ม.รังสิต ร่วมสืบสานการทำกระทงจากกะลา เพื่ออนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม

16 Nov 2023

     จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาน้ำเน่าเสีย อันเกิดเหตุมาจากการที่ผู้คนนิยมนำกระทงที่ ประดิษฐ์ขึ้นมาจากวัสดุอุปกรณ์อันเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถย่อยสลายได้ จึงทำให้ทางสถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ คณะกรรมการนักศึกษาทุน ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์, ทุนดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และทุนคุณพ่อประสิทธิ์ และคุณหญิงพัฒนา อุไรรัตน์ ได้ตระหนักถึงปัญหาอันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นและตัวอย่างในการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมมาสานต่อสู่วิถีชีวิตคนเมืองยุคใหม่ในปัจจุบัน

 

     ทางคณะกรรมการนักศึกษาทุนฯ ได้เปิดรับบริจาคกะลามะพร้าว และเทียนที่เหลือใช้จากการประกอบพิธีทางศาสนาของวัด บริเวณใกล้เคียงบ้านพักของนักศึกษา ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการต่อยอดการทำกระทงในครั้งนี้ โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาทุนฯ นำกะลามะพร้าว และเทียน จากแหล่งต่างๆ เช่น ตามภูมิลำเนา วัด และโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้กะลาแล้วในบริเวณใกล้เคียง มหาวิทยาลัยโดยหลังจากเปิดรับกะลาและเทียนที่ตั้งเป้าไว้ได้ตามจำนวนแล้ว จะนำมาคัดสรรและส่งมอบให้กับทางคณะกรรมการนักศึกษาทุนฯ และได้นำกะลาซึ่งเข้าสู่ขั้นตอนการคัดแยกกะลาที่มีลักษณะสมบูรณ์ที่สุดไม่แตก หัก บิ่น มีรู หรือขึ้นรา จึงนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป นักศึกษาทุนฯ จะรวมกลุ่มกันนำกะลาที่มีตำหนิน้อยที่สุดมาใช้กระดาษทรายขัดบริเวณพื้นผิวของกะลา จนกว่ากะลาจะมีผิวสัมผัสเรียบเนียน ไม่กระด่าง และได้รูปทรงภายนอกที่สวยงามแล้ว ก็จะนำเทียนที่ได้มาหลอมด้วยความร้อนจน

 

     กลายเป็นของเหลวใส่ภาชนะเพื่อที่จะเทลงสู่กะลามะพร้าว หรือเรียกอีกอย่างว่าหล่อเทียนใส่กะลา ซึ่งในขณะเดียวกันกลุ่มนักศึกษาทุนฯ จะนำกะลามะพร้าวมาวางคว่ำไว้ด้านล่างของกะลาที่กำลังเทน้ำเทียน เพื่อเป็นการรักษารูปทรงของเทียนนั่นเอง จากนั้นเมื่อเทียนเริ่มแห้งจึงจะนำไส้เทียนมาใส่ไว้กลางกระทงกะลาแล้วรอให้แห้งสนิท จึงถือว่าเป็นอันเสร็จขั้นตอนกระบวนการทำกระทงจากกะลา

 

    หลังจากเสร็จสิ้นการจัดทำกระทงจากกะลา ทางคณะกรรมการนักศึกษาทุนฯ จะนำมาจัดจำหน่ายในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2566 บริเวณด้านหน้ามณฑปพระศรีศาสดา โดยจัดจำหน่ายในราคาใบละ 20 บาท ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายจะนำไปต่อยอดในโครงการ “จากนักศึกษาทุนฯ สู่ ชุมชน ศาสนา และสังคม” โดยนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนที่่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการศึกษาในชุมชนตำบลหลักหกและสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่วัดบริเวณโดยรอบชุมชนมหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมทั้งนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปร่วมบริจาคแก่มูลนิธิกู้ชีพ กู้ภัยเมืองเอก

 

     มหาวิทยาลัยรังสิตยังคงสืบสานการทำกระทงจากกะลาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมของชาวไทยภายใต้ความหลากหลายทางภูมิภาคของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรังสิต อีกทั้งยังเผยแพร่วัฒนธรรมอันดีงามและเสริมสร้างกิจกรรมด้านทำนุบำรุงร่วมกับสังคม ชุมชนให้กับนักศึกษาชาวไทยและต่างชาติสืบไป

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