7 เคล็ด(ไม่ลับ) เรียนดนตรีให้สนุก นินิว-ศุภฤกษ์ บุณยานันต์ วิทยาลัยดนตรี ม.รังสิต นักแสดงสังกัด ช่อง 3

13 Jan 2019

 

 

ประโยคยอดฮิตของนักศึกษาก็คือ..พรุ่งนี้วันจันทร์แล้ว!! ขี้เกียจตื่นไปเรียนจัง อาการง่วงนอนมักจะเกิดขึ้นมาทันทีทันใด บางคนถึงขั้นขอขาดเรียน หรือเข้าสายกันไปเลยก็มี อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร? เคนสังเกตตัวเองกันหรือไม่? สำหรับนักศึกษาคนนี้เขามีวิธีสังเกตและขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปได้ เขาทำได้อย่างไร...ลองไปดูไอเดียของหนุ่มคนนี้กันเลย


หนุ่มหน้าใสวัยสะรุ่น นินิว-ศุภฤกษ์ บุณยานันต์ นักศึกษาชั้นปี 2 สาขาการผลิตดนตรี (Music Production) วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต หรือนักแสดงสังกัด ช่อง 3 บอกถึงเคล็ด(ไม่ลับ) ที่จะทำให้มาเรียนสนุก ลุกนั่งสบาย มีความสุข กับการเข้าเรียนในแต่ละคลาสเรียน “ผมเริ่มต้นกับตัวเอง...แบบนี้ครับ!

 

(1) ชอบในสิ่งที่ใช่ เชื่อในสิ่งที่เลือก
“ก่อนอื่นเลยผมรู้จักตัวตนของผม ว่าผมชอบอะไร ผมอยากเรียนอะไร การตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับตัวเองอยู่เสมอว่าเราอยากเรียนอะไร? ที่จะเป็นวิชาชีพติดตัวของเราไปในอนาคต ซึ่งผมเลือกแล้วว่าผมอยากทำงานในวงการดนตรี เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง และคนเบื้องหลังวงการดนตรี ซึ่งเป็นอินเนอร์ในใจจึงมุ่งมั่นในการเลือกค้นหาสาขาวิชาที่อยากเรียน มหาวิทยาลัยที่มาแล้วมีความสุข บรรยากาศชวนให้น่ามานั่งเรียน มาเจอเพื่อนๆ อาจารย์ ซึ่งผมเองก็ขอบอกว่าผมเซอเวย์ดูสถานที่ก่อนตัดสินใจเลือกนะครับ คำอธิบายจาการพูดคุยกับอาจารย์สิ่งที่เราคาดหวังจะได้จากการเรียน ถ้าตอบโจทย์ทุกข้อในใจของเรา ผมก็เชื่อและเลือกเรียนโดยที่เป็นการไตร่ตรองจากตัวเราแล้วครับ เมื่อเราเชื่อว่าเราเลือกถูกทุกอย่างก็จะเข้าทางเราครับ”

 

(2) เปิดตัวเปิดใจเปิดประสบการณ์ใหม่
“แน่นอนครับ ไม่มีใครอยากเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อคนอื่นหรือทำอะไรที่เราไม่อยากทำหรอกครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ทุกคนเป็นเหมือนผมคือ เปิดตัวเอง เปิดหัวใจ เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ครั้งหนึ่งเราจะหาได้ในช่วงวัยเรียนเท่านั้น การได้ย้ายเข้าสู่สังคมใหม่จากโรงเรียน สู่มหาวิทยาลัย คือการลองหัดใช้ชีวิตในสังคมใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม มีบทบาทหน้าที่ที่มากขึ้น และความรับผิดชอบต่อตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น ถ้าเราไม่รู้จักยอมรับเพื่อเปลี่ยนเข้าสังคมใหม่ก็จะทำให้เราไม่มีเพื่อน ไม่สนุกกับการมาเจอสังคมใหม่ และปิดโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์จากเพื่อนๆอีกด้วย ซึ่งตรงนี้ผมเองก็เป็นคนมีโลกส่วนตัว ไม่ชอบขัดใจตัวเอง แต่ด้วยบทบาทที่เราเป็นนักศึกษาแล้วเราก็ต้องปรับเพื่อให้ไปต่อได้ เวลามาเรียนได้มาเจอ พูดคุย กินข้าว ถกเถียงกันต่างๆนานากับเพื่อนและอาจารย์ สนุกเลยครับ”

