คุยกับ ณัฐชนัน เชียภาณุมาศ นักโฆษณามือดี ผู้เชื่อว่าพลังสร้างสรรค์ดีๆ จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่หยุดพัฒนาไอเดีย

30 May 2019

  

     ตลอดระยะเวลามากกว่า 17 ปี ที่ผ่านมา ณัฐชนัน เชียภาณุมาศ หรือณัฐ คือครีเอทีฟมือรางวัลที่มีประสบการณ์การทำงานทั้งในไทย จีนและฮ่องกง ทำงานกับเอเจนซีชื่อดังอย่าง Dentsu Media Thailand (เดนสึ มีเดีย ไทยแลนด์) ในตำแหน่ง Executive Creative Director, เป็น Group Creative Director ที่ Ogilvy & Mather Beijing (โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ปักกิ่ง) และในบริษัท Leo Burnett Hong Kong (โอเบอร์เน็ท ฮ่องกง) กับบทบาท Creative Director พ่วงด้วยรางวัลจากหลากหลายเวทีโลก อาทิ รางวัลโกลด์จาก คานส์ ไลออน, Yellow Pencil จาก D&AD, โกลด์จาก Clio Awards, โกลด์จาก Spike Asia รวมถึง Best of Show จาก ADFEST

     และเมื่อวันนี้ ณัฐชนัน เชียภาณุมาศ ลุกขึ้นมาเปิดบริษัทของตัวเอง MAGIC BEAM เอเจนซี่ครบวงจรที่ดำเนินงานทั้งในไทยและจีน เราจึงไม่พลาดนั่งคุยกับเขา เพื่อแบ่งปันสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยรังสิต สู่การเรียนรู้ในประสบการณ์ทำงาน หรือวิธีคิดอะไรก็ตามที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายโฆษณา

 

 
รู้จักตัวเอง

    ณัฐชนัน เชียภาณุมาศ เป็นศิษย์เก่า คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการโฆษณา มหาวิทยาลัยรังสิต และจบการศึกษาเมื่อปี 2544 เล่าย้อนให้เราฟังว่าเริ่มรู้ตัวตั้งแต่มัธยมแล้วว่า ตัวเองสนใจงานโฆษณา จากการชอบที่จะรับชมโฆษณาต่างๆ โดยเฉพาะโฆษณาโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง ที่ทำให้เขาตัดสินใจว่าอยากทำงานสายโฆษณา ตั้งแต่นั้นมา เขาก็ตั้งใจเลือกเรียนโฆษณาเท่านั้น

     “ผมจำได้ว่าตอนดูโฆษณาโทรศัพท์มือถือตัวนั้น แล้วอยากจะคิดงานแบบนี้ได้ อยากจบมาแล้วคิดงานโฆษณาได้ ก็เลยเลือกมาเรียนด้านโฆษณาที่ ม. รังสิต ในตอนที่เรียน จริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นเด็กกิจกรรม หรือเด็กเรียนอะไรมากมาย เป็นเด็กที่ค่อนข้างเกเรคนหนึ่ง เพียงแต่ตอนเรียนมีวิชาที่เราเป็นพิเศษ อย่างเช่นวิชาที่เราได้คิดงานครีเอทีฟ หรือวิชาถ่ายภาพ จริงๆ วิชาถ่ายภาพเป็นวิชาเลือกที่ผมใช้เวลากับมันค่อนข้างเยอะ นอกจากนั้นก็เป็นวิชามีเดียที่ผมค่อนข้างชอบ นิเทศศาสตร์สอนให้เรารู้จักที่สามารถสื่อสารกับคนได้ดี เพราะฉะนั้นงานโฆษณา แน่นอนเราต้องเจอคนค่อนข้างเยอะ แล้วการที่เราจบนิเทศศาสตร์ทำให้เรารู้ว่าจะเข้าหาคนยังไง เข้าหาสังคมยังไง และสามารถมีวิธีสื่อสารที่แตกต่างกับแต่ละคนได้อย่างไร”

