สถานการณ์การศึกษาของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในช่วงที่ผ่านมา การจัดการศึกษาจะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบการศึกษาไทยที่มักปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการควบคุมและกล่อมเกลากระบวนการคิดให้อยู่ในกรอบ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เยาวชนคือกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น สถาบันการศึกษาควรพัฒนาศักยภาพบัณฑิตให้มีความคิดก้าวหน้า มีทางเลือกในรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการการพัฒนาศักยภาพของตัวเองสู่ชีวิตการทำงานและการดำรงชีวิต เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ จึงนำมาสู่การปรับโครงสร้างใหม่ในทุกมิติ เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยรังสิต มีความเป็นเลิศทั้งวิชาการ วิชางาน วิชาคน ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งประกอบด้วย 1.Education 2.Innovative Research 3.Smart Organization 4.Internationalization และ 5.Reputation
มุ่งผลิตบัณฑิตตรงตามความต้องการของพลเมืองโลก
ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กลไกการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรังสิต ปี 2565-2569 แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงระบบการศึกษา ให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงทุกศาสตร์โดยไม่จำกัดการเรียนรู้ ด้วยการจัดระบบความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างการศึกษาในลักษณะของเครือข่ายการเรียนรู้และการทำงานจริงที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในหลากหลายวิชาชีพ การเชื่อมโยงระบบการศึกษาคือการเพิ่มสมรรถนะใหม่ของบัณฑิตมหาวิทยาลัยรังสิต (Rangsit Competencies) ให้สอดรับกับสมรรถนะแห่งอนาคต 2.วางกลยุทธ์เชิงรุก โดยกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการศึกษาไปข้างหน้าและตอบสนองความต้องการของนักศึกษา (Proactive Education) รวมทั้งใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัลที่ทันสมัยในการบริหารการศึกษา มีการเชื่อมโยงของหน่วยงาน คณะ สถาบัน และวิทยาลัย ในการพัฒนาระบบการจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติที่ดี เกิดชุมชนนักปฏิบัติ เป็นการยกระดับการศึกษาที่เป็นนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน และ 3.สร้างความเข้มแข็งของบัณทิต พัฒนาให้เป็นพลเมืองแห่งอนาคตที่สามารถรู้เท่าทันสิ่งใหม่ ด้วยองค์ความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะคิดวิเคราะห์แยกแยะและแสวงหา “แนวทางใหม่ของชีวิต” ให้ประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพ มีความเป็นพลเมืองโลกที่ตื่นตัว (Active Citizen) ที่ปรับตัวได้ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เป้าหมายการพัฒนาสู่ระบบ Smart Organization
การเพิ่มขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart & High Performance) สร้างนวัตกรรมหรือความคิดริเริ่มและประยุกต์องค์ความรู้ ในแบบสหสาขาวิชาเข้ามาใช้ในการตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เพื่อสร้างคุณค่า มีความยืดหยุ่น และความสามารถในการตอบสนองกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันเวลา ตลอดจนเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูง และปรับตัวเข้าสู่สภาพความเป็นสำนักงานสมัยใหม่ โดยกำหนด 4 บทบาทหลัก ดังนี้
1.ผู้บริหาร ต้องกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้าน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้องเชิงลึก เข้าใจพันธกิจหลักองค์กรที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและเกิดความคุ้มค่า เปลี่ยนวิธีการทำงาน กระบวนการ และประเมินผลให้สอดคล้องกับสมรรถนะของบุคลากร
2.คณบดี ผู้อำนวยการหลักสูตร และหัวหน้าหลักสูตร ต้องมีความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา รวมทั้งร่วมกันวางกฎระเบียบให้เหมาะสม (Smart Regulation) ในภาคีความร่วมมือ(Faculty Cluster) และยกเลิกการควบคุมที่ไม่เกิดประโยชน์ลง เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความสามารถคัดเลือกตัวแทน (High Caliber) เข้าร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร อาจมีการลดปริมาณงานด้านอื่น เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป และมีเป้าหมายในการสร้างความสำเร็จร่วม 4 ด้าน ได้แก่ 1.การบรรลุพันธกิจตามยุทธศาสตร์ 2.การมีมาตรฐานตามการประกันคุณภาพ 3.ค่าเป้าหมายจำนวนนักศึกษาตามหลักสูตร และ 4.การบริหารทรัพยากรทุกประเภทให้สอดคล้องกับรายรับ (ROI: Return of Investment) เช่น การบริหารบุคคล เวลา และค่าใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3.บุคลากรสายอาจารย์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การเรียนการสอนและร่วมมือระหว่างคณะ (Faculty Cluster) โดยการพัฒนาระบบจัดการความรู้ (KMS: Knowledge Management System) เพื่อนำไปสู่ Good Practice รวมทั้งขับเคลื่อน Faculty Cluster โดยเน้นตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้าน
