“ความสุขสำหรับผมคือ ทำให้คนอื่นที่เขาคิดว่าเขาไม่มีคุณค่า ให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่ามากขึ้น” นี่คือความมุ่งมั่นของนักกายภาพบำบัดในชุมชน พี่สยาม เพิ่มเพ็ชร์ ศิษย์เก่าคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปัจจุบันเป็นนักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ผันตัวเองจากการทำงานในโรงพยาบาลมาทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้กับการทำงานกายภาพบำบัดในชุมชนอย่างแท้จริง วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับนักกายภาพบำบัดชุมชนคนนี้กันค่ะ

คนกรุงเทพแต่ชอบอยู่ต่างจังหวัด
ด้วยความที่พื้นฐานเป็นคนที่ชอบให้ความช่วยเหลือคน บวกกับที่บ้านต้องการให้ลูกเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จุดเริ่มต้นของการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิตของพี่สยามจึงเริ่มต้นขึ้นที่นี่
“ความตั้งใจจริงๆ นั้นไม่ได้ตั้งใจจะเรียนทางด้านสายสุขภาพ ตั้งใจเรียนทางด้านสังคม เลยเอนทรานซ์ได้คณะสังคมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยของรัฐบาล แต่ด้วยค่านิยมของคนไทยที่อยากให้ลูกเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ คุณแม่เลยมาดูที่ ม.รังสิต ซึ่งตอนนั้นยังเป็นวิทยาลัย มีเปิดสอนคณะกายภาพบำบัด คณะเภสัชศาสตร์ และเทคนิคการแพทย์ ผมเลยคิดว่าถ้าผมต้องทำงานกับคนไข้อยู่กับคณะกายภาพบำบัดน่าจะเหมาะที่สุด เมื่อเริ่มเรียนปี 2 อาจารย์เริ่มพาไปฝึกงานในโรงพยาบาล รู้สึกว่าอย่างน้อยเราไม่ได้เรียนสายสังคมแต่เราได้ทำงานกับคน ก็เลยเริ่มชอบ พอปี 3 เริ่มออกต่างจังหวัด ยิ่งชอบมากขึ้น เพราะผมเป็นคนกรุงเทพก็จริง แต่อยากไปอยู่ต่างจังหวัดไปเห็นว่าวิชาชีพนี้กายภาพบำบัดน่าจะเป็นวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตัวเอง"


ชีวิตนักศึกษากายภาพบำบัดรุ่นแรก
ตอนปี 1 ก็เรียนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เหมือนคณะอื่นทั่วไป มีความเครียดระดับหนึ่งซึ่งต้องเรียนให้ผ่านโปร ส่วนใหญ่เราอยู่กับเพื่อนก็ให้ความช่วยเหลือกัน สมัยนั้นยังเป็นวิทยาลัยรังสิต ห่างไกลความเจริญ ยังไม่มีแรงดึงดูดให้เราทำตัวไม่ดี มีทุ่งหญ้า ธรรมชาติ ซึ่งผมก็ชอบแบบนี้อยู่แล้ว พอขึ้นปี 2 เราเริ่มทำกิจกรรมมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าชีวิตนักศึกษาถ้าเราเรียนอย่างเดียวชขีวิตนักศึกษาไม่น่าจะมีความสุข เลยไปเข้ากลุ่มนักศึกษาคณะบริหาร คณะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กัน ไปทำกิจกรรมค่ายอาสาบ้าง ปี 3 เริ่มเรียนหนักในวิชาคณะ
"ชีวิตช่วงนั้นเรียนหนักมาก เลิกสองทุ่มเกือบทุกวัน พอขึ้นปี 4 ชีวิตสนุกมาก ออกไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งผมได้ไปอยู่ที่ รพ.จันทบุรี รพ.พระปกเกล้า รพ.สว่างนิวาส ที่ไกลๆ พอจบปี 4 ผมรู้แล้วว่าผมต้องไปไหน คิดว่าชีวิตผมน่าจะอยู่ต่างจังหวัด แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น พอจบการศึกษาก็ถูกทาบทามจากอาจารย์ให้เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะกายภาพบำบัด ม.รังสิต ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นจึงไปทำงานที่ รพ.ยะลา จ.ยะลา ประมาณ 2 ปี แต่ด้วยเหตุปัจจัยที่คุณแม่แฟนไม่สบายจึงย้ายจาก รพ.ยะลา มาอยู่ที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช"

พูดถึงงานกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล
มาใหม่ๆ ผมก็อยู่ในโรงพยาบาลตามหลักทั่วไปที่นักกายภาพบำบัดต้องบริการคนไข้ที่มารับบริการในโรงพยาบาล แต่สิ่งที่พลิกชีวิตของผมก็คือ คนไข้ที่ผมนัดมักไม่มา มาไม่ได้ เขาไม่มา เราก็โกรธเขา มีอยู่วันหนึ่งผมไปเจอญาติเขาที่ตลาด ผมก็ถามว่าทำไมคนไข้ไม่มาตามนัด ญาติก็บอกว่า หมอไปดูที่บ้านมั้ยถ้าอยากรู้ว่าทำไมแกไม่มา เมื่อไปดูที่บ้านภาพที่ผมเห็น ผมรู้สึกโกรธตัวเองมากว่าทำไมไปโกรธเขาคือแกจะมาได้อย่างไรเพราะว่านอนอยู่กับที่ หลังจากนั้นผมจะไม่โกรธคนไข้แล้วที่ไม่มาตามนัด ก็เลยคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้คนไข้เหล่านี้เข้าถึงบริการ จึงไปคุยกับหัวหน้ากลุ่มงานก่อนว่าผมจะต้องออกไปดูกลุ่มคนไข้ในชุมชน เพราะชุมชนที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองนั้น เห็นว่าเป็นอำเภอเมืองก็จริงแต่การเข้าถึงบริการไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด เลยขอออกไปดูแลคนไข้ตามบ้านที่ไม่สามารถมาหาเราได้ และลิสต์รายชื่อคนไข้ที่ขาดนัดบ่อยๆ ก่อน
"ผมคิดว่าถ้าเราอยู่แบบนี้คนไข้เข้าถึงเราก็ยากและวิชาชีพเราน่าจะทำประโยชน์ได้เยอะกว่า ยิ่งตอนเรียนผมไปทำงานผมเห็นปัญหาเหล่านี้ ผมเลยมาคุยกับหัวหน้ากลุ่มงานว่าผมน่าจะผันตัวเองออกไปทำงานนอกโรงพยาบาลน่าจะเหมาะกว่า"

