“ความรู้ที่ได้รับจากการเรียน เห็นผลมากที่สุดหลังจากได้ทำผิดพลาด” ปัณณวัฒน์ เพชรบูรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชามัลติมีเดีย วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้ฟังถึงรูปแบบการเรียนของสาขามัลติมีเดียที่นอกจากอาจารย์จะปูพื้นความรู้ด้านการออกแบบสื่อ การผลิตสื่อกราฟิกให้นักศึกษาแล้ว อาจารย์ยังคอยตั้งโจทย์ในการทำงานให้นักศึกษา โดยมักให้ทำงานเป็นกลุ่ม และจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงมือทำอย่างอิสระ โดยไม่มีกรอบมากั้นความคิด ตั้งแต่การออกไอเดีย การวางแผน การครีเอทคอนเทนต์ ไปจนถึงการถ่ายทำ ซึ่งผลที่ได้ในแต่ละงานก็จะแตกต่างกันไป สำเร็จบ้าง ผิดพลาดบ้าง อาจารย์จะทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยให้คำแนะนำเมื่อนักศึกษาต้องการ กระบวนการนี้ทำให้พวกเราได้เกิดการเรียนรู้ จดจำ และนำไปปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มัลติมีเดีย สอนจัดเต็ม ให้นักศึกษาได้รับความรู้ จาก 0 ถึง 100
ปัณณวัฒน์ ยอมรับว่าการเรียนในสาขานี้ทำให้เขาได้รับความรู้จาก 0 ไปจนถึง 100 อย่างมีคุณภาพ และด้วยการเรียนที่ส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานเป็นทีม ทำให้เขาสามารถเข้าสังคม ทำงานกับคนอื่นได้ดี และการส่งเสริมให้นักศึกษากล้าคิด กล้านำเสนอ ส่งผลให้เวลามีกิจกรรมหรืองานอะไรของวิทยาลัย ก็มักทำให้เขาและเพื่อนเป็นกลุ่มผู้นำในหลาย ๆ งาน เนื่องจากได้เรียนรู้วิธีการทำงานอย่างเป็นระบบมาแล้ว ทำให้เข้าใจมองเห็นภาพเมื่อต้องปฏิบัติงานจริง นอกจากนี้การอยู่กันแบบครอบครัว ไม่เพียงเฉพาะในสาขามัลติมีเดีย แต่ทุกสาขาสามารถเชื่อมโยงช่วยเหลือกันได้ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่แต่ละสาขาต้องมาทำงานร่วมกัน ก็สามารถออกงานโปรดักชั่นได้อย่าง Full team

ลงสนามแข่งขัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
นอกจากเรียนปูพื้นฐานทางทฤษฎีและลงมือฝึกปฏิบัติจริงทั้งในด้านการออกแบบสื่อหลากรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสื่ออินโฟกราฟิก สื่อ VDO และสื่ออื่นๆ ในชั้นเรียนแล้ว การเรียนในสาขามัลติมีเดีย ม.รังสิต ยังสนับสนุนให้นักศึกษาได้ส่งผลงานประกวดด้วย โดยในระหว่างเรียนสาขาจะมีการจัดการประกวดหนังสั้นเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้ลงมือผลิตสื่อแบบมืออาชีพ เกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านบรรยากาศการแข่งขัน เเละยังมีโอกาสได้เข้าร่วมและฝากฝีมือการผลิตหนังสั้นในการประกวดหนังสั้นในรายวิชา MMD 235 ซึ่งสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ 5 รางวัลด้วยกัน คือ รางวัล Best Short Film, Best Actor, Best Sound Design, Best Music Video และ Best Art Direction นอกจากนี้ ผลงานหนังสั้นอีกหนึ่งเรื่องของปัณณวัฒน์ยังได้รับการคัดเลือกไปโชว์ที่หอศิลป์ ในการเข้าร่วมการประกวด “UNC” ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (สสส.) อีกด้วย
.jpg)
เทคนิคการลำดับความคิดสู่การลำดับความสำคัญในการทำงาน
ปัจจุบันนอกจากกำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้าย ปัณณวัฒน์ยังทำงานอยู่ที่บริษัทแคปท์ เบนซ์โค จำกัด ในตำแหน่ง Editor ปัณณวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า การปรับตัวร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่มีวัยต่างกัน การทำงานเป็นทีม เป็นเรื่องสำคัญในการทำงานซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาของปัณณวัฒน์ เพราะปัณณวัฒน์ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาตลอดที่เรียนอยู่ในสาขามัลติมีเดีย ในด้านการดีไซน์สื่อหรือตัดต่อสื่อ ที่เป็นงานหลัก ปัณณวัฒน์สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนและประสบการณ์จากการได้ลงมือปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การคิดคอนเทนต์ การออกแบบ รวมถึงการลำดับความคิดในการเล่าเรื่อง การลำดับความสำคัญในภาพ ไปใช้ในการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัณณวัฒน์ ฝากถึงน้องๆ ว่า องค์กรภายนอกไม่ได้ต้องการคนเก่งมากหรอกครับ แน่นอนว่าคนที่จะได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานต้องมีความสามารถที่โดดเด่นอยู่แล้ว แต่แค่นั้นไม่เพียงพอ จุดสำคัญอยู่ที่ความพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลาและวินัยในตัวคนๆ นั้นมากกว่า ดังนั้น การเรียนรู้ต้องมาควบคู่กับวินัย รวมถึงความสามารถในการลำดับความสำคัญของงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้เทคนิคการลำดับความสำคัญมาแบบเต็มๆ จากการเรียนในสาขามัลติมีเดีย ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพ ทำให้นักศึกษาบางคนในสาขานี้มักจะมีงานพิเศษทำตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ จึงอยากชวนน้องๆ ที่สนใจการออกแบบสื่อ การพัฒนาเว็บไซต์ และการออกแบบแอนิเมชั่น มาเป็นครอบครัวเดียวกัน เพราะนอกเหนือจากความรู้แบบเต็มเปี่ยมที่จะได้รับแล้ว บรรยากาศในการเรียนและกิจกรรมในสาขาวิชามัลติมีเดียยังเป็นเหมือนครอบครัว เหมือนพี่สอนน้อง และมีอาจารย์ในสาขาที่คอยปรับให้นักศึกษาเข้าร่องเข้ารอย มีความเชื่อมั่นและสนับสนุนในความคิด เป็นความรู้สึกที่อบอุ่น ซึ่งทำให้ปัณณวัฒน์รู้สึกรักและผูกพันในสาขานี้ และอยากให้น้องๆ ได้มาสัมผัสด้วยตนเอง
"