ศิษย์เก่าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และทำวิจัยที่ National Institute of Health (NIH) สหรัฐอเมริกา ได้รับการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารชั้นนำ Nature (Impact factor 41.577) เกี่ยวกับการปราบเชื้อก่อโรคติดเชื้อในกระแสเลือด Staphylococcus aureus ด้วยเชื้อ Bacillus แบคทีเรียโปรไบโอติก ที่พบได้ในพืชผักตามตลาดสดของไทย ผลงานวิจัยครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีในวงการวิทยาศาสตร์ไทย
ดร.พิพัฒน์ ผิวงาม ศิษย์เก่าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงงานวิจัยในครั้งนี้ว่า เชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus (S. aureus) จัดเป็นแบคทีเรียก่อโรคที่อันตรายมากตัวหนึ่ง ในปัจจุบันเชื้อชนิดนี้มีการดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายขนาน และตัวที่สำคัญคือ Methicillin-resistant S. aureus หรือ MRSA ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ เสียชีวิตปีละหลายล้านคนทั่วโลก เป็นที่รู้กันดีกว่า S. aureus นั้นสามารถอาศัยร่วมกับเราได้ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ เราสามารถพบเชื้อชนิดนี้ได้ในทางเดินอาหาร โพรงจมูก และผิวหนัง แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเกิดบาดแผลฉีกขาดบริเวณผิวหนัง เชื้อชนิดนี้ก็สามารถก่อโรคได้ โดยก่อโรคตั้งแต่ระดับไม่รุนแรง เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง (ฝี) จนกระทั่งก่อโรคระดับรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ข้ออักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด จนเสียชีวิต ในปัจจุบันนั้น การรักษาการติดเชื้อ S. aureus ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากเชื้อตัวนี้การดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายขนาน ประกอบกับยังไม่มีวัคซีนรักษา หนทางที่น่าจะมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อตัวนี้คือ พยายามหาทางกำจัดมันออกไป (decolonization) ก่อนที่มันจะก่อโรค
คำถามวิจัยของการศึกษาครั้งนี้ อัตราการพบประชากรที่มี S. aureus ในทางเดินอาหาร และในโพรงจมูกในประเทศไทยมีมากน้อยเพียงใด โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระของอาสาสมัครสุขภาพดีจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยจำนวน 200 คน มาป้ายลงในอาหารเลี้ยงเชื้อพบว่า มีอาสาสมัครจำนวน 25 ราย ที่มี S. aureus ในทางเดินอาหาร และ 26 รายพบในโพรงจมูก แต่ระหว่างที่ทำการทดลองนั้นได้สังเกตเห็นอะไรบางอย่าง ในอาหารเลี้ยงเชื้อของอาสาสมัครที่ไม่พบ S. aureus นั้น จะมีเชื้อ Bacillus (ซึ่งมักจะพบได้จากอาหารประเภทผักตามธรรมชาติและขายตามตลาดสด) เจริญเติบโตอยู่ ซึ่งในทางกลับกัน หากพบ S. aureus ในอาหารเลี้ยงเชื้อ จะไม่พบเชื้อ Bacillus
จากนั้นเมื่อทดสอบการเจริญเติบโตของเชื้อจากตัวอย่างทั้งหมดพบว่า อาสาสมัครจำนวน 101 คน ที่มีเชื้อ Bacillus จะไม่พบ S. aureus เลย ไม่ว่าจะเป็นในทางเดินอาหาร หรือในโพรงจมูก จึงเกิดสมมติฐานว่า เชื้อ Bacillus น่าจะรบกวนการเจริญเติบโตของเชื้อ S. aureus ในทางเดินอาหาร จึงเริ่มทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบว่าเชื้อ Bacillus สามารถฆ่าเชื้อ S. aureus ได้หรือไม่ ผลปรากฏว่าเชื้อ Bacillus ไม่สามารถฆ่าเชื้อ S. aureus แล้ว Bacillus มันทำอะไรกับ S. aureus แล้ว S. aureus เจริญเติบโตในทางเดินอาหารโดยผ่านกลไกใด ซึ่งผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า S. aureus เจริญเติบโตในทางเดินอาหารโดยผ่านกลไก Quorum-sensing และพบว่า เชื้อ Bacillus จะสร้างสารไลโพแพพไทด์ (lipopeptide) ที่ชื่อว่า Fengycin ซึ่งสามารถยับยั้งกลไก Quorum-sensing ของเชื้อ S. aureus ได้
“อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาแรกที่ค้นพบว่า Probiotic Bacillus สามารถรบกวนการทำงานของกลไกของเชื้อก่อโรคอย่าง MRSA ได้ ซึ่งการรบกวนกลไกดังกล่าวทำให้เชื้อก่อโรคไม่สามารถการเจริญเติบโตในทางเดินอาหาร และโพรงจมูกได้ งานวิจัยนี้ต้องการสื่อว่า คนไทยเรากินผักเยอะ มีทั้งผักสด ผักต้ม ตลอดจน snack ก็ยังเป็นผัก ซึ่งผักต่างๆ นั้น น่าจะมีการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ Bacillus อันเป็นที่มาว่า ทำไมคนไทย ถึงมีอัตราการเจริญเติบโตของเชื้อ S. aureus ต่ำกว่าคนชาติตะวันตกครับ” ดร.พิพัฒน์ กล่าวเสริม
"