“ชีวิตเราสั้นเพราะฉะนั้นพยายามใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อส่งต่อความดีให้แก่สังคมไทยน่าอยู่ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ คนรอบข้างก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย สังคมก็จะเปลี่ยนแปลง โลกก็จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าทุกคนคิดแบบนี้ประเทศไทยก็จะน่าอยู่ โลกนี้ก็จะสวยงาม”
ข้อคิดในการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของคุณมานะ รุจิระยรรยง (คุณจง) ที่ยึดถือและปฏิบัติมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี หลังจากที่ค้นพบแล้วว่าตนเองมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะอุทิศตนเพื่องานด้านสังคมสงเคราะห์
ประธานคนแรก ชมรมศึกษาและพัฒนายุวชน ม.รังสิต
คุณมานะ รุจิระยรรยง (คุณจง) ศิษย์เก่าสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้เราฟังว่า ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่มีความตั้งใจอยากสานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่ด้วยความที่เป็นพี่ชายคนโตจึงอยากอยู่ดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่ตอนนั้นสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก แต่เมื่อสบโอกาสจึงตามน้องชายและเพื่อนๆ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อทำตามฝัน ในตอนนั้นมีรุ่นน้องและเพื่อนๆ มาเรียนพร้อมกันหลายคน พวกเราจึงอยู่บ้านหลังเดียวกัน และด้วยความที่ผมเป็นพี่คนโตจึงรับบทพี่ชายคอยดูแลน้องๆ อีก 7 คน ชีวิตช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่พวกเราสนุกที่สุด ดูแลกันเองโดยที่ไม่มีผู้ปกครอง ถึงแม้จะมีออกนอกลู่นอกทางบ้างตามประสาผู้ชาย แต่ทุกคนก็มีเป้าหมายในชีวิตคือ “ต้องเรียนให้จบ”
ชีวิตในมหาวิทยาลัยของพวกเรา คือ การใช้เวลานอกห้องเรียนนอกมหาวิทยาลัยเสียเป็นส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ออกค่ายอาสา การทำกิจกรรมต่างๆ (แต่เวลาเรียนก็ตั้งใจเรียน) จนกระทั่งรวมกลุ่มกันกับน้องๆ และเพื่อนๆ ก่อตั้งชมรมศึกษาและพัฒนายุวชน ซึ่งผมเป็นประธานคนแรก โดยเชิญ ศาสตราจารย์ ธำรง เปรมปรีดิ์ อาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
จุดเปลี่ยนความคิด : อุทิศตนเพื่อสังคม
ด้วยความที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากกลับไปอยู่ดูแลคุณพ่อคุณแม่และอยากกลับไปเป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด หลังเรียนจบคุณจงจึงกลับไปทำธุรกิจ ทำเกษตรกรรม และเป็นอาจารย์พิเศษที่สถาบันราชภัฎสุราษฎร์ธานี แต่ด้วยความที่เป็นคนรักอิสระไม่ชอบทำงานเป็นเวลาจึงลาออก เบนเข็มไปทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นซึ่งระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้เข้ามาเป็นทีมงานเบื้องหลังให้แก่การเมืองท้องถิ่นด้วย แต่เมื่อถูกทาบทามและวางตัวให้มาทำงานเบื้องหน้า หลังจากที่ใช้เวลาตัดสินใจอยู่นั้น คิดว่าแนวทางนี้ไม่ได้เหมาะสมกับตัวของเราเอง จึงปฏิเสธและล้มเลิกไป
“ความที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงการเมืองทำให้ได้เห็นปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเกี่ยวกับเด็กยากไร้ แหล่งสลัม และชุมชนแออัดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเราชอบงานด้านสังคมสงเคราะห์มากกว่า และอยากมีส่วนช่วยให้เด็กๆ เหล่านั้นมีอนาคตที่ดีขึ้น จึงตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนหนังสือกึ่งสังคมสงเคราะห์ เพราะส่วนใหญ่เด็กที่มาเรียนจะเป็นเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เราจึงเก็บค่าเรียนตามกำลังที่ผู้ปกครองสามารถจะจ่ายได้ ส่วนเด็กคนไหนที่ไม่มีกำลังก็ให้เรียนฟรี นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการกุศลที่บริจาคสิ่งของเครื่องใช้ มอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากไร้มาโดยตลอด”
เพราะชีวิตเราสั้น ฉะนั้นพยายามใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์
ปี 2007 หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์สึนามิถล่มทะเลอันดามัน ทำให้คุณจงได้มีโอกาสพบกับ อาจารย์ลาร์ส ฮอนเบิร์ก และคณาจารย์จากองค์การเฟลิกซ์นานาชาติ ประเทศสวีเดน (องค์กรคริสเตียนนานาชาติที่จัดตั้งครั้งแรกที่ประเทศโรมาเนีย) ที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้ามาร่วมช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียพ่อแม่จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่จังหวัดระนอง ซึ่งเมื่อทีมงานเข้ามาสำรวจพื้นที่แล้วพบว่า พื้นที่ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากองค์กรต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงมีความคิดว่าควรจะสร้างโครงการที่มีความยั่งยืนและมีผลต่ออนาคตของเด็กไทยและประเทศไทย ดังนั้น จึงมีมติให้มีการก่อตั้งชุมชนครอบครัว เฟลิกซ์ขึ้นในประเทศไทย โดยขณะนั้นคุณจงรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านต่างประเทศขององค์กรคริสตจักรพระกิตติคุณสมบูรณ์ในประเทศไทย ร่วมเดินทางไปประชาสัมพันธ์และเป็นล่ามให้แก่อาจารย์ลาร์ส ฮอนเบิร์ก ในการประชาสัมพันธ์พันธกิจให้แก่คริสตจักรต่างๆ ในประเทศไทย กระทั่งมีมติให้ก่อตั้งชุมชนครอบครัวเฟลิกซ์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