กายภาพบำบัดในชุมชน
เริ่มต้นเรามีคนไข้ที่มีข้อมูลอยู่ในมือเรา ชุมชนคือ อบต. กับสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันเรียกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพสต. เราก็คุยกับเขาว่าผมมีคนไข้แบบนี้ เราไปดูคนไข้ด้วยกันไหม โดยการทำงานควบคู่กันเมื่อเราลงพื้นที่เขาสามารถดูแลต่อได้
"ผมเคยเจอเคสหนึ่งที่หนักๆ ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว คนไข้นอนติดเตียง เป็นเส้นเลือดในสมองแตก ผมไปดูแลเขา ถามความต้องการว่าเขาต้องการอะไร ความต้องการเขาคือไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่ในฐานะที่เราเป็นบุคลากรด้านสุขภาพเราไม่อยากให้เขาคิดแบบนั้น ก็เลยไปคุยกับเขา คุยกับนักพัฒนาชุมชน นายก อบต. ผอ.รพสต. และทำโฟกัสกรุ๊ปคุยกันว่าเราจะจัดการกับเคสนี้อย่างไร โดยเอาคนไข้เป็นศูนย์กลาง ถามความต้องการของเขาจริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งสุดท้ายได้ทราบความต้องการของเขาคือ เขาต้องการอยู่กับลูกเขาแต่ลูกเขาอยู่ที่อื่น เราจะทำอย่างไรให้ลูกเขากลับมา ก็เลยเป็นที่มาของการตามไปหาลูกเขาด้วย ส่วนใหญ่จะมีเคสคนไข้ที่หลากหลาย คนไข้ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไข้สูงอายุ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง เป้าหมายของเราคือ อยากให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด อาจจะคุยเป้าหมายร่วมกันระหว่างเขากับเรา และไปสู่เป้าหมายร่วมกัน"


ความสุขสำหรับตัวเองคืออะไร
ความสุขสำหรับผมคือ ทำให้คนอื่นที่เขาคิดว่าเขาไม่มีคุณค่า ให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่ามากขึ้น อยากมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองมากขึ้น สำหรับผมความสุขก็คือในสิ่งที่ทำแค่นั้นผมก็สุขแล้ว ได้ทำในสิ่งที่ผมอยากทำ

หัวใจความเป็นมนุษย์ กับสิ่งที่นักกายภาพบำบัดควรมี
เราก็ต้องตอบตัวเองก่อนว่ามนุษย์ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง มนุษย์เราประกอบด้วย กาย จิต สังคม และวิญญาณ กายคือ แต่ละคนรูปลักษณ์ต่างกันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องใจ ก็ดูว่าเราต้องมีใจอะไรบ้าง การทำกายภาพบำบัดต้องมีเมตตา ถ้าเราไม่มีเมตตา เราก็จะมองเห็นคนไข้เป็นวัตถุสิ่งของทำๆ ไปอย่างนั้น ถ้าเรามีเมตตาเราก็อยากให้เขาพ้นทุกข์ เราเห็นความทุกข์ของคนอื่นก็ไม่ต่างจากทุกข์ของเรา เมื่อเมตตาแล้วก็ต้องมีความอดทน ต่อมาคือต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ มีจรรยาบรรณ อะไรที่คิดว่าเขาจะดีขึ้นจากเราๆ ก็บอกตรงๆ อะไรที่ไม่ดีขึ้นจากการรักษาของเราๆ ก็หาการรักษาอื่น อาจจะต้องส่งต่อในระดับที่มากขึ้น เช่น อาจจะต้องส่งต่อในโรงพยาบาลเพื่อให้หมอคนอื่นช่วยดูแทนเรา เพื่อที่คนไข้จะดีขึ้น ส่วนความเป็นมนุษย์อื่นๆ ผมว่าน่าจะมีธรรมะ ไม่ว่าจะศาสนาใด คุณต้องมีธรรมะในใจครับ

สานต่อความเป็นนักกายภาพบำบัดที่ดีสู่รุ่นน้อง
ผมอยากสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้กับน้องๆ ที่จบใหม่ หรือกำลังศึกษาอยู่ อาจจะไม่ต้องเหมือนผมคล้ายผมก็ได้ แต่ให้มีแนวคิดช่วยคนอื่น อย่าไปมองแต่ตัวเองเป็นหลัก ถ้าเราคิดช่วยคนอื่น อาจารย์ผมบอกว่า ให้เท่าไรจะได้มากกว่าที่เราเคยให้ เป้าหมายของผมคือ “อยากสร้างคนใหม่ สร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่”


"