เมื่อพูดถึงเรื่อง มาตรฐานความงาม (Beauty Standard) หลายคนอาจมีนิยามความงามหรือมุมมองที่มีต่อความสวยความงามไม่เหมือนกัน จากอดีตในสังคมรวมถึงสื่อล้วนมีส่วนในการกำหนดความงามที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง อย่างที่เราพบเห็นกันในงานโฆษณาหรืองานละครส่วนใหญ่ พรีเซ็นเตอร์หรือนักแสดงนำมักจะต้องเป็นคนหุ่นดี มีรูปร่างผอมเพรียว และมีผิวขาว เรียกได้ว่า คนเหล่านี้จะได้รับโอกาสในการทำงานหรือได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่าคนที่มีรูปลักษณ์แตกต่างออกไป แต่ในปัจจุบันโลกหรือคนรุ่นใหม่ต่างเริ่มเปิดกว้างทางความคิด ยอมรับตัวตนที่แตกต่างหลากหลาย เช่นเดียวกันกับที่วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เราสร้างและปลูกฝังให้นักศึกษารักและภูมิใจในความเป็นตัวตนที่แตกต่าง เป็นตัวเองได้อย่างอิสระ สามารถกำหนดนิยามความงามในแบบฉบับของตัวเอง และมีโอกาสในการเรียนและการทำงานในทุกบทบาทอย่างเท่าเทียมกัน ลองไปฟังมุมมองของ พี่ปู - ปุ๊ปูรีนด์ วงศ์ศรีดา และ พี่ป่าน - ปวริศรา วงศ์ศรีดา รุ่นพี่ฝาแฝดมากความสามารถ ประจำสาขาวิชาสื่อสารการแสดง (PAC) ชั้นปีที่ 3 ของเรากัน
ผลกระทบ และการรับมือกับเรื่อง Beauty standard ที่สังคมกำหนด
พี่ปู-ปุ๊ปูรีนด์ วงศ์ศรีดา เล่าให้ฟังว่า “ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รูปร่างหน้าตานั้นมีผลต่อการใช้ชีวิต ด้วยคนหน้าตาดีจะได้รับการปฏิบัติที่ต่างจากคนอื่น มักจะได้รับโอกาสที่เข้ามาโดยไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายมากกว่าคนทั่วไปที่ต้องใช้ความพยายาม การรับมือที่ดีที่สุดคือ การยอมรับว่าคนเรามีความคิดและทัศนคติที่ต่างกัน จึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมุมมองของใครได้ ดังนั้นเราต้องยอมรับและภูมิใจในตัวเราเองก่อนว่าสิ่งที่เราเป็นนั่นคือเอกลักษณ์ที่เเตกต่าง และความงามที่เเท้จริงไม่ได้อยู่ที่ใคร มันอยู่ที่เราเป็นคนกำหนดเอง” ส่วนพี่ป่าน เสริมว่า “มักถูกคนอื่นมองหรือตัดสินว่าเราเป็นคนแบบไหนจากเพียงแค่ดูจากการแต่งกาย วิธีการรับมือ เราก็ต้องเข้าใจว่าเขาเป็นคนแบบไหน ซึ่งเราไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนพวกเขาเหล่านั้นได้ ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ได้คือตัวเราเอง เพราะคนที่ทำก็ทำอยู่อย่างนั้นอยู่ที่เดิม เเต่ถ้าเราข้ามมันไปได้ มันก็คือการที่เราได้พัฒนาตัวเอง”
ปัญหา Beauty Standard กับการเรียนในศาสตร์สาขาการแสดง
พี่ป่าน- ปวริศรา วงศ์ศรีดา แชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า “ไม่มีค่ะ เพราะทุกคนสามารถเป็นหรือว่าทำอะไรก็ได้เท่ากัน อย่างการแสดง เราไม่ได้มองว่าใครมาแสดง เรามองที่การแสดงว่าเหมาะสมกับบทบาทมากแค่ไหน ก็ต้องวัดกันที่ความสามารถ เพราะความสามารถคือมาตรฐานเดียว ที่จะทำให้เราได้ไปยืนบนพื้นที่ตรงนั้นได้สมบูรณ์แบบที่สุด” ด้านพี่ปู เห็นด้วยว่า “ไม่มีผลเลยค่ะ เนื่องจากในสาขาวิชาจะมีการคัดเลือกนักแสดงจากคาเเรคเตอร์ที่เหมาะสมกับตัวละครในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งทุกคนสามารถ เเสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้เต็มที่ เป็นเรื่องปกติ เเต่ก็ต้องดูความเหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนั้นด้วย”
ฝากถึงน้อง ๆ ที่ได้รับผลกระทบเรื่อง Beauty Standard แต่สนใจอยากเรียนในศาสตร์ด้านการแสดง
พี่ปู ฝากว่า “สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ยังไม่มั่นใจในตัวเอง เพียงเพราะกลัวที่จะโดนบูลลี่หรือเคยโดนเหยียดจากคนอื่นเพราะรูปลักษณ์ ไม่ต้องสนใจเนื่องจากคนเหล่านั้นเป็นคนอื่นเเละในโลกนี้ มีคนอีกมากมายที่พร้อมจะมองเห็นสิ่งสวยงามเเละความสามารถของเรา โดยเฉพาะที่สาขาสื่อสารการแสดงพร้อมที่จะสนับสนุนทุกคนที่มีความสนใจในงานละครเวที ละครโทรทัศน์ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง งานเขียนบทละคร งานเเสงสีเสียงเเละอื่น ๆ ที่จะทำให้ทุกคนได้เห็นโลกของการละครได้ในทุกมิติการแสดง” และพี่ป่าน ฝากถึงน้อง ๆ ทิ้งท้ายว่า “เราอย่าด้อยค่าในสิ่งที่เราเป็น เพราะเราก็เป็นคนเหมือนกัน เราไม่ได้แตกต่าง เพียงแค่เรามีความโดดเด่นที่มากกว่าในแบบของตัวเราเอง ซึ่งการเรียนที่นี่จะช่วยพัฒนาทุกคนให้มีความมั่นใจ เเละโดดเด่นในแบบของตัวเองได้ และพร้อมที่จะสนับสนุนทุกความสามารถ ถ้าอยากเรียนสนุกจุกประสบการณ์ ต้องสาขาสื่อสารการแสดง วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต”
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรมสนุกๆ และผลงานที่น่าสนใจของพี่ ๆ สาขาวิชาสื่อสารการแสดง (PAC) ได้ที่เฟซบุ๊กสาขา สื่อสารการแสดง นิเทศฯ ม.รังสิต หรือเฟซบุ๊ก วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต Communication Arts RSU
"