งคะแนนนิยมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีและคะแนนนิยมพรรคยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากมีเหตุปัจจัยสำคัญแทรกซ้อนเข้ามา แต่หากแนวโน้มคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐยังมีแรงขับเคลื่อนเหมือนกับในขณะนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็หลีกเลี่ยงได้ยาก ทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งกรรมมีเกิดมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา พรรคการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับคะแนนนิยมสูง จนดูเหมือนว่าจะได้ครอบครองอำนาจตลอดไป แต่ในขณะนี้ได้เกิดพลังที่ใหม่กว่า กระชุ่มกระชวยกว่า มีพลานุภาพเหนือกว่า เอาชนะใจคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นก่อน ดูเหมือนว่าผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าได้ถูกตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว
จากผมเอง สังศิต พิริยะรังสรรค์
5 ธันวาคม พ.ศ. 2561
"