นิเทศศาสตร์ ม.รังสิต จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม

26 Mar 2020

     วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม ประจำปี 2562 มุ่งให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทยที่มีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาได้นำทักษะความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมเผยแพร่และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “บ้านของพ่อ” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     ดร.ชัชญา สกุณา หัวหน้าโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม เเละอาจารย์วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โครงการนี้วิทยาลัยนิเทศศาสตร์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้พานักศึกษาไปเรียนรู้วิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และวัฒนธรรมชุมชม ผ่านฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน ฐานที่ 1 การบรรยายหลักเศรษฐกิจพอเพียง ฐานที่ 2 การออกแบบพื้นที่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ฐานที่ 3 การอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม ผ่านการเรียนรู้งานฝีมือสานปลาตะเพียน และฐานที่ 4 การดำนา โดยมุ่งให้นักศึกษาตระหนักในคุณค่าวิถีชีวิตแบบพอเพียงตามหลักคำสอนของพ่อหลวง เรียนรู้การต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว รู้จักแบ่งปัน และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

     สำหรับความคิดเห็นของนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ นางสาวรวินท์ บัวเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาสื่อสารการตลาดดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการได้สานปลาตะเพียน ที่ช่วยทำให้จิตใจสงบขึ้น เพราะทำให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น และได้เรียนรู้ว่าหากเราทำได้สวย มีความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการปลูกข้าว หรือการดำนา ตอนกลางวัน ขณะที่ดวงอาทิตย์กลางหัวพอดี ทำให้ได้เรียนรู้ว่า กว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ดที่เราทาน มันไม่ได้ง่ายเลย ชาวนาหรือเกษตรกรต้องยืนกลางแดดแจ้งๆ นานๆ และก้มลงปักต้นข้าวลงไปกลางโคลนที่คอยดูดกลืนเท้าเราอยู่ตลอดเวลา ไหนจะรอเวลาในการเจริญเติบโตของต้นข้าวอีก การได้ปฏิบัติจริงในครั้งนี้ทำให้หนูไม่กล้าที่จะทานข้าวเหลือเลยล่ะค่ะ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การจัดแผนผังที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อิงตามหลักที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้สอนไว้ คือ 10 30 30 30 โดยแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็คือที่ทำกิน ที่เลี้ยงสัตว์ น้ำ สวนผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งเมื่อได้ลองออกแบบ หนูก็เกิดความคิดหนึ่งขึ้นมาคือ ความน่าจะเป็น ใช่ค่ะ มันเป็นไปได้ ถ้าเราทำตามแผนผังเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เราจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อนเพราะเรามีพืชพันธุ์ แหล่งน้ำ สัตว์เลี้ยงไว้รับประทาน และทำมาหากิน แถมยังมีที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่อีกด้วย ซึ่งถ้าในอนาคตหนูต้องสร้างบ้านจริงๆ พูดตรงนี้ได้เลยค่ะว่า แผนผังนี้ได้ใช้แน่นอน

     นอกจากนี้ นางสาวประภัสสร ปานประกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขานวัตกรรมการโฆษณาและสื่อสร้างสรรค์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามคำสอนของพ่อหลวง คือ รากฐานของการใช้ชีวิต ที่จะช่วยให้ทุกคนได้วางแผนชีวิตอย่างเป็นระบบ สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างคุ้มค่า อีกทั้งรู้จักดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสังคมที่สงบสุขอย่างยั่งยืนอีกด้วย

       “รู้สึกประทับใจกิจกรรมครั้งนี้มากๆ ประทับใจทั้งอาจารย์ที่ดูแลนักศึกษาตั้งแต่ต้นจนจบทริปอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ประทับใจสถานที่ และประทับใจวิทยากรที่นำองค์ความรู้ของชุมชนมาถ่ายทอดให้พวกเราได้เรียนรู้และได้ลงมือปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักคำสอนของพ่อหลวง หนูต้องขอบคุณคณาจารย์อีกครั้งที่จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นมา และขอบคุณสถานที่แห่งนี้ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ‘บ้านของพ่อ’ ที่ได้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้พวกเราได้เข้ามาศึกษาและสานต่อแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำให้พวกเราได้รู้ว่า ความพอเพียงนั้นทำได้ง่ายๆ และดีอย่างยั่งยืนจริงๆ” นางสาวรวินท์ กล่าวเพิ่มเติม

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