คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดคลังสินค้าจำลอง RBS WAREHOUSE สำหรับการเรียนการสอนในกลุ่มวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชนชั้นนำ ในการสนับสนุนด้านการปฎิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถด้านการประกอบอาชีพตรงความต้องการของตลาดแรงงาน
![](/Upload/images/vi/RBS%20WAREHOUSE/DSC_0405.JPG)
![](/Upload/images/vi/RBS%20WAREHOUSE/DSC_0246.JPG)
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต คุณกมลนัย ชัยเฉนียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ดร สุกฤษฎิ์ ลิมโพธิ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานกลยุทธ์และวางแผน บ.ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ จำกัด ผศ.ดร.รุจาภา แพ่งเกษร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมด้วยคณะผู้บริหาร และคณาจารย์ ร่วมเปิดงานและเสวนา รวมทั้งเปิดให้แขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมชมคลังสินค้าจำลอง RBS WAREHOUSE และเยี่ยมชมบริษัทจำลอง RBS Mart
![](/Upload/images/vi/RBS%20WAREHOUSE/555.png)
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขอขอบคุณ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่ให้ความร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ในการสนับสนุนส่วนงานต่างๆ และกิจกรรมของนักศึกษาในสถาบันการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้เข้าใจในโลกแห่งความเป็นจริงของทำงาน ไม่ใช่แค่เข้าใจเพียงแต่ทฤษฎี แต่เข้าใจในแง่ปฏิบัติงานพร้อมกันไปด้วย และการที่มีคลังสินค้าจำลอง RBS WAREHOUSE เป็นสิ่งที่ดี ทำให้นักศึกษาได้เข้าใจการทำงานด้านโลจิสติกต์ เกี่ยวกับการขนส่งในธุรกิจต่างๆ ว่าจะต้องมีการขนส่งที่ดี ทั้งด้านการจัดเก็บสต็อก การบริหารทรัพยากรให้คุ้มค่า เป็นต้น
![](/Upload/images/vi/RBS%20WAREHOUSE/DSC_0236.JPG)
คุณกมลนัย ชัยเฉนียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้มีโครงการความร่วมมือกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต มาโดยตลอด รวมทั้งโครงการ Education Institute Support Activity (EISA) โดยเป็นมหาวิทยาลัยแรกๆ ที่เราเข้าร่วมโครงการด้วย และยังได้มีโอกาสในการร่วมมือเปิดบริษัทจำลอง RBS Mart ซึ่งเราอยากให้นักศึกษาได้มีโอกาสทดลองทำจริง ได้ประสบการณ์จริง โดยมองว่าการศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่ความรู้ภาคทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องปฏิบัติเป็นด้วย จึงจะสามารถทำงานได้ดี ตรงตามเป้าหมายของบริษัท โดยที่ผ่านมาโครงการ EISA ได้เข้ามามีส่วนร่วมหลายส่วนเพื่อที่จะทำให้นักศึกษาสามารถ เตรียมความพร้อมเพื่อที่จะสามารถเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ หรือประกอบอาชีพส่วนตัวได้ และจากกิจกรรมการให้การสนับสนุนดังกล่าวข้างต้น ทางโครงการ EISA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะคนกลุ่มนี้คือทรัพยากรที่สำคัญในการขับดันการพัฒนาของประเทศทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคมที่ดีต่อไปในอนาคต
![](/Upload/images/vi/RBS%20WAREHOUSE/6661.png)
ดร.สุกฤษฎิ์ ลิมโพธิ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานกลยุทธ์และวางแผน บ.ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติกส์ จำกัด กล่าวเกี่ยวกับทิศทางการต้องการแรงงานทางด้านโลจิสติกส์ว่า ตลาดแรงงานทางด้านนี้จะเติบโตมากกว่า 30% ตลาดแรงงานต้องการบุคลากรในหลายส่วนงาน อาทิ ผู้บริหารด้านโลจิสติกส์ซึ่งมีความต้องการสูง เจ้าหน้าที่คลังสินค้า เจ้าหน้าที่เติมสินค้า เจ้าหน้าที่วางแผนขนส่ง เจ้าหน้าที่ไอทีที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติของบุคลากรในสายงานด้านนี้ ต้องมีทั้งส่วนที่เป็นซอฟต์สกิล (วินัยการทำงาน จิตใจในการให้บริการ) และฮาร์ดสกิล (ศาสตร์ทางด้านโลจิสติกส์) นับได้ว่า การร่วมมือกันทั้งสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจ จะสามารถทำให้ผลิตบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของตลาด
![](/Upload/images/vi/RBS%20WAREHOUSE/DSC_0364.JPG)
![](/Upload/images/vi/RBS%20WAREHOUSE/DSC_0031.JPG)
![](/Upload/images/vi/RBS%20WAREHOUSE/DSC_0418.JPG)
"