 

(3) ครูพัก ลักจำ
“จริงๆ ก็เป็นสุภาษิตทั่วไปแหละครับ แต่สำหรับผมผมนำมาใช้ เพราะว่ามันจำเป็นนะ เวลาที่เรามาเข้าคลาสแต่ละหลายวิชา เป็นธรรมดาที่เราต้องตั้งใจจดตั้งใจจำในแต่ละหัวข้อที่เรียนอยู่แล้วแต่บางที่วิชาการมากไปผมก็จำไม่ได้ ฮ่าฮ่า ซึ่งอาจารย์ก็จะเข้าใจอยู่แล้วว่านักศึกษาอย่างผมหรือเพื่อนคงจะหน้ามุ้ย ไม่รับอะไรเข้าหัวแน่นอน แต่ด้วยเทคนเทคนิคการสอนของอาจารย์ทำให้เราไม่รู้สึกว่ายากเกินไป บรรยากาศการเรียนของวิทยาลัยดนตรีเป็นเหมือนครอบครัว พ่อสอนลูก พี่สอนน้อง เพื่อนแชร์เพื่อน อันนี้ทำแล้วเวิร์ก อันนั้นทำแล้วไม่โอเคเท่าไร...ทำให้เราจดและจำได้ง่ายกว่า อีกอย่างวิชาสายดนตรีเน้นการปฏิบัติจริงบนพื้นฐานทฤษฎีที่นำมาประยุกต์ใช้ไปด้วย ดังนั้นการได้เห็นอาจารย์สอนและเป็นตัวอย่างบวกกับประสบการณ์จริงที่นำมาถ่ายทอดให้เรา มันคือสิ่งที่เราเองอาจเจอเมื่อไปทำงานก็ได้ ฉะนั้นผมเองก็จะทั้ง จด จำ นำไปใช้ จากความรู้ที่ได้รับจากเหล่าอาจารย์ที่เป็นกูรูในสายวิชาชีพดนตรี”

 

(4) เรียนๆ เล่นๆ สร้างบาลานซ์ชีวิต
“อันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมทำอยู่บ่อยๆ คือการจัดสรร บริหารเวลาให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนตัวผมต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยจึงจำเป็นต้องจัดการเวลาให้ได้และให้ดีเพื่อไม่ให้เสียทั้งสองเรื่อง เนื่องจากเราจะทราบตารางเรียนของเราอยู่แล้วว่าเรียนวันไหนเวลาไหน ส่วนตารางงานบางครั้งก็มีคิวแทรกบ้างซึ่งทำให้บางครั้งอาจกระทบกับเวลาเรียนไปบ้าง ดังนั้นผมจะเอาตาราเรียนมาแมชกับตารางาน หาดมีพื้นที่ทับซ้อนกันก็จะดูความสำคัญก่อน หากคาบเรียนนั้นไม่สามารถขาดได้หรือสอบก็จะขอขยับตารางงานหรือยอมสละไป หากงานสำคัญผมก็จะชี้แจงกับอาจารย์เพื่อขอขาดและตามส่งงานภายหลัง โดยทั้งสองตารางจะทำก่อนล่วงหน้าหากเป็นไปได้ เพื่อให้เราวางแผนเรื่องต่อไปได้และก็เป็นธรรมทั้งสองด้านรวมถึงตัวเราด้วย ผมจึงไม่ค่อยมีปัญหาเมื่อเรียนก็เรียน เล่นก็เล่นครับ”

 

