วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ร่วมกับ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม จัดกิจกรรม RSU Life Diversity : Pride and Proud Show Case นำเสนอผลงานการจัดโครงการดีดีเพื่อสังคมของนักศึกษาและเสวนาการจัดการเรียนการสอนของโค้ชในรายวิชา RSU111 สังคมธรรมาธิปไตย ณ อาคาร Digital Multimedia Complex (อาคาร 15) มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ.ดร.กฤษณ์ ทองเลิศ คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “Diversity” คำนี้เป็นคำที่มีความหมายดี ทำไมถึงต้องมีความหลากหลาย ปกติคำนี้เราจะเจอในสายวิทยาศาสตร์ ที่พูดถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ยุคนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนจากความคิดที่เป็นแบบปล่องควันโรงงานมาสู่สายใยที่เป็นเรื่องของชีวิตของมนุษย์ เพราะฉะนั้นพอเราพูดถึง Diversity หมายความว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ โลกใบนี้ประกอบไปด้วยความหลากหลายและความหลากหลายที่ว่านี้ แต่ละชีวิต แต่ละคน จะมีความถนัด มีความรัก มีความชอบ ไม่เหมือนกัน ท่ามกลางความหลากหลายนี้ จนถึงงานชิ้นนี้ในกิจกรรมที่ทั้ง 2 คณะได้ร่วมจัดด้วยกัน พวกเรามาแชร์กัน เรายอมรับว่าธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ต่อให้ Perfect แค่ไหน มันก็จะมีส่วนที่เป็น Missing piece บางชิ้นเล็กๆ และสิ่งที่เป็น Missing piece เล็กๆ ตัวนี้ มันคือสิ่งที่แต่ละคนจะแสวงหา แล้วแต่ละคนแสวงหาไม่เหมือนกัน เมื่อเรามาเจอกัน เรามาทำงานด้วยกัน มีการแบ่งปัน มีการ Sharing กัน ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่าประสบการณ์ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการเรียนวิชานี้กับโค้ชทั้งหลายได้เป็นรากฐานที่สำคัญในการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต
ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วิชาธรรมาธิปไตย เป็นรายวิชาที่ริเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างบัณฑิตที่สามารถทำงานเป็นทีมกับคนอื่นได้ คิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์เป็น มีทักษะด้านการทำงานประสานกับคนอื่น และมีคุณลักษณะของ Leadership ซึ่งวิชาวิชาสังคมธรรมาธิปไตยได้เดินทางมากว่า 10 ปีแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายจังหวะด้วยกัน ตั้งแต่ถูกตั้งคำถามว่าวิชานี้สอนให้คนเป็นคนดีได้จริงหรือ และรายวิชาดังกล่าวนี้ได้ออกแบบวิชานี้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะและความสามารถของนักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และมีความเป็นผู้นำ โดยในการได้ดำเนินงานร่วมกันทั้งของวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมและวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่นักศึกษาทั้ง 2 คณะได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ไปพร้อมกัน โดยมีนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเสน่ห์ของวิชานี้ เป็นวิชาที่ทำให้นักศึกษาได้มีเพื่อนมีสังคมใหม่ และก็มั่นใจว่าสังคมที่เขาอยู่และใช้ชีวิตต่อจากนี้ไปเป็นสังคมที่เขาร่วมออกแบบได้ นี่คือความสำเร็จของรายวิชานี้
นางสาวสุพิชฌา ทิสมบูรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาการสื่อสารการตลาดและแบรนด์ดิ้ง วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการร่วมกิจกรรมในรายวิชาดังกล่าวนี้ ทำให้เราเรียนรู้การวางแผนและการจัดการที่มีระบบมากขึ้น สมาชิกทุกคนมีหน้าที่แบ่งงานกันชัดเจน ทำให้งานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งยังสอนวิธีการพัฒนาสังคมในแบบที่คนตัวเล็กๆ อย่างเราสามารถทำได้ เพราะเราเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่มีผลต่อสังคมของเราเอง นอกจากนี้ การได้ทำโครงการต่างๆ ในรายวิชานี้ทำให้รู้ว่าแม้จะทำในเรื่องที่ใครอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่สิ่งที่เราทำนั้นสามารถพัฒนาสังคมนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
นางสาวกชกร ผ่องแผ้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ทำให้นักศึกษาได้ลงไปช่วยเหลือสังคม ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงนอกห้องเรียนและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งการทำงานร่วมกับผู้อื่น จะสอนให้เรามีทักษะการเป็นผู้นำ การสื่อสาร การแสดงความคิดเห็น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น เพราะทุกการทำงานประกอบไปด้วยคนหลายประเภท พวกเราจึงได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากัน สื่อสารกันมากขึ้น เมื่อพบปัญหาก็จะช่วยกันแก้ไข เพื่อให้งานสามารถขับเคลื่อนไปได้จนประสบผลสำเร็จ นอกจากจะได้ช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังได้ประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานครั้งต่อไปอีกด้วย
กิจกรรมดีๆ ในครั้งนี้เป็นการนำร่องการสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกันของคณะวิชาที่อยู่ภายใต้กลุ่มมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ ซึ่งจะมีกิจกรรมดีๆ ตามมาอีกในอนาคต รอติดตามกันได้เลยจ้า
"