4.ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการหน่วยงาน และบุคลากรสายเจ้าหน้าที่ ต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในทุกระดับได้โดยไม่กังวลเรื่องการทำงานข้ามสายงานและสามารถบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานตามห่วงโซ่ยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้นจนจบ รวมทั้งใช้ทรัพยากรและบริการต่างๆ ร่วมกัน จะถือเป็นค่านิยมหลักขององค์กร
พันธกิจของมหาวิยาลัยรังสิต
พันธกิจหลักของมหาวิยาลัยรังสิต 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.การสานพลังทุกภาคส่วน (Collaboration) เพื่อเป็นการยกระดับการทำงานไปสู่การร่วมมือกัน (Collaboration) โดยจัดระบบให้มีการวางแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ต้องการร่วมกัน มีการระดมและนำเอาทรัพยากร ทุกชนิดเข้ามาแบ่งปันและใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีการยอมรับ ความเสี่ยงและแก้ปัญหาความต้องการของนักศึกษาที่มีความ สลับซับซ้อนมากขึ้น
2.การสร้างความสำเร็จร่วม (Shared Achievement) การคิดค้น และแสวงหาวิธีการหรือแนวทาง (Solutions) ใหม่อันจะเกิดผลกระทบมหาศาล (Big Impact) เพื่อปรับปรุงการให้บริการและนโยบายให้สามารถตอบโจทย์ความท้าทายหรือตอบสนองปัญหาความต้องการของนักศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ อันแปรผันไปตามสภาพพลวัตของการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยรูปแบบห้องปฏิบัติการนวัตกรรม (Innovation Lab) และใช้กระบวนการ ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในลักษณะที่ให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจและเข้าถึง ความรู้สึกของนักศึกษา (Empathize) นำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงปัญหา (Define) และใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างไอเดีย (Ideate) พัฒนาต้นแบบ (Prototype) และทำการทดสอบปฏิบัติจริง (Test) ก่อนนำไปขยายผลต่อไป
3.การพัฒนาตนเองขององค์กร (Self-Development Organization) การปรับเข้าสู่การเป็นดิจิทัล (Digitization) เป็นการผสมผสานกันของการจัดเก็บและประมวล ข้อมูล (Cloud Computing) อุปกรณ์ ประเภทสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และการทำงานร่วมกันผ่านเครื่องมือต่างๆ (Collaboration Tools) ทำให้สามารถติดต่อกันได้อย่างเรียลไทม์ (Real Time) ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด สามารถวิเคราะห์ ข้อมูลที่สลับซับซ้อนต่างๆ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ของนักศึกษา และสามารถตอบสนอง ต่อความคาดหวังในการให้บริการที่จะต้อง ดำเนินการได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกอุปกรณ์ และทุกช่องทาง ได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย และประหยัด
4.ปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด (Mindset) ให้มีความคิดเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Mind) เพิ่มทักษะให้มีสมรรถนะที่จำเป็นและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง เพื่อแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) เพื่อสร้างคุณค่าหลัก (Core Value) ที่จะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา การทำงานของทุกหน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนจากการทำงานรูปแบบเดิมมาสู่รูปแบบใหม่ เพื่อปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
ตามนโยบายของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ว่ามหาวิทยาลัยรังสิตได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ ในปีพุทธศักราช 2565-2569 เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคที่ขัดขวางการศึกษาไทย โดยมีเป้าหมายที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของพลเมืองโลกที่ตื่นตัว (Active Citizen) เป็นผู้เรียนรู้ (Learner Person) เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Co-Creator) และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนประเทศชาติ มีส่วนร่วมสรรสร้างสังคมธรรมาธิปไตย ที่คำนึงถึงสันติสุข ความดีงาม ความเท่าเทียม ความถูกต้องชอบธรรม ในทุกมิติต่อไป
"