Felix Family Village International : ครอบครัวอุปถัมภ์ทดแทนถาวร
เมื่อเราได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานในการผลักดันให้เกิดมูลนิธิครอบครัวเฟลิกซ์ขึ้นมา ผมจึงคุยกับภรรยา (คุณจรรยารักษ์ รุจิระยรรยง ศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต) และคุณพ่อคุณแม่ว่า เราจะอุทิศตัวเป็นอาสาสมัครให้แก่ครอบครัวอุปถัมภ์ถาวรของมูลนิธิฯ บทบาทหน้าที่ของครอบครัวอุปถัมภ์คือ เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ให้การดูแลเด็กกำพร้าหรือเด็กยากไร้เสมือนลูกของตนด้วยการดูแลเขาอย่างดีที่สุด ในครอบครัวที่อบอุ่นเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งทุกคนในครอบครัวต่างให้การสนับสนุน
“ก่อนที่เราจะทำหน้าที่ครอบครัวอุปถัมภ์ฯ ทางมูลนิธิได้เชิญผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิครอบครัวเฟลิกซ์ ประเทศโรมาเนีย มาให้ความรู้ความเข้าใจแก่อาสาสมัคร และปลายปี 2007 ผมและภรรยา ได้เดินทางไปดูงานที่ชุมชนครอบครัวเฟลิกซ์ เมืองโอราเดีย ประเทศโรมาเนีย เพื่อศึกษาดูงานและนำมาเป็นแบบอย่างและประยุกต์ให้เข้ากับบริบทแบบสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิครอบครัวเฟลิกซ์ประเทศไทย มีครอบครัวอาสาสมัครอยู่ 10 ครอบครัว มีเด็กๆ ในความดูแล 80 คน ซึ่งครอบครัวของผมนั้น เลี้ยงลูกของตนเอง 4 คน และลูกในความดูแลอีก 6 คน จนถึงวันนี้เป็นเวลา 13 ปีแล้วที่เราทำหน้าที่เป็นครอบครัวอาสาสมัคร”
“ครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรเราเคยลำบากมาก่อน แต่อาศัยความอดทนความขยันหมั่นเพียรของคุณพ่อคุณแม่สร้างเนื้อสร้างตัว จากครอบครัวเล็กๆ จนพอมีฐานะตามสภาพทั่วไปในสังคม เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราได้รับมาเราสมควรที่จะตอบแทนสังคม ดังนั้น สิ่งที่เรามีในวันนี้เราก็ควรจะส่งต่อเพื่อเป็นพรให้แก่คนรุ่นหลัง หรือทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่สังคมเท่าที่เราจะทำได้”
บทบาทชีวิตที่หลากหลาย
ปัจจุบันคุณจงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ในการดูแลครอบครัวอุปถัมภ์แล้วยังมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์พันธกิจครอบครัวเฟลิกซ์ ประเทศไทย เพื่อจัดหาทุนสนับสนุนให้แก่มูลนิธิฯ ไม่เพียงเท่านี้ด้วยความที่เป็นคนไม่หยุดนิ่ง คุณจงจึงมีบทบาทหน้าที่อีกมากมาย อาทิ ศิษยาภิบาล คริสตจักรนิมิตใหม่ ผู้ประสานงานสโมสรไลออนส์เมืองคนดี ฝ่ายต่างประเทศไลออนส์สากล (LCIF) ดูแลฝ่ายพัฒนาเยาวชน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชนคริสเตียน 89.5 MHz. และบทบาทหน้าที่ทางด้านศาสนา
“เนื่องจากครอบครัวเราเป็นคริสเตียนคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้นำของคริสตจักร จึงมีโอกาสได้รับไม้ต่อในตำแหน่งศิษยาภิบาล หรือผู้นำสูงสุดของคริสตจักร มีหน้าที่เป็นศาสนาจารย์ อบรมจริยธรรมให้แก่พี่น้องสมาชิก และงานภาพรวมต่างๆ ภายในคริสตจักร คอยให้คำปรึกษา และสนับสนุนในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ทางด้านศาสนา ผมเป็นเลขานุการขององค์กรคริสตจักรเพนเทคอสสัมพันธ์ในประเทศไทย และเป็นรองประธานสหกิจ คริสเตียนแห่งประเทศไทย ในเขตภาคใต้ ส่วนบทบาทหน้าที่การเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชนคริสเตียน 89.5 MHz. ก็จะร่วมจัดรายการให้แก่สมาชิกชาวคริสเตียน วันจันทร์ เวลา 09.00-10.00 น. “Share to Change” เป็นรายการแบ่งปันเรื่องราวที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ให้สังคมน่าอยู่ สร้างความรักความสามัคคี”
การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด
ถึงแม้จะมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากมายขนาดนี้แต่คุณจงก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้ คุณจงศึกษาต่อระดับปริญญาโทหลักสูตรผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง (หลักสูตรออนไลน์) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยเหตุที่ว่า เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เราจึงต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตามทันโลก
“เราเป็นคนที่สอนคนเป็นผู้นำยิ่งต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่ตลอดเวลาในทุกๆ ด้าน เพื่อจะได้นำความรู้มาถ่ายทอดหรือส่งต่อให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งผมเองอยู่ระหว่างคน 2 รุ่น คือ คนในวัย 50 ปีขึ้นไป และคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก ในบางเรื่องเราต้องทำตัวเป็นเหมือนสะพานคอยเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ แต่ในบางเรื่องเราต้องทำตัวเสมือนกำแพงคอยปกป้องพวกเขา ดังนั้น แง่คิดต่างๆ จากการเรียนเราสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง”
"