หลายคนคงคุ้นกับสุภาษิตที่ว่า “ครูเปรียบเสมือน "เรือจ้าง” อาจารย์ก็เช่นกันเปรียบเสมือนเรือจ้างที่ยังคงคอยนำพานักศึกษาข้ามฝั่งให้ถึงฝัน หากแต่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปนอกจากเรือจ้างแล้วครูอาจารย์ยังถูกเปรียบเหมือนกับปูชนียบุคคลที่เป็นที่เคารพต่างๆนานาตามแต่นักเรียนนักศึกษาจะให้นิยามแก่ครูอาจารย์ของเขา สำหรับที่มหาวิทยาลัยรังสิตมักมีนิยามใหม่ๆ ฉบับอาจารย์ 4.0 ว่า “เป็นอาจารย์ยุคใหม่ต้องทำตัวเหมือน “Seven-Eleven” เปิดตลอด 24 ชั่วโมง”
.JPG)
อาจารย์อาจารย์ปรเมศ ผลรัฐธนาสิทธิ์ หรือ อาจารย์ปอ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่เรียกว่าเป็นที่นิยม (Popularity) ในหมู่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของคณะนี้ ความนิยมในที่นี้ขอนิยามว่าเป็นที่รักและเคารพมาก เมื่อเอ่ยถามเด็กๆชื่อ อาจารย์ปอ จะถูกพูดถึงเป็นชื่อในลำดับต้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะใจดี หน้าตาดี หากเป็นเพราะความเมตตากรุณาที่ทำให้พวกเขาสัมผัสและรับรู้ได้ว่าอาจารย์คนนี้เปรียบเสมือนญาติที่เขารักอีกคนหนึ่งนั่นเอง
สำหรับ อาจารย์ปอ เป็นศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยรังสิตนี่แหละ จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 13 และไปเรียนต่อด้านสถาปัตย์ฯอีกใบในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เหตุผลที่ว่าทำไมอยากเป็นสถาปนิกนั้น อาจารย์ปอให้คำตอบง่ายๆว่า “อยากสร้างบ้านในแบบของตัวเอง ครอบครัว และคนอื่นๆที่เขามีความต้องการแบบบ้านในแบบของเขาจริงๆ จึงคิดว่าคณะนี้แหละที่จะทำให้ฝันเป็นจริงแน่นอน” แต่ด้วยเป็นคนเรียนไม่เก่งมากจึงคิดว่าตัวเองอาจจะสอบเอนทรานส์ไม่ติดในคณะดังๆ และเกรงว่าจะไม่ได้เรียนอย่างที่อยากเรียน ที่สำคัญก็อยากจะปลดแอกค่านิยมสมัยนั้นที่นิยมเรียนรัฐบาลมากกว่า แต่การตัดสินใจในวันนั้นจึงทำให้ได้เรียนสิ่งที่ใช่และสิ่งที่ชอบในสายนี้ที่นี่ ‘ถาปัตย์รังสิต
.JPG)
“ด้วยความที่ผมเรียนจบสายช่าง ช่วงแรกๆก็ไม่คุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมต่างๆ คิดว่ามาแค่เรียนแล้วก็พอ ไม่สนใจเรื่องความเป็นมาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำกิจกรรมอะไรเยอะแยะ พอนานไปความสุข ความสนุกสนานเป็นกันเองของเพื่อนๆ พี่ๆ และอาจารย์มันได้กลืนเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เราเริ่มใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยมากขึ้น อินเนอร์มาเต็มการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมบ่อยครั้งขึ้นทำให้เราเข้าใจว่ามันมีความหมายและมีประโยชน์ต่อตัวเราอย่างไร จนติดมาจนทุกวันนี้และถ่ายทอดและส่งต่อรุ่นต่อไป สิ่งนี้คือสิ่งที่สถาปัตย์รังสิตเป็น มันมีเสน่ห์มากทำให้ไม่มีใครรู้สึกเลยว่าเราเป็นเอกชน ไม่รู้สึกว่าเราต้องเรียนเพื่อเกรดเพื่อคะแนนอย่างเดียวเราเรียนเพื่อรู้จริงๆ อาจารย์ให้อะไรเรามากกว่าที่คิดไม่ใช่แค่ในห้องเรียนแล้วแต่มันอยู่เต็มไปหมด ผมรู้สึกได้ว่าและคิดว่ารุ่นอื่นๆก็รู้สึกเช่นกัน”
.JPG)
