นักศึกษาคณะเทคโนโลยีอาหาร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต สร้างผลิตภัณฑ์ไข่เทียมจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้ (PEN EGG : Plant-based Entirely Nonallergenic EGG) ภูมิแพ้ ใช้วัตถุดิบหลักจากข้าวไทยและผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าว

“ข้าวมี ไข่พี่ต้องมา ถึงไก่ไม่มา แต่ไข่ข้าวพี่มี”
นางสาวชลลดา ม่วยหนู นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารจากพืชมากขึ้น ตลาดผู้บริโภคทั่วไปที่รักสุขภาพ เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และตลาดผู้บริโภควีแกน ตลาดมังสวิรัติ เพราะเป็นตลาดที่กำลังเติบโตขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งธุรกิจร้านฟาสต์ฟู้ดส์และผู้ประกอบการธุรกิจอาหารกำลังให้ความสนใจ เพราะมีงานวิจัยรองรับว่าสามารถฟื้นฟูสุขภาพ ทุกคนสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย เป็นไลฟ์สไตล์ของความทันสมัย รับประทานเพื่อป้องกันและรักษาโรคได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคอ้วน โรคเบาหวานประเภท 2 ฯลฯ เพราะมีไขมันต่ำและไม่มีคอเลสเทอรอล ตอบโจทย์กระแสความต้องการของตลาดอาหารทางเลือก และไข่เทียมที่วิจัยขึ้นนี้มีความพิเศษไม่มีสารก่อภูมิแพ้ในผู้บริโภคเพราะใช้วัตถุดิบหลักทั้งหมดจากข้าวไทย จึงเป็นการผนวกคุณประโยชน์ของอาหารจากพืช (plant-based food) เข้ากับอาหารเชิงหน้าที่ (functional food) ตอบโจทย์อาหารแห่งอนาคต โดยไข่เทียม “เป็นเอก” ของเราออกแบบมาเพื่อทลายข้อจำกัดในการใช้งานของไข่เทียมทางการค้าที่ผลิตในต่างประเทศ

เราสร้างนวัตกรรมที่แตกต่างจากไข่เทียมผงและไข่เทียมเหลวของต่างประเทศทุกแบรนด์ที่มีความเฉพาะของผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งทำให้จำกัดการใช้งาน ด้วยการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติเชิงหน้าที่ของวัตถุดิบแต่ละตัวในกระบวนการผลิต ไม่ใช้ส่วนผสมที่ก่ออาการแพ้ และตัดวัตถุเจือปนอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายออกไป จนทำให้ได้ผงไข่เทียมที่สามารถนำไปใช้ทดแทนไข่ไก่ได้ทั้งฟอง ทั้งเมนูจานไข่ เมนูอาหารคาวและหวานที่มีส่วนผสมของไข่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขยายผลกับผู้ประกอบการพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมเบเกอรี่และเส้นหมี่ การใช้ประโยชน์จากข้าวในการผลิตไข่เทียมไร้สารก่อภูมิแพ้นี้ ไม่เพียงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวไทย แต่ยังเป็นการประกาศศักดาความเหนือชั้นของนวัตกรรมผงไข่เทียมในการเป็น ออลอินวัน & อันลิมิตเตตยูส (All in one& Unlimited use) ที่ไข่เทียมของต่างประเทศยังไปไม่ถึงอีกด้วย

“เป็นเอก ผงไข่เทียมจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้ ใช้วัตถุดิบหลักจากข้าวไทยและผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าว ซึ่งทั้งหมดมาจากผลผลิตภาคการเกษตรและผลพลอยได้จากการหมัก ที่อุดมด้วยคุณค่าสารอาหารและสมบัติเชิงหน้าที่ ใน 24 กรัม หรือหนึ่งหน่วยบริโภคเทียบเท่าไข่ไก่เบอร์ศูนย์หนึ่งฟอง มีโปรตีนและแร่ธาตุเทียบเท่าไข่ไก่จริง แต่มีไขมันต่ำกว่า 14 เท่า ใยอาหารสูงกว่า 4 เท่า มีโซเดียมเพียง 0.8 มิลลิกรัม และให้พลังงานน้อยกว่าไข่ไก่จริง อุดมด้วยสารยับยั้งเอนไซม์เอซีอี สารดีเอสแอล สารโพลิฟีนอล สารต้านอนุมูลอิสระ และกาบา เป็นแหล่งวิตามินเอ ซี อี และมีวิตามินบีสูง ไขมัน คาร์โบไฮเดรตและโซเดียมต่ำ ใช้สีธรรมชาติจากข้าวมอลต์แดงร่วมกับผงฟักทองและเปลือกแก้วมังกร ใช้ข้าวมอลต์สร้างเนื้อสัมผัสและให้รสหวาน ใช้โปรตีนข้าวไฮโดรไลเสทเป็นแหล่งโปรตีนและทำหน้าที่ทดแทนการใช้อิมัลซิฟายเออร์และสารก่อโฟม ใช้โปรตีนข้าวไอโสเลทเป็นสารที่ให้กลิ่นรสกำมะถันของไข่ ใช้ยีสต์แห้งจากการหมักสาโทเป็นแหล่งวิตามินบี 12 เหล็ก สังกะสีและเบต้ากลูแคน ใช้ผงไบโอเซลลูโสสจากชาข้าวหมักทดแทนสารโมดิฟายเซลลูโลส ผ่านการยอมรับจากผู้บริโภควีแกนและผู้บริโภคทั่วไปเทียบเท่าไข่เทียมทางการค้าของต่างประเทศ สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิปกติได้นาน 16 เดือน”

นวัตกรรมผงไข่เทียมจากข้าวไทย มาในบรรจุภัณฑ์ลังไข่รักษ์โลกที่มองปุ๊บรู้ปั๊บว่าเป็นไข่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีลักษณะเป็นผงสีครีม มีกลิ่นรสอ่อนโยน สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนไข่จริงได้ไม่จำกัด และด้วยการสนับสนุนผลงานนวัตกรรมของเด็กไทย ไข่เทียมเป็นเอกจึงมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ทั้งเพิ่มการบริโภคภายในประเทศและผลักดันสู่การส่งออกแข่งขันกับไข่เทียมต่างประเทศได้ไม่ยาก เพื่อสร้างรอยยิ้มชาวนาและเพิ่มมูลค่าข้าวไทยไปพร้อมกัน ตามสโลแกนที่ว่า “ก เอ๋ย กอไก่ ข ไข่จากข้าว ชาวนาร้องว้าว โนฮาวเด็กไทย” เจ้าของผลงานกล่าวเพิ่มเติม

(เจ้าของผลงาน) นายภิรมย์ เยือน นางสาวแสงทิวา สุวรรณวิท และนางสาวชลลดา ม่วยหนู นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ยุพกนิษฐ์ พ่วงวีระกุล
"