(5) สร้างมิตรสร้างเครือข่าย
“กิจกรรมสำคัญสุดครับ อย่างที่ผมบอกเมื่อเราเขามาเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่ว่าตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างเดียว การเข้าร่วมกิจกรรมก็จำเป็นมากครับ เพราะกิจกรรมที่ทางวิทยาลัยดนตรีจัดไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมในสาขาวิชา/คณะเท่านั้น ส่วนมากเป็นงานที่เราต้องพบเจอคนข้างนอก การไปแสดงคอนเสิร์ตทั้งภายในและภายนอก การแสดง Perform ในเวทีต่างๆ ที่ทางวิทยาลัยจัดขึ้น ล้วนสร้างประโยชน์ให้ตัวเราหลายอย่าง หนึ่งเราเหนียวแน่นกับเพื่อนในคณะด้วยกัน สองเราพบเจอเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย นักดนตรี ศิลปินต่างๆ ที่จะทำให้เราได้แลกเปลี่ยนนานาทัศนะกับคนเหล่านั้น ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการเรียนในห้อง และแน่นอนเกิดมิตรภาพและมีโอกาสได้สานสัมพันธ์เพื่อต่อยอดโอกาสดีดีในชีวิตเราได้”

 

(6) เรียนจริงใช้จริงต่อยอดอาชีพ
“อย่างที่ผมเกริ่นไปเมื่อผมได้เข้าเรียนในแต่ละวิชาของสาขาการผลิตดนตรี (Music Production) ก็จะมีหัวข้อ ประเด็นที่เราเรียนและสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงเลย เสมือนได้นำมาทดลองใช้จริง บางครั้งผลลัพธ์ออกมาทั้งเวิร์กและไม่เวิร์กเราก็นำมาฟีดแบรคให้กับทางอาจารย์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้หากลยุทธ์เทคนิคใหม่ๆ อัพเดทซึ่งกันและกัน เพื่อนๆก็รู้ด้วย นอกจากนี้ความรู้ที่นำไปใช้กับตัวงานก็ทำให้มีคุณภาพ มีกระบวนการที่สมบูรณ์แบบมากกว่าการทำแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เราเองก็ได้รับคำชมจากคุณภาพงานที่ผลิตออกไปด้วย ยิ่งทำให้เราสนุกกับการเรียนมากขึ้นเหมือนเรียนไปใช้ไป เออ..สนุกมีความสุขทุกจังหวะเหมือนดนตรีที่เราเป็น”

 

(7) เคารพตนเองและคนรอบข้าง
“และสุดท้ายที่อยากให้ทุกคนมีคือการเคารพตัวเองและคนรอบข้าง การที่เราให้เกียรติตัวเราเองด้วยทำให้เราเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดี ภาพลักษณ์หรือความเป็นตัวตนจะทำให้เราสามารถควบคุมพฤติกรรมตนเอง เพราะวัยรุ่นอย่างผมแน่นอนว่าหลายคนคงมองเหมือนเป็นเด็กที่ยังไม่โต แต่ถ้าหากเรารู้จักบทบาทของตัวเอง เคารพตนเองในเรื่องต่างๆ ก็จำนำพาให้เราเคารพคนข้างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ รุ่นน้อง อาจารย์ หรือคนอื่นที่เราต้องเจอในสังคม เมื่อเราออกไปใช้ชีวิตจริงๆ จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในทุกๆสิ่งแวดล้อมสังคม เพราะไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก ฉะนั้นการที่เรามองเห็นคนอื่นด้วยจึงเป็นเรื่องจำเป็น”

 

นี่แหละครับ! เคล็ด(ไม่)ลับการเรียนดนตรีให้สนุก ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้คุ้มค่า เพราะสถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ก่อนสุดท้ายที่เราจะได้เล่นจริง ทำจริง ในแบบมีอาจารย์ให้คำชี้แนะสั่งสอนก่อนที่เราจะออกไปเผชิญโลกภายนอกแบบแข็งแกร่งและเป็นในสิ่งที่ตัวเองรัก ทุกคนคงมีเคล็ดลับต่างกันไปเพื่อทำให้ทุกวันของชีวิตมีความสุข ฟังของผมแล้วมาแบ่งปันกันนะครับว่าเคล็ด(ไม่)ลับของทุกคนเป็นไงกันบ้าง

 

ถ้าวันนี้ยังไม่รู้สึกสนุก...ลองเปลี่ยนเพื่อ “ตัวคุณ”

 

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