อาจารย์ปอเล่าว่า เรียนที่นี่ก็ไม่ธรรมดาระหว่างเรียนสามารถนำวิชาที่เรียนมาไปรับงานนอกมาทำเพื่อฝึกประสบการณ์ได้ ตั้งแต่เขียนแบบ รับงานดูหน้าไซต์ เข้าประชุมเกี่ยวกับไซต์ก่อสร้าง และส่วนใหญ่จะอยู่ในแวดวงงานไซต์ก่อสร้างอยู่เรื่อยๆจนเรียนจบ หลังเรียนจบอาจารย์เห็นแววก็ดึงตัวให้มาเรียนต่อเพิ่มความรู้เรื่องแบบ การพัฒนาแบบอาคารต่างๆของมหาลัยรังสิต ขณะนั้นที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีเพียงแต่ดีไซน์เนอร์ (Designer) ยังไม่มีคนทำงานเชิงพัฒนา (Developer) หรือสายช่างที่มาเขียนแบบ จึงได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในฐานะสถาปนิกของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต
.jpg)
.jpg)
เริ่มงานเขียนแบบและพัฒนาแบบ (Development) อาคารแรกของมหาวิทยาลัย ได้แก่ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ หรือ อาคารรัตนคุณากร (อาคาร 12) อาคารดิจิทัลมัลติมีเดียคอมเพล็ก (Digital Media Complex หรืออาคาร 15) ซึ่งทำงานร่วมกันระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะศิลปะและการออกแบบ และงานอื่นๆ ต่อมา
นอกเหนือจากการเป็นสถาปนิกแล้ว อาจารย์ปอได้เข้ามาสู่สายอาชีพอาจารย์โดยได้รับการเชิญจากอาจารย์สุวิชา เบญจพร ให้ไปลองสอนในวิชาวัสดุก่อสร้างในฐานะอาจารย์พิเศษ เนื่องด้วยมีประสพการณ์และคลุคลีอยู่กับของจริงเป็นประจำ พอได้ลองชิมรางงานสอนเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข ความสุขที่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่ผมรู้ให้กับรุ่นน้องๆ เขาได้รู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้ ซึ่งมันง่ายมากเพียงแค่เดินออกไปทำงานในอาชีพสถาปนิก และสิ่งที่เราเจอของจริงแล้วมาบอกต่อแค่นั้น นานไปเริ่มรู้สึกว่าอยากจะพัฒนาการเรียนการสอนให้มันเปลี่ยนจากเชิงทฤษฎีอย่างเดียวให้มันเริ่มเป็นของจริงมากขึ้น
.JPG)
“ความรักวิชาชีพนี้เริ่มมีมากขึ้น ความอยากพัฒนาวิชาชีพนี้โดยเฉพาะของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต คณะที่เคยเรียนให้แข็งแกร่งขึ้นทั้งเรื่องของการทำงานจริง การปฏิบัติงานจริงของงานก่อสร้าง ประกอบกับความรู้ที่เรียนต่อปริญญาโทด้านการบริหารจัดการโครงการก่อสร้าง ก็อยากใช้ความรู้ที่มีมาถ่ายทอดต่อในฐานะอาจารย์ แต่ก็ยังคงอาชีพสถาปนิกอยู่ไม่ได้ทิ้งไปไหน”
ด้วยว่าเราเคยเป็นนักศึกษามาก่อนก็จะเข้าใจธรรมชาติของนักศึกษา บางครั้งก็สนใจเรียนบ้างไม่สนใจบ้าง ช่วงเริ่มสอนนักศึกษาก็ไม่สนใจเหมือนกับสิ่งที่ผมพยามสื่อสารกับเขาเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการรู้ เลยเปลี่ยนรูปแบบพยามหยิบจับเนื้อหาอะไรที่นักศึกษาสามารถเข้าใจได้ รับรู้ได้ง่าย นึกภาพออก พยามเป็นสื่อกลางในการบรรยายเพื่อทำให้เขาเข้าใจ จากวันแรกที่นักศึกษาก้มหน้าหรือว่าหันไปมองหรือหลับไม่ได้โฟกัสอาจารย์เท่าไรนัก เริ่มมีการสื่อสารระหว่างกันหไม่เข้าใจตรงไหน เรื่องอะไรขอให้บอกไม่รู้ก็จะหาข้อมูลมาทำความเข้าใจและส่งต่อให้ ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์เมื่อปี 2549 จนวันนี้ก็ผ่านมากว่า 11 ปีแล้ว วิธีให้อิสระทางความคิดกับเด็กอยากรู้อะไรถามมาไม่จำกัดเวลาไม่จำกัดเรื่องจะวิชาเรียน วิชาชีวิต หรืออื่นๆ ขอให้บอกขอให้พูด
ผมพร้อมให้ข้อมูลตลอดเหมือน “Seven-Eleven” เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ทุกช่องการติดต่อที่นักศึกษาสะดวก
