สวัสดีคับทุกท่าน... ยินดีต้อนรับสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ สำหรับทริปนี้ อาจารย์อิทจะพาทุกท่านไป เที่ยวชิลๆ “เกาะมันใน เกาะมันกลาง และเกาะทะลุ จ.ระยอง”

Day1: เช้ามืดวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2566 ตามกำหนดการเด็กๆทุกคนต้องมาเช็คชื่อที่จุดจอดรถบัสในมหาลัย เวลา 5.30 น. ล้อหมุน 6.10 น. ใครมาไม่ทันให้ตามมาเอง “ทิ้งเลย555” ไม่มีการรอเด็ดขาด ผมได้กำชับเด็กๆไว้ตั้งแต่การเรียนในห้องแล้ว เพราะเรียนท่องเที่ยวต้องรู้จักรักษาเวลา ต้องมาก่อนลูกค้าเวลาทำทัวร์จริง แต่สุดท้ายก็มีตกรถ มาไม่ทัน 1 นาง โทร.มาบอกว่าจะขึ้นรถตู้ตามมาที่ระยองเอง...”เอาที่สบายใจเลยจร้า555”

ขึ้นเรือสปีดโบ๊ตลำใหญ่
เวลาประมาณ 10 โมงกว่า ถึงที่พัก Aquatic Rayong อ.แกลง จ.ระยอง ที่พักติดทะเล เป็นของลูกศิษย์เก่าของผมเอง ผมให้เด็กๆเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าเตรียมตัวลุยทะเล เราใช้เรือ Speed Boat ลำใหญ่ 1 ลำ จุคนได้ 35 ที่ มุ่งหน้าสู่เกาะมันใน ระหว่างทางเรือจะแล่นเร็วมากและกระแทกกับคลื่นเป็นระยะๆ มีลูกศิษย์สาว 1 นางนั่งหน้าเครียดและบอกผมว่าหนูจะไม่ไหวแล้วคร่า...จะอ๊วก ผมส่งถุงพลาสติกก๊อบแก๊ปให้แก เท่านั้นแหละ อ๊วกพุ่งเลย



จุดแรกที่พวกเราไปแวะชมคือที่ทะเลแหวก เกาะมันใน จังหวัดระยอง หนึ่งเดียวบนทะเลชายฝั่งตะวันออก ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นปีละครั้ง ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ถือเป็นสุดยอดอันซีนไทยแลนด์ (Unseen) อีกแห่งหนึ่ง เราถึงศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันในอันเป็นที่ตั้งของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยที่เต่าทะเล ด้วยทรงตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของไทย นับวันมีแต่จะลดน้อยลง มีสัตว์หลายชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยเฉพาะเต่าทะเล เช่น เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน ซึ่งในอดีตเคยมีเป็นจำนวนมาก บัดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยได้พระราชทานเกาะมันใน จ.ระยอง จัดเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล พระราชทานชื่อว่า โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตัวเกาะตั้งอยู่ห่างจากแหลมแม่พิมพ์ประมาณ 5 กม. เด็กๆเดินชมตามบ่อพักอนุบาลเต่าด้วยความสนใจ จนได้เวลาใกล้เที่ยงก็ขึ้นเรือมาที่เกาะมันกลางเพื่อทานอาหารเที่ยงแบบง่ายๆเป็นข้าวกล่อง และผลไม้ เด็กๆรับข้าวกล่องแล้วแยกย้ายกันหามุมสงบตามโขดหินเพื่อนั่งทานข้าว


