เปิดเรียนรูปแบบออนไซต์แล้ว วันนี้เราจึงมีโอกาสได้เห็นบรรยากาศมหาวิทยาลัยของเราได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ได้พบเจอกับน้องๆ เฟรชชี่จากทุกคณะ และวิทยาลัย พบหน้าเจอตัวกันเป็นๆ และทำให้เราได้เจอกับเฟรชชี่จากวิทยาลัยนานาชาติ สาวน้อยน่ารักสดใสอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น ที่เมื่อได้พูดคุยแล้วนั้น รู้สึกได้เลยว่า เธอเป็นอีกหนึ่งวัยรุ่นยุคใหม่ที่ Open Up อย่างน่าชื่นชม
นางสาวอรรณา อนุภูมิชัยยา (เอวา) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชา International Business วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เอวาเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และตัดสินใจเลือกเรียนต่อระบบ Home School ในระดับชั้นมัธยมปลาย และสอบเทียบเข้าระดับมหาวิทยาลัยด้วยระบบ GED (General Educational Development) ที่สำคัญปัจจุบันน้องเอวาอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น!

“เอวาสนใจเกี่ยวกับการคำณวน เรื่องของตัวเลข ชอบฟังเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ จึงหาข้อมูลมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านธุรกิจ และเป็นหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งก็มีไม่กี่มหาวิทยาลัยที่จะตอบโจทย์ แต่ที่เอวาเลือกมหาวิทยาลัยรังสิต แม้จะมองหาตัวเลือกที่อื่นด้วย ก็อาจเพราะเราคุ้นเคย คุ้นเคยในที่นี้หมายถึง ฟังจากครอบครัวค่ะ ที่บ้านมีศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยนี้หลายคนค่ะ เวลาถาม เขาก็จะเล่าให้ฟังว่าตอนที่เรียนอยู่เป็นยังไง เหมือนเราสัมผัสได้ถึง Feeling ว่ามันต้องดีแน่ๆ จึงตัดสินใจมาสมัครเรียน ที่สำคัญเมื่อได้สอบถามลึกลงไป ก็ได้ทราบว่า หากเราเรียนจบแล้ว ทางมหาวิทยาลัยมี MOU กับบริษัท BITKUB เราสามารถที่จะขอทุนได้ นอกจากนี้ ยังมี Double Degree อีกด้วย เรียกได้ว่าเรียนไปเราก็มีทางเลือกที่จะขยับขยายฐานความรู้และประสบการณ์ของตัวเองไปต่อได้ แล้วยิ่งยุคสมัยนี้ ทำให้วัยรุ่นอย่างเราได้เรียนรู้ตลาดหุ้นด้วย ดังนั้นพื้นฐานความสนใจด้านนี้ก็เอามาต่อยอดกับการเลือกเรียนสะเลยค่ะ สิ่งแรกกับแผนชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเอวา ไม่เพียงต้องการเรียนให้จบ แต่เอวาต้องการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญให้มากๆ จะได้นำมันมาประยุกต์ใช้กับความสนใจของเอวา เพราะที่นี่ไม่เพียงอาจารย์ที่จะคอนสอนเราเท่านั้น ยังจะมีวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญมากมายที่จะตบเท้าเข้ามาสอนค่ะ อันนี้เอวารู้เพราะว่ารุ่นพี่และอาจารย์เคยแนะนำไว้ตอนที่สมัครเรียนค่ะ และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับนักศึกษาคนไทยอย่างเรา เมื่อเรียนอินเตอร์ ก็แน่นอนว่าจะได้ใช้ภาษา และได้ฝึกภาษาตลอดระยะเวลาที่เรียน เนื้อหาหลักสูตรก็เป็นภาษาต่างประเทศ และเพื่อนๆ ในห้องเรียนก็มาจากหลายประเทศด้วยค่ะ ภาษาและการได้เรียนรู้ Culture จากเพื่อนๆ นั้น มันหาไม่ได้จากที่ไหน สำคัญมากสำหรับคนที่ต้องการจะทำงานด้านระหว่างประเทศค่ะ สมมติผ่านไป 4 ปี เอวาก็อยากช่วยงานที่บ้าน และทำงานเกี่ยวกับพวกตลาดหุ้นค่ะ และก็อาจจะเรียนต่อด้วยค่ะ ในหลักสูตรการเรียนก็จะมีให้ไปฝึกงานด้วย เชื่อไหมคะว่าเอวาก็มีแพลนเอาไว้แล้วด้วยว่าอยากฝึกงานที่ไหนบ้าง สำหรับตลาดที่น่าสนใจตอนนี้เอวาก็อยากได้เข้าฝึกงานเรียนรู้เกี่ยวกับบริษัทรถต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น BMW BENZ หรือว่า TESLA บริษัทเกี่ยวกับตลาดหุ้นก็น่าสนใจค่ะ ซึ่งก็ต้องไปลองส่งประวัติสมัครอีกทีค่ะ
กิจกรรมยามว่างของเอวา เธอมักจะอ่านหนังสือ อ่านวรรณกรรมต่างประเทศ และศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับตลาดหุ้น เมื่อปรับเปลี่ยนโหมดจากนักเรียนเป็นนักศึกษาแล้ว มีสิ่งใดบ้างที่เธอมองว่าเป็นความแตกต่างของสองสถานะนี้

“ด้านวิธีการเรียนแน่นอนว่าจะต้องปรับตัวค่ะ เพราะนักศึกษาจะต้องบริหารจัดการเวลาของตัวเองทั้งหมด การเลือกลงทะเบียนเรียน การจัดเลคเชอร์ การทำกิจกรรม และยังมีกิจกรรม งานอดิเรกของตัวเองอีกด้วย หากเราวางแผนไม่ดี เรียนไม่เด่น เล่นไม่เป็นเวลา มันจะกระทบกันได้ค่ะ ดังนั้น Work Life Balance น้องปีหนึ่งก็จะได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ หากติดเล่นมากไป Enjoy กับชีวิตเฟรชชี่มากไป ก็อาจจะมีผลกระทบได้”
มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะด้านหลักสูตรการเรียนการสอน หรือความอบอุ่นระหว่างชาวมหาวิทยาลัยรังสิตด้วยกัน
“สำหรับใครที่ยังเปรียบเทียบระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน หากจัดประเภทของมหาวิทยาลัยเอาไว้ในใจก็อาจจะเลือกตามที่เราสะดวกใจ ในมุมมองของเอวาเอง มองว่ามหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยที่น่าชื่นชม ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยก็สมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้าน ด้านสังคม ศิลปวัฒนธรรม ด้านมนุษยศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี และด้านการต่างประเทศ ศิษย์เก่าแต่ละคณะ แต่ละรุ่นที่จบออกไปก็เจ๋งๆ หลายคนเลยค่ะ ที่สำคัญ เอวามีทุกวันนี้ได้ Attitude มุมมอง และไลฟ์สไตล์ที่ได้เป็นตัวของตัวเองก็มาจากครอบครัวที่เปิดกว้างให้กับเอวา ปะป๊าจะสอนเสมอว่า อยากทำอะไรให้บอก ขอแค่ให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบ พร้อมสนับสนุนให้ลอง ถามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร เอวามองว่าเพราะปะป๊าก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่ และมักจะชื่นชม วิสัยทัศน์ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เสมอ นั่นทำให้เอวาได้เหมือนรู้จักบุคคลท่านนี้ไปด้วยจากเรื่องเล่าและคำชื่นชมของปะป๊าค่ะ”
"