นักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ออกหน่วยให้บริการทันตกรรมชุมชน หนึ่งในกิจกรรมนอกห้องเรียนอีกมิติหนึ่งของการบริการทันตกรรมเชิงรุก


อ.ทญ.ศศิพิมล จันทร์รัตน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางวิทยาลัยฯ ได้จัดกิจกรรมออกหน่วยให้บริการทันตกรรมชุมชน โดยได้มองหาชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ได้ออกมาเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์มีความร่วมมือร่วมกับเทศบาลเมืองท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี ในเรื่องของบริการทันตกรรมและถอนฟัน โดยครั้งนี้มาให้บริการทันตกรรมป้องกันในเด็กเล็ก ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองท่าโขลง ระดับชั้นอนุบาล 1-3 และโรงเรียนเทศบาลท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ นักศึกษาจะได้เห็นอีกมิติหนึ่งในเรื่องของการให้บริการทันตกรรมเชิงรุก มากกว่าการตั้งรับอยู่ที่คลินิกอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นประสบการณ์หนึ่งที่เขาจะได้เรียนรู้ในการให้บริการทันตกรรมเด็กและได้สัมผัสกับคนไข้เด็กเล็ก
“สำหรับการให้บริการครั้งนี้คือการเริ่มต้นโมเดล ที่เราได้รับความร่วมมือจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ และโรงเรียนเทศบาลท่าโขลง เป็นอย่างดี นักศึกษาเองก็ชอบที่จะมาให้บริการ บางคนมาแล้วหลายรอบ ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายการให้บริการไปในโรงเรียนประถม หรือชุมชนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะพัฒนาการออกหน่วยในลักษณะนี้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนต่อไป” อ.ทญ.ศศิพิมล กล่าวเสริม

ด้าน นายวีรวัชร โจภัทรกุล (วี) นักศึกษาชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งแรก ได้ใช้วิชาที่เรียนค่อนข้างเยอะ เด็กบางคนผู้ปกครองไม่มีเวลาพามาหาหมอฟัน ก็เหมือนเราได้มาให้บริการทางทันตกรรมข้างนอก ได้เห็นว่ายังมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการรักษา เรารู้สึกว่าต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้คนไข้มากขึ้น ในการทำทันตกรรมสำหรับเด็กนั้นจะเป็นทันตกรรมที่ไม่ใช่แค่การทำฟันเด็ก แต่เกี่ยวข้องกับการจัดการพฤติกรรมของเด็กด้วย ผมมองว่าเป็นโอกาสดีที่คณะจัดให้บริการชุมชนแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะพยายามเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชน ในครั้งนี้เช่นเดียวกันทำให้เราได้มีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนที่ปกติเราอาจจะไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงตรงนี้ครับ


นางสาวภูษณิศา วิบูลย์วุฒิวงศ์ (จุ๊บแจง) นักศึกษาชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ส่วนใหญ่น้องๆ ที่มารับบริการในคลินิกวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ จะมีหลายช่วงวัย ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา แต่มาที่นี่ได้เจอแต่น้องเด็กเล็ก และเป็นครั้งแรกที่น้องๆ เจอหมอฟัน ซึ่งเราเองก็ได้เจอความหลากหลายที่แตกต่างจากในคลินิก

“วันนี้มาให้บริการทาฟลูออไรด์ให้แก่น้องๆ เพื่อป้องกันฟันผุ โดยส่วนตัวรู้สึกชอบที่ได้มาช่วยเหลือชุมชน ได้ร่วมปลูกฝังเด็กเล็กโดยให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพฟัน และสอนให้เขาทำในสิ่งที่ถูกตั้งแต่แรกค่ะ” นางสาวภูษณิศา กล่าวเพิ่มเติม

"