 


ระหว่างเส้นทางนักโฆษณา สู่การเป็นผู้บริหารเอเจนซี่
     หลังจบจากการศึกษา เขาได้นำวิชาความรู้สายโฆษณามาต่อยอดสู่การทำงานในชีวิตจริง โดยเริ่มต้นจากการฝึกงานถึง 2 บริษัท เพื่อเรียนรู้วิชาสายงานโฆษณาให้ได้มากที่สุด จนมีโอกาสได้ทำงานด้านครีเอทีฟ จากบริษัทเล็กๆ สู่บริษัทเอเจนซี่ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นอย่าง ogilvy and mather พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์และได้รับผลตอบแทนเป็นรางวัลมากมาย รวมถึงยังเป็น ครีเอทีฟอันดับที่ 3 ของเอเชีย ประมาณปี 2004


     “ก่อนจะเปิดบริษัท MAGIC BEAM เริ่มมาจากเราได้มีโอกาสทำงานกับคนเก่งๆ เยอะทั้งในไทยและต่างประเทศ จนพอไปอยู่ฮ่องกงและปักกิ่ง เรารู้สึกอิ่มตัวกับการทำงานบริษัทที่ไม่ใช่บริษัทของเรา คือเป้าหมายของผม ชัดเจนตรงที่ว่าเราอยากจะคิดงานในแบบที่เราชอบ อยากเป็นคนตัดสินใจว่าจะเอางานนี้ไปขายลูกค้าหรือส่งประกวด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจมากพอ เราก็ค่อนข้างมุ่งมั่นที่เราจะต้องไต่ขึ้นไปในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจได้มากที่สุด จนในสายงานเราโตขึ้นมาเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าเราได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้ว ในการที่ได้อยู่องค์กรใหญ่ๆ ในตำแหน่งที่ใหญ่ ทีนี้เราเริ่มรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการทำรางวัลแล้ว จริงๆ รางวัลอย่างอื่นในชีวิตมีอีกเยอะแยะ อย่างผมทำงานรางวัลได้คานส์ แม่ยังไม่รู้จักว่าคานส์คืออะไร แล้วรางวัลนี้พูดไปคนทั่วไปก็ไม่รู้จัก เราเลยรู้สึกว่าเราอยากทำสิ่งที่คนทั่วไปรู้จัก ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่ประสบความสำเร็จมาก มันเป็นแค่งานศิลปะชิ้นหนึ่งก็ได้ คือทุกวันนี้ผมก็ไม่นิยามว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นแค่งานโฆษณาเท่านั้น”

 

 


ความยากมาตามเนื้อหางาน
     ด้วยจุดมุ่งหมายอันชัดเจนที่อยากผลิตที่ตัวเองชอบ และมีอำนาจตัดสินใจว่าจะคัดสรรงานชิ้นไหนขายลูกค้าหรือส่งประกวด และแม้ว่าเขาจะผ่านงานองค์ใหญ่ๆ จากต่างประเทศจนการันตีตัวเองได้พอตัว แต่เขาก็ไม่ได้เป็นคนใช้อีโก้เปิดบริษัททันทีเมื่อกลับมาเมืองไทย เพราะเขายังคงไปลับคมฝีมือต่อในบริษัทเอเจนซี่เมืองไทยถึง 2 ปี
แต่ด้วยความมั่นคงกับความคิดนั้น อยากต่อสู้กับงานที่รัก อยากทำให้งานเปล่งประกายที่สุด จนมีวันที่ได้เปิดบริษัท MAGIC BEAM เมื่อปี 2559 ซึ่งทุกอย่างไม่ใช่เรื่องงานเพียงปลายนิ้วเหมือนภาพในวันที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว “จริงๆ ความยากของงานมาตามเนื้อหางานเรื่อยๆ ตอนเป็นเด็กมันมีแค่คิดงานไม่ออก แล้วจบแค่นั้น สิ่งที่เราต้องเอาชนะให้ได้คือความขี้เกียจ ต้องขยันคิดงาน เราอาจต้องนอนดึกกว่าคนอื่นเขาหน่อย แต่พอโตขึ้น ต้องอยู่ในบทบาทที่ต้องบริหารคน ไม่ใช่แค่คิดงานให้ออกแล้ว แต่เราต้องผลักดันและไกด์คนให้ได้ด้วย อธิบายน้องๆ ให้ได้ว่าไอเดียนี้ดีไม่ดี...พอมันเป็นงานที่ต้องบริหารเต็มตัว มันก็ยากขึ้นไปอีกที่เราต้องบริหารลูกค้าให้ได้ บริหารทีมงานให้ได้ แล้วก็ต้องดูแลบริษัทให้ได้ การเปิดบริษัทเราไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้ทั้งหมด เราต้องดูแลเรื่องเงินทั้งกับดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัว ต้องคุมงบสำหรับการผลิตว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่แล้วมันจะคุ้มทุนไหม”

