นักศึกษาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเรียนรู้ประสบการณ์ (Hands-on Experience) ด้วยการเป็นสต้าฟในการประชุม IT&CMA (IT&CM Asia and CTW Asia-Pacific 2022) งานแสดงสินค้าและบริการด้านการจัดประชุมและการท่องเที่ยว เพื่อเป็นรางวัลที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ ภายในงานมีการเจรจาทางธุรกิจด้านการประชุมนานาชาติ และการท่องเที่ยวในคูหานิทรรศการของประเทศต่าง ๆ รวมทั้ง งานสัมมนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการประชุมและการเดินทางธุรกิจ ซึ่งจัดโดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็ป ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์
Kay Thwe San
Kay Thwe San นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชา International Business วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ทราบข่าวจากอาจารย์ที่วิทยาลัยเกี่ยวกับการสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมเป็นสต้าฟในการประชุมดังกล่าว รู้สึกสนใจจึงได้สมัคร ส่งประวัติ สอบสัมภาษณ์ และผ่านการคัดเลือก สำหรับการเข้าร่วมเป็นสต้าฟในงานประชุมครั้งนี้ ตนได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม ก่อนเริ่มปฏิบัติภารกิจ พวกเราทุกคนสมัครและผ่านการคัดเลือกได้มีการพูดคุยกัน เนื่องจากต้องเตรียมตัวเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมด้วย โดยได้มีการปรึกษาอาจารย์ และรุ่นพี่ที่เคยผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมว่าควรต้องจัดเตรียมอะไร อย่างไรบ้าง สิ่งที่ตัวฉันเองคาดหวัง ไม่เพียงประสบการณ์ที่แน่นอนว่าต้องได้รับมากมาย ฉันยังต้องเรียนรู้ และคอยสังเกตดูด้วยว่า การจัดอีเวนท์ใหญ่ๆ เช่นนี้ เขามีระบบการบริหารจัดการกันอย่างไร จริงๆ แล้ว นับเป็นความท้าทายมากๆ ที่ได้ร่วมปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันมากมายร่วมกับเพื่อนๆ ทุกคน อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญสำหรับฉันคือ การได้ร่วมงานกับ Project Manager ของอีเวนท์ในครั้งนี้ เธอมาจากประเทศสิงคโปร์ พวกเรานักศึกษาทุกคนได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากทีมใหญ่ของพวกเขา เป็นการทำงานที่ต้องตรงไปตรงมา เต็มเปี่ยมไปด้วยจรรยาบรรณ นอกจากนี้ ก็ยังได้พบกับนักธุรกิจมากมาย เมื่อได้เรียนรู้ ได้ฟัง ได้เห็นอะไรเหล่านี้ บอกได้เลยว่า เป็นการเปิดโลกทัศน์ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจกับตัวเองได้ดีทีเดียว ทักษะที่ได้นำมาใช้ในการทำงานครั้งนี้ สิ่งแรกการจัดการและการบริหารทีมเมื่อเราต้องทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ การสื่อสารสำคัญมาก เราต้องสื่อสารออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคก็มีเกิดขึ้น บทบาทของทุกคนจะถูกกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว และแน่นอนว่าในฐานะหัวหน้าทีม ก็ต้องตัดสินใจอย่างแม่นยำ รวดเร็ว ดังนั้นการ เพื่อให้งานสามารถเดินหน้าต่อไปได้
Saw Nine Peter Htoo
Saw Nine Peter Htoo นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชา Civil Engineering วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นอกจากการปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแล้ว ระหว่างการทำงานก็ยังได้เก็บเกี่ยวความรู้จากการสัมมนาด้วย วิทยากร และผู้ร่วมเสวนาได้ถ่ายทอดเรื่องราวปัญหา และอุปสรรค ที่น่าสนใจด้วย บทบาทสำคัญของอุตสาหกรรม MICE จะเน้นย้ำเรื่องของการตระหนักรู้ และการเตรียมความพร้อมบริหารจัดการกับเรื่องของสภาพภูมิอากาศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น
“ในฐานะนักศึกษาที่มีส่วนร่วมในภารกิจครั้งนี้ รู้สึกภูมิใจ และขอบคุณโอกาสดีๆ เช่นนี้จากวิทยาลัย เพราะการสั่งสมประสบการณ์นอกห้องเรียนเป็นอะไรที่มีประโยชน์ เรียนรู้การได้ร่วมงานกับผู้อื่น อย่างครั้งนี้ ทีมงานจะมีสรุปงานให้นักศึกษาช่วยงานเกี่ยวกับกิจกรรมทั้งหมด และแบ่งหน้าที่กันว่าใครทำอะไร พวกเราจะต้องอ่านหลักเกณฑ์ และเตรียมตัวด้านข้อมูลของงานอย่างแม่นยำ บทบาทของฉันจะต้องโต้ตอบกับทีมงาน และดูแลแขกที่มาร่วมงาน นั่นหมายถึงว่า ภาษาที่ใช้ ทักษะด้านการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การควบคุมอารมณ์ การบริหารเวลา และความรู้ในข้อมูลต่างๆ จากการเตรียมตัวในเรื่องเหล่านี้ทำให้ฉันได้ฝึกฝนมากขึ้น ได้ความรู้รอบตัวมากขึ้นด้วย เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากๆ เลย”
"