“สบสะเมิง” หนังสั้นผลงานนศ. ภาพยนตร์ ม.รังสิต คว้ารางวัลดีเด่น Distinguished Prize สาขาภาพยนตร์โครงการ Young Thai Artist Award 2018

06 Nov 2018

 

         ภาพยนตร์สั้น เรื่อง "สบสะเมิง" ผลงานโดยนักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คว้ารางวัลดีเด่น Distinguished Prize สาขาภาพยนตร์ และได้รับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท ในโครงการ “ยุวศิลปินไทย 2561 : Young Thai Artist Award 2018” จัดโดย มูลนิธิเอสซีจี

         นายณวรพล ศกุนะสิงห์ นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลงานภาพยนตร์สั้น เรื่อง “สบสะเมิง” กล่าวว่า การประกวดภาพยนตร์สั้นดังกล่าวจัดขึ้นโดยมูลนิธิเอสซีจี เป็นโครงการที่ให้เยาวชนคนรักศิลปะทั่วประเทศ มาร่วมปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ ประชันไอเดียรังสรรค์ผลงานศิลปะ ภายใต้โครงการ “รางวัลยุวศิลปินไทย 2561” หรือ “Young Thai Artist Award 2018” นับเป็นอีกหนึ่งเวทีประกวดศิลปะสำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยผลงานที่จัดประกวดมี 6 สาขา ได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ สาขาศิลปะ 3 มิติ สาขาภาพถ่าย สาขาภาพยนตร์ สาขาวรรณกรรม และสาขาการประพันธ์ดนตรี ซึ่งในส่วนของตนเองนั้นได้ส่งหนังสั้น เรื่อง “สบสะเมิง” เข้าร่วมประกวด และได้รับรางวัลดีเด่น Distinguished Prize สาขาภาพยนตร์ พร้อมรับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท

         “สำหรับเนื้อหาของหนังสั้นเรื่องสบสะเมิง ต้องการจะสื่อสารให้มนุษย์ได้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ เเละให้ทุกคนบนโลกใบนี้ได้อยู่ร่วมกันโดยเคารพในความเชื่อที่หลากหลายบนพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ บางเรื่องหากไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ในสิ่งที่ผู้อื่นศรัทธา เพราะมนุษย์เราไม่ได้เหมือนกันทั้งโลก เเต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรัก ความเคารพ เเละการให้เกียรติซึ่งกันเเละกัน โดยในการถ่ายทำหนังสั้นเรื่องนี้ใช้เวลาในการดำเนินการนานพอสมควร ซึ่งแรงบันดาลใจมาจากการที่ผมเคยลงพื้นไปร่วมกิจกรรมสอนน้องๆ ผลิตสื่อที่หมู่บ้านสบลานที่อยู่ในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญพอสมควร ความรู้สึกคือประทับใจในสถานที่ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวบ้าน ตั้งใจไว้ว่าหากทำหนังสั้นจะใช้สถานที่ที่สบสะเมิงเป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำ เรียกว่าหนังสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องเเรกในชีวิตที่เรามีสถานที่ในการถ่ายทำก่อน เเล้วจึงค่อยมาเขียนบทว่าจะเล่าเรื่องอะไร ซึ่งตามหลักพื้นฐานของการเขียนบทจะต้องมีบทก่อน เเล้วค่อยออกไปหาสถานที่ นักเเสดง ก็นับว่าค่อนข้างจะฉีกกฎเหมือนกัน และในส่วนของการวางพล็อตเรื่องมาจากการพูดคุยกับน้องๆ ในพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องราวความเชื่อ ความศรัทธา แล้วนำมาต่อยอดในการเขียนบทและวางตัวละครของหนังสั้นเรื่องนี้” นายณวรพล กล่าว

       เบื้องหลังการถ่ายทำหนังสั้นเรื่อง สบสะเมิง  

         เจ้าของผลงานภาพยนตร์สั้น เรื่อง “สบสะเมิง” กล่าวเพิ่มเติมว่า รู้สึกดีใจตั้งเเต่รู้ว่าหนังสั้นเข้ารอบเเล้ว รางวัลก็เป็นกำลังใจที่ทำให้เราอยากพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น เเต่ที่ประทับใจมากที่สุดก็คือ เราได้เล่าเรื่องในสิ่งที่อยากเล่าจริงๆ จากตัวอักษรที่เขียนขึ้นมาทั้งหมด เริ่มเห็นเป็นภาพเป็นฉาก และได้ไปถ่ายทำในสถานที่ที่อยากไป ทั้งนี้ เพราะในการทำหนังสักเรื่องไม่ได้ใช้เพียงแค่ passion เท่ๆ ในการทำงานเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ความอดทนกับทุกบริบทรอบข้างไปพร้อมกับความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการทำงานอย่างมากอีกด้วย

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