จุดต่อมาเรามาที่เกาะทะลุ ถือเป็นแหล่งดำน้ำยอดฮิตแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์สวยงามรอให้ชมอยู่รอบเกาะ นอกจากนี้บนเกาะยังมีชายหาดสวยงามอีกสี่แห่ง ปัจจุบันเกาะทะลุตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด อยู่ห่างจากเกาะกุฎีไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะเด่นของเกาะทะลุอยู่ตรงที่มีความแปลกของธรรมชาติซึ่งเป็นที่มาของชื่อเกาะ โดยบริเวณด้านทิศเหนือจะเป็นแหลมที่มีผาหินคล้ายกับสะพานธรรมชาติ ช่วงกลางจะเป็นช่องกว้างน้ำทะเลลอดทะลุ ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้มีหาดทรายขาวบริเวณกว้างอยู่ 2 จุด เหมาะสำหรับการตั้งแค้มป์พักแรม โดยเฉพาะหน้าหาดทราย ด้านทิศตะวันออกจะมีปะการังขนาดใหญ่เป็นแหล่งดำน้ำลึกและน้ำตื้นอีกแห่งหนึ่ง ก่อนพวกเราจะขึ้นเกาะทะลุ เรือได้แล่นเข้าไปใกล้ๆให้พวกเราได้ถ่ายรูปกันอย่างชัดๆ พอขึ้นเกาะทางเจ้าหน้าที่เรือก็แจกอุปกรณ์ในการดำน้ำให้ทุกคน อีกทั้งยังมีบริการถ่ายภาพใต้น้ำให้พวกเราด้วย ผมปล่อยอิสระให้ทุกคนเล่นน้ำจนได้เวลาบ่ายสามโมงกว่าๆ ก็กลับขึ้นเรือเพื่อมุ่งหน้ากลับรีสอร์ทที่พัก ก่อนที่เรือของเราจะเข้าเทียบท่าที่ฝั่ง กับตันเรือเล่นเสียวทิ้งโค้งอย่างแรง เล่นเอาสาวๆกรี๊ดแหกปากร้องกันสนั่น เสียงเด็กๆตะโกนพร้อมๆกัน “เอาอีก...เอาอีก....เอาอีก” หลังจากนั้นทุกคนแยกย้ายกันเข้าห้องพัก




ผมนัดทุกคนมาทานข้าวเวลา 17.30 น. มื้อนี้จัดเต็มจัดหนัก ทางรีสอร์ทจัดเป็นซุ้มบริเวณชายหาดให้พวกเรา 3 ซุ้มๆละ 8-9 คน เตรียมอุปกรณ์ต่างๆครบครันสำหรับการปิ้งย่างบาปีคิวซีฟู๊ด ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง กั๊ง หอยเชล หอยแมลงภู่ ปู ปลาหมึก ยำหอยนางรม หมูกระทะ ต้มยำทะเล พล่ากุ้ง ข้าวผัดทะเล เด็กๆ หนุกหนานชอบกันมากกับบรรยากาศ อาหารอร่อยมาก และที่สำคัญทุกอย่างเติมได้ตลอด พวกเราทานกันแบบจุกๆจนต้องร้องขอชีวิตกันเลย 555 มีลูกศิษย์สาวถามผมว่า “ป๋าค๊ะ! ถ้าหนูกินปลาหมึกไม่หมด หนูจะเอาไปปล่อยลงทะเลได้ป่าวค๊ะ” ผมก็สวนเลย “ถ้าหยักสมองแกน้อยก้อเอาเลยจร้า...555” หลังจากทานกันอิ่มจนจะอ๊วกแล้วผมก็พาเด็กๆขึ้นรถออกมาที่ร้านเซเว่นให้พวกแกซื้อขนม....กลับถึงรีสอร์ทเกือบสี่ทุ่ม แยกย้ายกันพักผ่อน Goodnight my students ….zzzzzzz