 

 

เป็นต้นแบบที่ดีให้กับรุ่นน้อง

     ตลอด 3 ปีในการบริษัทของตัวเอง ณัฐชนัน เชียภาณุมาศ ยังคงแข็งแรงกับเป้าหมาย เป็นอาจารย์ เป็นต้นแบบ เป็นรุ่นพี่ที่ใส่ใจการงานของน้องๆ และพร้อมส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกคนก้าวหน้าและพัฒนา


     “ผมอาจไม่ได้มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นจริงจัง แต่อยากให้น้องทุกคนที่มาทำงานรู้สึกมีความสุข ซึ่งผมเชื่อว่าพอคนเรามีความสุข สนุก สมองจะไหลลื่น เขาก็จะสนุก เขาจะคิดงานดี ผมคิดว่าที่นี่เป็นบ้านอีกหลังที่ทุกคนมาแล้วได้แชร์กัน แล้วทำอะไรที่สนุกกัน และเวลาประชุมรวมไอเดียกัน ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีแค่ครีเอทีฟอยู่ในห้อง ไม่ว่าใครจะอยู่ในตำแหน่ง ผมเราก็อยากให้ทุกคนได้เข้ามาแชร์ไอเดียกัน เพราะเราจะได้มุมมองที่แตกต่าง อีกมุมหนึ่งผมก็เป็นผู้บริหารที่เข้มงวดเวลาทำงาน คือทุกคนมีงานที่รับผิดชอบของตัวเอง ที่เขาต้องทำให้ได้ตามสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ผมอยากสร้างคนให้เก่งและให้เขามีความสุขกับการทำงานกับเราก่อน เพราะเราไม่ได้มองว่า MAGIC BEAM ต้องเป็นบริษัทที่ใหญ่โต แต่เราอยากเป็นแค่เอเจนซี่เล็กๆ ที่พอพูดชื่อไปแล้ว คนอยากมาทำงานที่นี่ เป็นส่วนร่วมในองค์กรนี้ไม่มากก็น้อย”


     “ทุกคนที่ทำงานสายโฆษณามีโมเมนต์ คิดงานไม่ออกด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือคิดให้มากขึ้น เราก็เหมือนนักกีฬาที่ต้องหมั่นซ้อม เตะให้เข้าประตูให้ได้มากที่สุด การที่เราหมั่นคิดงานเยอะๆ โอกาสที่จะยิงเข้าประตูมันมีมากกว่าคนที่คิดน้อย การเป็นครีเอทีฟที่ดี เราต้องไม่หยุดปั้น แล้วมันจะดีกว่านั้นได้ในทุกๆ ชิ้นงาน เหมือนงานศิลปะ ถ้าเกิดเราหยุดแค่ตรงที่เราพอใจ ชิ้นงานก็ไม่สุด มันไม่มีสูตรลัดในการคิดงานเลย นอกจากคิดให้เยอะ”

 



