แร็ก - วิภาต เลิศปัญญา ศิษย์เก่าสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ไม่ได้เรียนด้านดนตรีและงานโฆษณามาโดยตรง แต่ในวันนี้ แร็ก ในวัย 42 ปี เป็น Creative Director บริษัท MAGIC BEAM พร้อมอีกหนึ่งเส้นทางที่เขาได้ฝากผลงานไว้กับเสียงกีตาร์ให้กับวง “My Life as Ali Thomas” โดยเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของวงที่ร่วมรังสรรค์ภาคดนตรีได้อย่างสวยงามและน่าทึ่ง
เพลงของพวกเขาติดชาร์ตของคลื่นวิทยุดัง “Cat Radio” และมีบางบทเพลง “Only Reason” ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “The Moment” และ Paper ประกอบภาพยนตร์สั้น "The Other Place" นอกจากนี้ My Life as Ali Thomas ยังเป็นวงอินดี้ที่ได้รับเชิญไปร่วมเล่นเทศกาลต่างประเทศหลายเวที อาทิ "Music Matters Festival" ประเทศสิงคโปร์ "Taichung International Cuisines Festival" และ “Golden Melody Awards & Festival 2017" เทศกาลดนตรีที่ประเทศไต้หวัน จนมาถึงการเป็น 1 ใน 4 วงดนตรีของไทย ที่ได้เข้าร่วมแสดงในงาน "South by Southwest Music Festival 2019" ณ เมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
แต่กว่าเส้นทางฝันจะเป็นจริง ไม่ได้ใช้เวลาเพียงเดือนเดียว ปีเดียว ทุกย่างก้าวของเขาล้วนผ่านบททดสอบมาหลากหลาย จนมีช่วงถอดใจ แต่ยังมีย่างก้าวใหม่ที่น่าติดตามมาจนมีวันนี้… ฉะนั้นบทสนทนานี้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่กำลังวนเวียนอยู่กับสิ่งที่เขาคิดในชีวิตช่วงนี้ และสิ่งที่เขาฝ่าฝันมาในชีวิตช่วงเวลาเหล่านั้น
แร็ก เริ่มเล่าให้ฟังว่า ชีวิตวัยเด็กของเขาค่อนข้างเป็นเด็กที่ซนและเกเร ชอบทำกิจกรรม รักการวาดรูป สนใจดนตรี แต่จบที่สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยพื้นฐานแน่นอนเขาเคยวาด เคยเรียนศิลปะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีนำพาเอาเวลาส่วนใหญ่ของเขาไป เรียกว่ายังไม่พ้นรั้วมหาวิทยาลัย เขาก็ชัดเจนกับความฝันในด้านดนตรี
“ตอนเด็กๆ เป็นเด็กที่ชอบเล่นไปหมด เป็นเด็กกิจกรรม ฟันดาบก็เล่น ยิมนาสติกก็เล่น วาดรูป เรียนอิเล็กโทน แต่ตอนนั้นยังไม่ได้จับกีตาร์เลย จนมาถึงจุดเปลี่ยนเข้ามาเรียนในกรุงเทพ แม่เห็นชอบเรียนศิลปะเยอะ ก็เลยให้ไปเรียนช่างศิลป์ ก็เริ่มเข้ามาสู่งานศิลปะมากขึ้น ก่อนจะมาจบที่ ม.รังสิต ซึ่งช่วงนั้นนอกจากเรื่องศิลปะที่สนใจอยู่แล้วก็สนใจดนตรี ก็เริ่มไปเรียนดนตรีกับเพื่อนที่สยาม ตอนนั้นตามประสาเด็กเกเรรู้สึกไปเรียนสยามเหมือนได้ไปเที่ยวเล่นสยามมากกว่า”
