คณะบริหารธุรกิจ ม.รังสิต จัดโครงการประกวดแผนธุรกิจ “RBS Creative Innovation Start-up”

03 Dec 2018


         คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการประกวดแผนธุรกิจ Rangsit Business School (RBS) Creative Innovation Start-up เพื่อส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักศึกษาจากการเรียนรู้และลงมือทำ ภายในงานนอกจากมีการแข่งขันเขียนแผนธุรกิจของนักศึกษาแล้ว ยังมีการทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของสินค้าหรือ บริการต้นแบบต่างๆ และการออกบูธโชว์สินค้าต่างๆ จำนวน 26 ทีม โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.รุจาภา แพ่งเกษร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธานเปิดงาน และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกในการร่วมเป็นกรรมการตัดสินแผนธุรกิจและให้คำแนะนำแก่นักศึกษาในการนำไปใช้ประกอบการทำธุรกิจได้จริง ได้แก่ ดร.พยัต วุฒิรงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดร.ศุภฤกษ์ อร่ามกิจโพธา ผู้จัดการเขตการขาย ฝ่ายตลาดรัฐและอุตสาหกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ คุณคณวัฒน์ อัศวฉัตรโรจน์ Marketing Manager บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วม 344 คน จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต


          3 คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 

         

        สำหรับผลการแข่งขันการประกวดแผนธุรกิจทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ 5 ทีม จากทั้งหมด 26 ทีม ได้แก่

- รางวัลชนะเลิศ : ทีม CoCoDee การแปรรูปมะพร้าวเป็นกะทิใช้แทนนมข้น


 

- รางวัลรองอันดับ 1: ทีม Smart Farm แอพพลิเคชั่นสินค้าการเกษตร


- รางวัลรองอันดับ 2 : ทีม Venita น้ำหอมสกัดจากดอกไม้ไทย 100%

- รางวัลชมเชย : ทีม Karava : แอบพลิเคชั่นรวมบริการต่างๆ

- รางวัลชมเชย : ทีม We share we care รถเข็นไฟฟ้าบริการผู้สูงอายุ


         ดร.เฉลิมพร เย็นเยือก หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นโครงการฯ ที่ทางคณะจัดขึ้นทุกภาคการศึกษาสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ที่เรียนมาตลอดระยะเวลา 4 ปีมาประยุกต์ใช้ โดยฝึกฝนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่น การนำไอเดียมาประยุกต์ใช้เขียนแผนงาน การทำการวิเคราะห์ และลงภาคปฎิบัติจริง ตั้งแต่การสำรวจตลาด การทดลองผลิตสินค้าต้นแบบ และการออกบูธ ทำอีเวนท์เพื่อขายสินค้าและบริการ โดยในโครงการดังกล่าวได้พัฒนารูปแบบกิจกรรมให้มีความหลากหลาย อาทิ การจัดประกวดแผนธุรกิจประเภทต่างๆ ของนักศึกษา การจัดแสดงโครงงาน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยนักศึกษา และผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพ เพื่อสร้างความสนใจในวงกว้าง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการประยุกต์ความรู้ให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมและส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 (Creative Business in Thailand) โดยในครั้งนี้ได้กำหนดหัวข้อหลัก (theme) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนธุรกิจ คือ Creative Innovation Start-up


         นางสาวณิชาภา วิเศษเสาร์ นักศึกษาสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนทีม CoCoDee การแปรรูปมะพร้าวเป็นกะทิใช้แทนนมข้น รางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์กะทิข้นหวาน ซึ่งแปรรูปมาจากมะพร้าวโดยใช้มะพร้าวแทนนม เกิดจากไอเดียการเห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัวอย่างกะทิ เพราะไม่ว่าจะอาหารคาวหรือหวานก็จะนำกะทิมาใช้เป็นส่วนประกอบ และได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยได้ดึงเอกลักษณ์และข้อดีและนำกะทิมาต่อยอดกับการทำผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ให้ทุกคนสามารถรับประทานได้ในทุกเวลา ทั้งยังเป็นการนำผลิตผลมะพร้าวของประเทศมาสร้างคุณค่าโดยนำมาพัฒนาและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกรอีกด้วย ทั้งนี้ จุดเด่นของ ผลิตภัณฑ์กะทิข้นหวาน CocoDee ให้พลังงานต่ำ เพราะเรานำสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมาใช้ ซึ่งแตกต่างจากนมข้นหวานทั่วไปที่ใช้น้ำตาลจึงให้พลังงานต่ำกว่าถึงครึ่งหนึ่ง และผลิตภัณฑ์จะเน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติจึงไม่มีการเติมวัตถุกันเสีย ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนับว่าเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่มีการนำเอากะทิมาใช้แทนนม ซึ่งกะทิถือเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงมีไขมันอิ่มตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและยังปราศจากไขมันทรานส์อีกด้วย กับรางวัลชนะเลิศที่ได้มาในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ความภูมิใจแต่คือก้าวสำคัญของการเริ่มทำธุรกิจต่อไป


         นายทัตพงศ์ อรัญภูวนารถ สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนทีม Smart Farm แอพพลิเคชั่นสินค้าการเกษตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นดังกล่าวนี้เป็นตัวช่วยเกษตรกรที่แปรรูปสินค้ามาขายในแอพพลิเคชั่นนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาจากการสำรวจข้อมูลพบว่า เกษตรกรถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาและขายสินค้าทางการเกษตรได้ต่ำกว่าราคาในท้องตลาดทำให้รายได้ลดลง ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียว่าแอพพลิชั่นนี้ให้สามารถช่วยเกษตรกรสามารถแปรรูปสินค้าได้ เช่น มะม่วง มะเขือเทศ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทาง และเพิ่มช่องทางขายในแอพฯ นี้ ซี่งจากการรีเสิร์ชข้อมูลแอพพลิเคชั่นอื่นจะเป็นลักษณะการขายสินค้าทางการเกษตร และจุดเด่นของแอพ Smart Farm คือมีการสอนแปรรูปผลิตภัณฑ์ในทุกเดือน ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าในแอพที่ต้องการให้สอน โดยในส่วนของการต่อยอดการทำแอพพลิเคชั่นนี้ภายหลังเรียนจบอาจจะไปเสนอกับทางธนาคารเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจต่อไป โครงการประกวดเผนนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นและก้าวสำคัญในการทำธุรกิจและเป็นผู้ประกอบการอย่างมืออาชีพได้ในอนาคต


"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