Day 2: เช้าวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2566 หลังอาหารเช้าเรียบร้อย ตามกำหนดการเราต้องออกจากที่พักเวลา 9.00 น. ผมก็รอให้เด็กๆมาขึ้นรถให้ครบ รอจนเวลาเลยมา 15 นาทีก็ยังขาดอีก 2 คน ผมให้ลูกศิษย์สต๊าฟไปนับจำนวนก็ยังขาดอยู่ 2 คน รอจนในที่สุดก็ยังไม่มาซึ่งผมได้ย้ำเตือนมาตลอดว่าเรียนท่องเที่ยวเรื่องเวลาตามนัดหมายนั้นสำคัญมาก เพราะเวลาทำทัวร์จริงหัวหน้าทัวร์และไกด์ต้องมาก่อนลูกทัวร์เสมอ ถ้าใครมาช้าจะโดนทิ้งและหาทางตามกรุ๊ปมาเอง เพื่อนๆบนรถต่างก็ร้อนใจโทรตามกันวุ่นวาย จะวิ่งไปตามที่ห้องพัก ผมบอกไม่ต้องตาม เค้าต้องรู้เวลาและหน้าที่ ถ้ายังไม่มาครูทิ้งแน่ๆ ผมรอจนเลยเวลามา 20 นาที สั่งให้รถออกเลยไม่ลงไม่รอแล้ว เสียงเพื่อนๆต่างร้องโวยวายกันระงม “ป๋าคับ! ให้ผมวิ่งไปตามมั้ยคับ” “ไม่ต้องคับ...ทิ้งเลย” ผมพูดเสียงเข้ม แต่ก็นึกยังงัยไม่รู้บอกให้สต๊าฟไปนับคนแน่ๆอีกรอบ ปรากฏว่า 2 คนที่หายไปดันย้ายที่แอบไปหลับอยู่หลังรถ...ก็เป็นอันครบทุกคน แต่ก็ได้สอนทุกคนว่าทำทัวร์ต้องนับลูกค้าให้รอบคอบกว่านี้

จุดแรกของเช้านี้ให้เด็กๆ ซื้อของฝาก ของที่ระลึกที่ตลาดบ้านเพ จำพวกอาหารทะเลแห้ง ผมก็ไปซื้อปลาหมึกแกะตา กุ้งแห้ง กับร้านเจ้าประจำที่ทุกครั้งมาระยองต้องมาอุดหนุนแกที่ร้านน้องกิ๊ฟ ต่อจากนั้น ประมาณเกือบ 11 โมงก็มาที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำระยอง หรือ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำระยอง (Rayong Aquarium) พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเพ จังหวัดระยอง เป็นสถานที่ไว้แสดงสัตว์น้ำต่างๆ เป็นกิจกรรมหนึ่งของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มงานสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมและจัดแสดงพันธุ์สัตว์ทะเลมีชีวิต ปลาทะเลสวยงาม และสัตว์ทะเลที่หายาก เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ผู้เข้ามาเยี่ยมชม ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและพฤติกรรมของสัตว์น้ำ การจัดแสดงภายในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำระยอง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนจัดแสดงพันธุ์สัตว์ทะเลมีชีวิต 2. ส่วนจัดแสดงนิทรรศการด้านการประมง 3. พิพิธภัณฑ์เปลือกหอย ผมให้เวลาเด็กๆเดินชม 1 ชั่วโมง จนได้เวลาเที่ยงก็มาทานอาหารกลางวันที่ร้านเจ๊พรปักษ์ใต้(ซีฟู้ด) ซึ่งเป็นร้านของแม่ลูกศิษย์เก่าที่จบการท่องเที่ยว ชื่อน้องปลา ตัวแกไม่ได้อยู่ร้านแต่ก็จะคอยโทรมาตามงานถามไถ่ผมอยู่ตลอด ซึ่งอาหารที่ให้ก็อร่อยแซบรสจัดจ้านเหมือนเดิมที่ผมเคยทานประจำ ขากลับแม่น้องปลายังกรุณาเอาอาหารพิเศษใส่กล่องให้ผมกลับบ้านด้วย...ขอบคุณฮิ



หลังจากอิ่มอร่อยแล้วก็เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ถึงมหาลัยประมาณ 5 โมง เป็นอันจบทริปที่สวยงาม ราบรื่น สนุกสนาน ได้ความรู้และประสบการณ์
เรียบเรียงโดย: อาจารย์อิทธิพันธ์ พัฒนานุพงษ์
"