นิเทศรังสิตชวน Gen-Z คิดเปลี่ยนโลกเพื่อความยั่งยืน

12 May 2024

     ประเด็นสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชนนับเป็นเรื่องที่องค์กรทุกภาคส่วนให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ จึงได้จัดโครงการบูรณาการวิชาชีพนิเทศศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชนขึ้น โดยหวังเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกฝังกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญและความรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชนร่วมกัน

 

     ผศ.ดร.สำราญ แสงเดือนฉาย หัวหน้าสาขามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ดูแลการจัดกิจกรรม กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนี้มาจากแนวคิดของวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนให้มีอัตลักษณ์ของความเป็นนักสื่อสารที่มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ จึงนำมาสู่การออกแบบการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาเกิดเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่มาจากการลงมือทำโครงงาน โดยการนำโจทย์จริงจากองค์กรภายนอก คือ The Farm Concept มาบูรณาการร่วมกับวิชา COM230 การคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่องานนิเทศศาสตร์ และร่วมกันกำหนดโจทย์ภายใต้แนวคิด “Gen-z คิดเปลี่ยนโลกเพื่อความยั่งยืน” ให้นักศึกษาจัดทำเป็นโครงงานปลายภาค และนำเสนอผลงานในรูปนิทรรศการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจ มีสมรรถนะของนักสื่อสารอย่างมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำให้ผลการสื่อสารเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

      “เราได้ออกแบบกิจกรรมตามแนวคิด การคิดเชิงออกแบบ (design thinking) โดยมุ่งผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามกระบวนการคิดเชิงออกแบบ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เข้าอกเข้าใจ (empathy) ขั้นตอนนี้ได้ใช้การตั้งคำถาม  4 ประเด็น ได้แก่ What - Why - How - Impact ขั้นตอนที่ 2 กำหนดปัญหา โดยค้นหาประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขและมองอย่างนักสื่อสาร ขั้นตอนที่ 3) การกำหนดแนวคิดโจทย์การสร้างสรรค์ ได้แก่ background, problem, objective communication,  target audience, what to say concept/ key message, support, mood and tone, desire เพื่อเป็นกรอบแนวคิดในการสร้างสรรค์ ขั้นตอนที่ 4 สร้างต้นแบบสื่อ และขั้นตอนที่ 5 ทดสอบแนวคิดการสร้างสรรค์ โดยนำสื่อต้นแบบไปประเมินความคิดสร้างสรรค์กับกลุ่มเป้าหมายผู้รับสาร เพื่อพัฒนาก่อนนำไปใช้จริง”

 

     แสนศิริ วันทา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โครงการของเรา คือ Makeup no gender เป็นโปรเจกต์เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งหน้าและดูแลตัวเองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทุกเพศ และยังสนับสนุนให้ทุก ๆ คนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร มีความกล้าที่จะแสดงรสนิยมของตัวเองผ่านการแต่งหน้า และอยากเชิญชวนเพื่อน ๆ หากสนใจกิจกรรรมดี ๆ อย่างนี้สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้โดยการแชร์ Makeup look ของตัวเองลงสื่อโซเชียลและติด #makeupnogender ในโพสต์ของตัวเอง มาเป็นกระบอกเสียงให้กับทุก ๆ คนรวมถึงตัวน้อง ๆ ด้วยกัน

 

     จันทณิสา นีน่า เตมิยาคาร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาสื่อสารการแสดง วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าว่า กลุ่มเราจัดโครงการ gen z เปลี่ยนโลก WildFire Project เพื่อรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจผลกระทบของไฟป่าในด้านของอากาศ มลพิษที่เกิดจากไฟป่าใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด โดยได้รับประโยชน์จากการศึกษาค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับไฟป่า ทำให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่า ผลกระทบของไฟป่า เช่น ร่างกาย สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตในป่า ได้เรียนรู้วิธีการเตรียมตัวหรือรับมือกับตอนที่เกิดไฟป่าและข้อควรระวังเมื่อไปตั้งแคมป์ใกล้อุทยานหรือแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริงได้และทำให้เรารับมือกับสถานการณ์จริงได้

 

     อย่างไรก็ตาม สาระการเรียนรู้จากการบูรณาการโครงการและรายวิชาร่วมกันครั้งนี้ คือ ความเชื่อว่า พลังของความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เปลี่ยนแปลงทุกสรรพสิ่งบนโลกให้เป็นไปได้ดังใจปรารถนา เพียงนักสร้างสรรค์จะต้องมีจิตมุ่งมั่นที่จะดึงพลังมหัศจรรย์ของความคิดเป็นพลังงานให้กล้าคิด กล้าลงมือทำ เพื่อนำพาให้ผลการสื่อสารสู่ความสำเร็จ

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