หลังเรียนจบ ม.รังสิต แร็กได้เดินตามเส้นทางที่ฝึกงาน คือสายของภาพยนตร์โฆษณา และเริ่มงานแรกกับเพื่อนสมัยเรียน ม. รังสิต ในสายงานทางด้านวิชวล “เอาจริงๆ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจบแล้วจะทำอะไร ก็เลยมาฝึกกับเพื่อนก่อน พอทำได้สักพักก็เขียนบอร์ดปกติ ก็อยู่กับพี่ๆ ครีเอทีฟนี่แหละ จนพี่ๆ เขาชักชวนมาเป็นครีเอทีฟ นั่นเลยเป็นจุดตั้งต้นที่ทำงานจนถึงทุกวันนี้ มาทำเกี่ยวกับดนตรีจริงๆ จังๆ ก็ตอน เจอเพื่อนๆ ที่เคยเรียนดนตรีที่สยามมาขวนให้ไปเล่นเพลง Cover เพลงญี่ปุ่น ตอนนั้นเราไม่เคยฟังเพลงญี่ปุ่นเลย เพราะมาในยุค 90 ก็จะฟังแต่พวกดนตรีฝั่งอังกฤษ เช่น Oasis พี่ๆ ในรังสิตเองก็จะเป็นแบบนั้น แต่เราก็ไม่ทิ้งโอกาสก็ลองทำเพลง cover เพลงญี่ปุ่นดู นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่มีเวทีให้เล่น”
ระหว่างเริ่มมีเวทีให้ได้ลองฝึกฝนฝีมือ ขณะเดียวกัน แร็ก - วิภาต ก็ยังทำงานประจำในสายงานครีเอทีฟอยู่ และแม้ยังไม่ประสบผลสำเร็จจริงจังในเส้นทางสายดนตรี แต่เขาก็ไม่ได้หยุด ยังคงหาเวลาไปเล่นดนตรีกลางคืน จนพบเพื่อนที่ชอบเพลงสไตล์เดียวกันและทำวงของตัวเองขึ้นมา ด้วยความตั้งใจว่าจะลาออกจากงานประจำ แล้วตั้งวง Cover เพลงวง Oasis จะไปเล่นในผับที่ฮ่องกงที่เขาเล่นแต่เพลง Oasis จนแล้วจนรอดในที่สุดวงก็ออดิชันผ่าน แต่เกิดปัญหากับผับเสียก่อน จึงทำให้ความฝันของเขาตอนนั้นพังทลายลง เขาเลยหันเหเข็มทิศชีวิตไปเล่นดนตรีกลางคืนตามร้านดังๆ ในกรุงเทพ เช่นเคย ซึ่งเขาใช้เวลากับการทำงานและการเล่นดนตรีกลางวันอยู่แบบนั้นกว่า 10 ปี กว่าจะเกิดเป็นวง “My Life as Ali Thomas” ที่เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกปัจจุบันนี้
เครดิตรูป facebook : my life as ali thomas
“ตอนทำวง My Life as Ali Thomas แรกๆ ยอมรับว่ามันไม่ใช่สไตล์เราเลย พายเขาเล่นโฟล์คคันทรี ซึ่งเราจะเป็นแนวร็อกๆ หน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร ก็ลองไปแจมดู พอแจมก็ยิ่งคิดว่าไม่ใช่ แต่พี่คนที่ชวนบอกว่าได้ และบอกว่าจะให้ไปเปิดวงดนตรีหนึ่ง ก็นั่งคุยกันว่า เล่นสองคนเหงาตาย เลยชวนสมาชิกมาเรื่อย ๆ ตอนนั้นมันก็ค่อนข้างกะท่อนกะแท่น เพราะทุกคนส่วนใหญ่มาจากการแนะนำกัน ทุกคนก็มีสไตล์ที่ตัวเองชอบ จนมาเริ่มลงตัวตอนปล่อยอัลบั้ม Paper”
หากย้อนกลับไปปี 2557 My Life as Ali Thomas เคยมีผลงานเพลงแรกในรูปแบบดาวน์โหลด กับค่าย Tigger Twins อยู่สองเพลง Lover to Lover และ All My Inventions ก่อนจะมีมาอยู่ในค่าย Warner Music Thailand พร้อมสมาชิกปัจจุบัน กับอัลบั้ม Paper เมื่อ พ.ศ. 2559 จนประสบความสำเร็จได้ออกทัวร์ต่างประเทศหลายเทศกาลทั้งในประเทศไต้หวัน สิงค์โปร์ และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ My Life as Ali Thomas กำลังจะมีอัลบั้มที่ 2 ในปี 2562
