นวัตกรรม รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (AC Induction Motor) ของนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คว้ารางวัลชมเชย จากเวทีการประกวดนวัตกรรมยานยนต์ “Motor expo automotive innovation award 2018”

นายเนติธร โพธิ์เจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าถึงผลงานของตนว่า กระแสการประหยัดพลังงานกำลังมาแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผมกับเพื่อนสนใจทางด้านนี้ และมีโอกาสได้ดูคลิปเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลา โดยรถไฟฟ้าดังกล่าวใช้มอเตอร์แบบ AC Induction Motor (มอเตอร์กระแสสลับ) ซึ่งต่างจากรถไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้ DC Motor (มอเตอร์กระแสตรง) หรือ Hub Motor (มอเตอร์ดูมล้อ) ซึ่ง AC Induction Motor มีราคาถูกว่ามอเตอร์ชนิดอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น และจากคลิปที่ดูเราสามารถใช้พื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์ใช้ได้ จึงทำให้เราเกิดแนวคิดในการพัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขึ้นมาเป็นโปรเจกต์จบ จึงนำแนวคิดนี้มาปรึกษาอาจารย์สกุล หิรัญเดช อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงความเป็นไปได้ที่จะทำ ซึ่งอาจารย์ก็ไฟเขียวให้พวกเราลงมือทำได้เลย


เราเลือกนำแนวคิดข้างต้นมาพัฒนากับรถมอเตอร์ไซค์เพราะมีต้นทุนในการศึกษาวิจัยน้อยกว่าการพัฒนากับรถยนต์ อีกทั้งรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก จึงคิดว่าถ้าเราสามารถพัฒนาต้นแบบขึ้นมาได้ ในอนาคตหากมีการพัฒนาต่อประเทศไทยเราน่าจะมีนวัตกรรมที่ผลิตใช้เองภายในประเทศและราคาก็จะถูกกว่าการนำเข้า เป็นต้น ซึ่งผลงานรถมอเตอร์ไซไฟฟ้า (AC Induction Motor) ได้นำไปแสดงในงาน Motor Expo 2018 โดยได้รับรางวัลชมเชย ในการประกวดนวัตกรรมยานยนต์ “Motor expo automotive innovation award 2018” และได้รับการคัดเลือกให้จัดแสดงนิทรรศการ โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่” ประจำปี 2562 ระดับอุดมศึกษา กลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก อีกด้วย


รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันนี้สามารถทำความเร็วได้ 40 กม./ ชม. การขับเคลื่อนราบรื่นไม่กระตุก เหตุผลที่ทำความเร็วได้น้อยเนื่องจากรถมอเตอร์ไซค์มีขนาดค่อนข้างใหญ่ รวมกับน้ำหนักของแบตเตอรี่ 4 ลูก และน้ำหนักคนขับ จึงทำให้โดยรวมมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ซึ่งหากมีการพัฒนาต่อก็จะสามารถลดข้อเสียต่างๆ ออกไปได้


“จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมชิ้นนี้ทำให้พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งาน/ การทำงาน ของ AC Induction Motor ว่าเราสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นได้ในอนาคต เช่น การเพิ่มความเร็วให้เท่ากับรถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป และสามารถผลิตขึ้นเองภายในประเทศ จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าชิ้นส่วนในการผลิต เพราะปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต้องนำเข้ามอเตอร์และชุดควบคุมมาจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าเราสามารถใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศไทย ก็จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก ซึ่งในอนาคตหากมีผู้สนใจลงทุนศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ก็จะสามารถผลิตรถมอเตอร์ไซไฟฟ้าหรือยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาใช้เองในประเทศ ถือเป็นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” นายเนติธร กล่าว

เจ้าของผลงาน (จากซ้าย)
นางสาวสรวงภัทร ธูระสะ อาจารย์สกุล หิรัญเดช (อาจารย์ที่ปรึกษา) นางสาวช่อผกา สิมลา และนายเนติธร โพธิ์เจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
"