การทำงานในสายโฆษณาต้องมีแพสชัน และต่อยอดไอเดียไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้ได้
     จริงอยู่ที่พอมองความประสบความสำเร็จของ ณัฐชนัน เชียภาณุมาศ ในวันนี้แล้วมันอาจดูง่ายหรือสวยหรู แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็คงไม่ได้เกิดกับทุกคนที่จะทำได้ ถ้าคุณไม่มีแพสชันมากพอ “ผมว่าอันดับแรกต้องมีแพสชัน ต้องรักในสิ่งที่ตัวเองทำจริงๆ แน่นอนมันเกิดความล้าในการคิดงานได้ง่ายมากๆ เวลาคิดงานไม่ออก ก็จะปวดหัว เครียดปุ๊บก็จะเริ่มสติแตก เพราะฉะนั้นต้องควบคุมความคิดของตัวเองให้ได้ สมองเหมือนเป็นกล้ามเนื้อ ถ้าเราอยากเก่งต้องหมั่นคิดงานออกมาเรื่อยๆ แต่การคิดงานของผม ไม่จำเป็นต้องคิดงานโฆษณา เราคิดออกมาเป็นอย่างอื่นเลยก็ได้ งานศิลปะ สื่อสิ่งพิมพ์ คิดเป็นโปรดักส์ เพียงแต่เราต้องหาทางไปของมันให้เจอให้ได้ ที่สำคัญเราต้องเป็นที่เปิดรับ โลกของเราต้องกว้าง มีความรู้พื้นฐานในหัวค่อนข้างเยอะๆ เพราะไม่ว่าเราจะเจอลูกค้าอะไร เราก็จะพอมีความรู้พื้นฐาน และคุยกับเขารู้เรื่อง”


     “สิ่งที่ผมอยากจะแชร์ก็คือ เราต้องมีแพสชันก่อน และต้องต่อแพสชันไปเรื่อยๆ อย่าหมด แล้วสิ่งที่เราชอบ เราจะทำมันได้ไป 20 -30 ปี โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อ แต่แน่นอนแพลตฟอร์มมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากหนัง โฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ออฟไลน์ ปัจจุบันมีออนไลน์ และวันข้างหน้ามันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มี AI สื่อก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือไอเดีย เพียงแต่เราต้องเอาไอเดียไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้ได้ คือเราต้องพัฒนา เพราะไม่งั้นเราก็ไม่เข้าใจผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ กับสื่อใหม่ๆ และถ้าเราไม่เข้าใจตรงนั้นได้ ก็ไม่ได้สามารถพัฒนาสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ เพราะฉะนั้นที่เราต้องปรับตัวให้ทันโลกให้ได้เป็นสิ่งที่สำคัญ”

 

ความสุขในการทำงาน
     ถึงวันนี้ ณัฐก็ยังคงมีความสุขดีกับการทำงานโฆษณา ความสุขที่เกิดขึ้นจากงานที่เขารัก ความสุขของการได้เป็นผู้ดูแลน้องๆ ในบริษัท ความสุขที่ได้ผลิตงานที่เป็นตัวเองสู่สายคนจำนวนมาก ผ่านผลงานโฆษณาของเขา และอีกหนึ่งความสุขที่ขาดไมได้ก็คือความสุขที่ทำให้ลูกค้าประทับใจ


     “ความสุขของเรามันมีในวันที่งานของเราที่ทำกันมา มันเสร็จสมบูรณ์และได้ออนแอร์ สู่สายตากลุ่มเป้าหมาย ลูกค้าแฮปปี้ที่ฝ่าฟันกันมา แล้วเขาได้ผลตอบแทนในเป้าหมายของเขา เราก็ได้ช่วยเขาในส่วนๆ นั้น แล้วแน่นอน ถ้างานถูกพูดถึง แล้วเขาชื่นชอบ คนที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะชอบ เช่นคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการโฆษณาอะไรอย่างนี้ เราก็จะยิ่งมีความสุขตรงนั้น มากกว่าการที่เราได้รางวัล”

 

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