เครดิตรูป facebook : my life as ali thomas
“ความฝันการเป็นนักดนตรีทำวง มันไม่ง่ายเลย เราผ่านมาหมด พยายามทำวงก็ไปไม่ได้ ทำวงแล้วไปไม่รอด วงแตกก็มี จนบางทีก็ลืมฝันนี้ไปแล้วพอตอนได้เริ่มทำอัลบั้มในห้องอัด ตอนนั้นเพิ่งเริ่มคิดว่า เฮ้ยความฝันเรากลับมาแล้ว ทั้งๆ ที่จริงๆ ตอนนั้นก็ 30 ปลายๆ แล้วนะ แต่น้องทุกคนเพิ่ง 28 มันค่อนข้างมีช่วงอายุที่ห่างกัน หลายคนชอบถามว่าทำไมวงมีความประหลาด ก็เพราะทุกคนในวงไม่เหมือนกัน มันเลยเป็นการมิกซ์ แอนด์ แมทช์ ที่ลงตัว แล้วพอถึงวันที่ได้ออกอัลบั้ม เรารู้สึกว่าความฝันของเราสำเร็จแล้ว ต่อจากนี้ก็อยู่ที่ว่ามันจะไปได้ถึงไหนต่อ”
“สำหรับเราการเป็นนักดนตรีต้องฟังเพลงเยอะๆ ฟังว่าที่อื่นเขาทำอะไรกันมาแล้ว ทำแล้วจะไปเหมือนใครหรือเปล่า เราเชื่อว่า Reference กับการ Copy มันต่างกัน ดังนั้น Reference ที่เราเข้าใจก็คือ การฟังเยอะ ดูเยอะ ใช้ชีวิตเยอะๆ แล้วค่อยย่อยมันออกมาเป็นตัวเรา พยายามเชคเยอะๆ ไม่ให้ไปซ้ำกับใคร มันอาจเชคไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เราก็แค่ทำให้เต็มที่ แล้วแสดงจุดยืนไป แต่เราต้องชอบเพลงเราก่อน เพราะถ้าเราชอบเพลงเรา มันก็ต้องมีคนที่ชอบเพลงเรา แต่ก็ต้องมีคนไม่ชอบเพลงเรา เป็นของคู่กัน แต่เราแค่ต้องมีจุดยืน”
แต่ไม่ใช่พาร์ทของการเป็นนักดนตรี ทุกวันนี้อาชีพประจำของ แร็ก-วิภาต เลิศปัญญา ด้านสายงานโฆษณา ก็ไม่ได้ขาดตกบกพร่อง “งานดนตรีและงานโฆษณาสำหรับเรามันเสริมกันอยู่ สำหรับสายงานครีเอทีฟ เราได้แนวคิดจากการเรียนที่ ม. รังสิต มาเหมือนกันนะ ในด้านมุมมอง ความเข้าใจในองค์ประกอบ การใช้สี ในการเอาศิลปะออกมายังไงให้เข้ากับงานโฆษณา แล้วเทคนิคทั้งหลายมาเริ่มเรียนรู้จากการทำงานจริงจากพี่ๆ ในสายงาน”
“เอาจริงๆ งานครีเอทีฟกับงานดนตรีก็ค่อนข้างคล้ายกัน มันเริ่มต้นจากความคิด อย่างเวลาเล่นไลน์กีตาร์อันนี้ยังไม่ดี ก็คิดใหม่ มาผสมในเพลงแล้วยังไม่ใช่ก็ต้องแก้ใหม่ แต่ถ้าถามว่าครีเอทีฟมีวันที่คิดงานไม่ออกไหม มีเยอะแยะ เวลาคิดงานไม่ออกก็ต้องคิดใหม่ แต่ก็ต้องคำนึงถึงเวลาด้วย ถ้ายังคิดไม่ได้ในเวลาที่กำหนด ก็พักแป๊บนึง หา Reference กลับบ้านก็คิด นั่งรถก็คิด อาบน้ำก็คิด ต้องคิดให้ได้ วนไปเรื่อยๆ แล้วเขียนไว้ แต่ชอบไม่ชอบอีกเรื่อง เหมือนเปิดประตูให้เราหลายๆ ทางไว้ บางทีมันอาจจะเอามาจอยกันได้ สำหรับเรางานดนตรีและงานครีเอทีฟมันช่วยเติมเต็มชีวิตเราในทุกวันนี้ คืองานดนตรีก็ช่วยเติมเต็มงานด้านครีเอทีฟเวลาเราเลือกใช้เพลงกับโปรดักส์ ส่วนงานครีเอทีฟก็มาเติมเต็มชีวิตของเราในการคิดพาร์ทดนตรี”
"