ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เรียกว่าคนในหลากหลายวงการได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นวงการธุรกิจ บันเทิง การศึกษา หรือแม้แต่กระทั่งวงการสื่อสารมวลชน คนทำสื่อเองก็ต้องมีการปรับตัวในการทำงาน เพื่อให้งานสามารถเดินต่อได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีวิธีการดูแลตัวเองควบคู่กันไปด้วย วันนี้เรามีพี่ศิษย์เก่าวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มาบอกเล่าการปรับตัวการทำงานในฐานะคนสื่อ ตามไปดูกันว่าเค้าต้องตัวและปรับการทำงานอย่างไรกันบ้างในสถานการณ์ COVID-19

อุบลรัตน์ เถาว์น้อย (หมิว) ศิษย์เก่าสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์ม วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งผู้ประกาศข่าว ช่องเนชั่นทีวี กล่าวว่า การทำงานในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ถือว่ากระทบกับการทำงานในบางส่วน เช่น ประเด็นข่าวรูทีนที่ลดลง อย่างข่าวการเมืองที่ปกติเราต้องติดตามความเคลื่อนไหวของนักการเมืองก็จะน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีการประชุมสภา ไม่มีการประชุมกรรมาธิการสามัญและวิสามัญ จึงต้องเปลี่ยนประเด็นในการนำเสนอข่าวมาเป็นการจับความเคลื่อนไหวของนักการเมืองในโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่น เฟสบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ และอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการสัมภาษณ์แหล่งข่าวในรูปแบบ exclusive talk นั่งคุยกันตัวต่อตัวในช่วงสถานการณ์แบบนี้ก็ทำได้น้อยลง ผู้สื่อข่าวจึงต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีการโทรสัมภาษณ์ (Phone in) เข้ารายการแทน ซึ่งบางครั้งอาจจะติดเรื่องของเวลาที่ค่อนข้างมีจำกัดทำให้ต้องบีบประเด็นให้แคบลงกว่าเดิม โดยในการทำข่าวช่วงนี้ จากเดิมที่เป็นรูปแบบรายการเน้นทางด้านการเมือง ก็ต้องนำเสนอให้เชื่อมโยงกับเรื่อง COVID-19 มากขึ้น เพื่อดึงความสนใจจากคนดูให้ได้มากที่สุด

ธรรธฤต ปั้นทอง (เเบงก์) ศิษย์เก่าสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์ม วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งด้านการตลาด บริษัทโจษจัน จำกัด (เพจอีจัน) กล่าวว่า ในเบื้องต้นส่วนงานที่ตนเองรับผิดชอบคือ ดูเเลลูกค้าที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับองค์กร เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทปตทจำกัดมหาชน (ปตท.) เป็นต้น โดยในส่วนของกระบวนการทำงานโดยรวมนั้น ต้องหาลูกค้า คิดคอนเทนต์ ประสานงาน พิธีกร นักข่าว ตัดต่อ ถ่ายภาพนิ่ง จัดงานอีเวนต์เพื่อการกุศล รวมถึงกิจกรรม CSR ในบางโอกาส ซึ่งสำหรับการทำงานในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ก็ถือว่าได้รับกระทบต่อการทำงานเช่นกัน โดยมีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยทางองค์กรได้ปรับกลยุทธ์ในการผลิตข่าวผ่านเว็บไซต์อีจันมากขึ้น จากเดิมที่ปกติผลิตข่าว จำนวน 30 ข่าวต่อวัน แต่ตอนนี้ต้องผลิตข่าวให้ได้มากถึง 90-100 ข่าวต่อวัน เพื่อเพิ่มพื้นที่โฆษณาสินค้าในเว็บไซต์ เพื่อช่วยให้องค์กรมีรายได้เพิ่มและสามารถดำเนินงานต่อไปได้เพื่อเป็นสายป่านในการหล่อเลี้ยงบุคลากรให้เดินผ่านวิกฤตไปด้วยกัน ขณะที่ตนเองก็ต้องเปลี่ยนจากงานด้านการตลาดมาทำตำเเหน่งนักข่าวจำเป็นชั่วคราว โดยภายใน1 วัน นักข่าวต้องผลิตข่าวให้ได้ 10 ข่าวต่อ 1 คน โดยให้มีการเผยเเพร่ข่าวเเรกตั้งเเต่ 06.00-01.00 น. อย่างไรก็ตาม กับวิฤตที่เกิดขึ้นหากมองในมุมบวก ข้อดีในช่วงวิกฤตนี้คือ ทำให้เราได้ทบทวนกระบวนการความคิดของเราว่า ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ทำอะไรอีกบ้าง และสิ่งที่ทำอยู่ในวันนี้ เป็นความสุขที่เเท้จริงที่ชีวิตตามหาเเล้วหรือยัง? เเละต่อจากนี้ไปเราอยากจะทำอะไรเพื่อตนเอง ครอบครัว คนรอบข้างและสังคมบ้าง
.jpg)
ทศพล เพิ่มพูล (ไมโล) ศิษย์เก่าสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์ม วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Social Media Editor (ผู้ดูแลสื่อออนไลน์) a day magazine กล่าวว่า ในส่วนของงานที่ตนเองต้องนั้นดูแลคือ จัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์ adaymagazine.com รวมทั้งนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อในโซเชียลมีเดียของ a day ได้แก่ facebook, twitter, instagram, LINE Official Account, Newsletter และแพลตฟอร์มต่างๆ ของ podcast พร้อมเขียนแคปชั่นบอกเล่าใจความของเนื้อหา โดยต้องบริหารจัดการตารางเวลาในการเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย เก็บข้อมูลสถิติในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ a day เพื่อนำไปวิเคราะห์และใช้ให้เกิดประโยชน์ ประเมินกลุ่มเป้าหมาย ยิงแอดโฆษณา บูสต์โพสต์ในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งตอบข้อความและคอมเมนต์ต่างๆ ซึ่งหากถามว่าตรงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับงานที่เราทำโดยตรงคือ มีทั้งมีเดียแพลนที่วางแผนไว้ต้องเลื่อนออกไป เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด หรือยกเลิกก็มี ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานเป็น Work From Home เพราะไม่สามารถเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่เนื้องานที่เราทำอยู่นั้นเป็นงานออนไลน์ การประชุมงาน สั่งงาน ส่งงานจึงสามารถปรับเป็นออนไลน์ได้ ส่วนคอนเทนต์ที่ทำก็ปรับเป็นแบบที่ไม่ต้องใช้โปรดักชั่น สามารถเขียนเรียบเรียงได้จากข้อมูลที่มีอยู่ โดยเน้นให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโควิดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคน รวมทั้งทำงานในทุกวงการ ให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน… FIGHT TOGETHER
"