อาจารย์และสถาปนิกมีความแตกต่างกันไหม? คนที่ต้องดีลด้วยสำหรับอาชีพอาจารย์คือนักศึกษาส่วนสถาปนิกจะดีลกับลูกค้า ซึ่งมีความใกล้เคียงกัน หนึ่งคือก่อนที่เราจะให้ข้อมูล (Information) อะไรก็ต้องทำความเข้าใจกับเขาก่อนว่า สิ่งที่เรากำลังจะสอน หรือสิ่งที่เรากำลังจะออกแบบ มันมีหลักการหรือว่ามาตรฐานตรงไหนอย่างไรเพื่อให้เขาเห็นความสำคัญกับสิ่งที่เราทำก่อน เริ่มต้นด้วยการนำเสนอแนวความคิด (Concept) ในสิ่งที่นักศึกษาจะได้รับจากการเรียนการสอน ความจำเป็น ที่เป็นเรื่องสำคัญในการออกไปประกอบอาชีพ ตามมาด้วยกระบวนการวิธีการนำเสนอข้อมูล (Process) ที่ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติของผู้รับข้อมูลด้วยทั้งนักศึกษาและลูกค้า แต่ละกลุ่มจะปรับรูปแบบตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ปอจะศึกษาและประเมินก่อนการถ่ายทอดเสมอทำให้ได้รับการตอบรับอย่างดีที่สามารถเข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งของทุกคน
.JPG)
.JPG)
“บริษัทของผมจะปิดเมื่อไรก็ได้...แต่ว่าผมจะไม่เลิกสอน”
“ความสุขของผม คือ..ขอเลือกทำให้คนอื่นก่อนแล้ว เดี๋ยวความสุขจะกลับมาหาเราเอง”
นี่เป็นสิ่งที่ผมนิยามไว้ในใจ เมื่อสังคมไปข้างหน้ากันหมดแล้ว ทุกคนต้องพร้อมไปข้างหน้าด้วยกัน เมื่อเรามองเห็นว่ายังนักศึกษาบางคนที่เขาไม่ได้ไปด้วยกันกับเรา หรือเขาไปไม่ไหว ผมอยากสร้างคนและพาคนเหล่านั้นไปด้วยกันด้วยความสามารถของตัวผมในฐานะอาจารย์ ผมต้องช่วยเหลือ พยุงอุ้มกันไปให้ได้ ถ้าหากทุกคนมาพร้อมกันเดินมาด้วยกันทั้งหมด สังคมเราจะยิ่งแข็งแรงขึ้น
.JPG)
ท้ายสุดอาจารย์ปอบอกว่าความภาคภูมิใจของผมในฐานะอาจารย์ คือ “ในทุกๆปีที่เห็นนักศึกษารับปริญญารู้สึกภูมิใจมาก “เขาจบแล้ว เขาจะได้ออกไปทำงานของจริงซะที” ภาพเรื่องราวบนโลกโว facebook ที่ผมยังเป็นเพื่อนอยู่เขาได้ไปทำงานจริง ถ่ายรูปหน้างาน ถ่ายรูปตอนประชุมกับลูกค้า เปิดบริษัท หรือว่ามีแบบได้ชนะประกวดแบบอะไรก็แล้วแต่ อันนั้นก็คือความภูมิใจของผมแล้ว ไม่ได้ภูมิใจว่าเราทำให้เขาเป็นแบบนั้นเพราะเขาเก่งด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่ภูมิใจว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เขาเห็นความสำคัญและรักอาชีพเขา การที่เขาแชร์รูปการทำงานนั่นแสดงว่าเขาได้รักอาชีพนี้ไปแล้ว
อีกด้านหนึ่งในฐานะสถาปนิก ผมภูมิใจกับทุกอาคารที่ออกแบบ ที่ผมมามหาวิทยาลัยทุกวันได้เห็นอาคารที่มีส่วนร่วมในการออกแบบก็รู้สึกดีแล้ว ทุกครั้งถ้ามีโอกาสผมก็จะเดินไปตามตึกอาคารที่ผมร่วมออกแบบ ทำให้นึกว่าตรงนี้เราเคยเขียนแบบไว้ เคยเป็นเส้นปากกาของเรา วันหนึ่งสิ่งที่อยู่ในกระดาษนั้นกลายเป็นผนัง เป็นพื้น เป็นหน้าต่าง ยิ่งได้เห็นคนเข้าไปใช้งานก็รู้สึกว่านี่แหละเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจ ซึ่งผมเชื่อว่าสถาปนิกทุกคนรู้สึกภูมิใจเมื่องานที่ตัวเองออกแบบสำเร็จออกมาเป็นอาคารจริง สามารถเข้าไปใช้งานได้จริง และที่สำคัญพวกเขาใช้งานอย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย มีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย
ปัจจุบันอาจารย์ปอคนนี้ นอกจากเป็นอาจารย์ประจำ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาชั้นปีที่ 2 การสอนวิชาโครงสร้า แล้ว ยังเป็นกรรมการตรวจรับงานของมหาวิทยาลัยรังสิตที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้าง ขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าของบริษัทบริษัท โพล่าร์ อาคิเต็ค จำกัด เป็นออกแบบสถาปัตยกรรมและโครงสร้าง คอยควบคุมงาน ก่อสร้างงานอาคารอีกด้วย
บริษัท โพล่าร์ อาคิเต็ค จำกัด
Polar Architect Co,Ltd. 100/284 ม.พฤกษาวิลล์ 2 ถ.นาวงประชาพัฒนา ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 โทร.063-2032124 อีเมล์ Polararchitect13@gmail.com
"