สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดโครงการ CSR “โครงการสี่ขามีหัวใจ” ให้กับบ้านกัญญาภัทร เพื่อหมาแมวที่ถูกทอดทิ้ง และ “โครงการ Dreams Classroom” ให้กับโรงเรียนวัดกาหลง สร้างเสิรมประสบการณ์การเรียนรู้ จนนำไปสู่การต่อยอดในกระบวนการ การได้ลงมือปฏิบัติงานจริง


ผศ.ดร.สรพงษ์ วงศ์ธีระธรณ์ อาจารย์สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เราเริ่มต้นมาจากการที่เราพยายามที่จะให้เด็กเรียนรู้ในเชิงทฤษฎีก่อน เมื่อรู้ทฤษฎีแต่ถ้านำไปปฏิบัติไม่ได้มันคือปัญหา แล้วก็จะเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเด็กเข้าไปสู่โลกวิชาชีพก็เลย พยายามที่จะปรับเนื้อหาของรายวิชาให้เข้าไปสู่กระบวนการของของการปฏิบัติ การปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติจริงก็เลย เป็นการเริ่มต้นให้เด็กได้ลงมือทำจริง ๆ
"เราเริ่มโครงการลักษณะแบบนี้มาประมาณ 6 ปี นักศึกษามักจะชอบถามผมว่าคำว่าจิตอาสากับ csr มันต่างกันไหม จริง ๆ สองคำนี้มันต่างกันบางคนยังสับสน ตรงที่ว่าจิตอาสาคืออะไร จิตอาสาคือการที่เราเข้าไปช่วยเหลือ จะเป็นเรื่องไหนก็ได้อย่างเช่นคนเข็นคนเข็นรถอยู่แล้วเราไปช่วยดันรถนั่นคือจิตอาสาอย่างหนึ่ง แต่ว่า csr ที่เราทำกันอยู่ในสองโครงการมันมีกระบวนการของการทำงานอยู่ สังเกตได้ว่า เราต้องเริ่มต้นจากการเขียนแผนก่อน แผนมันจะมันจะนำมาซึ่งวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานกลุ่มเป้าหมายที่จะไปถึง เพราะว่าในแต่ละช่วงเวลา เราจะต้องทำอะไรกับมันบ้างเพื่อที่เราจะได้รู้ว่า แผนการดำเนินการในแต่ละช่วงเวลามันจะนำไปสู่ปลายทางเป็นอย่างไร แล้วเราจะมีวิธีการแก้ไขในแต่ละช่วงเวลาอย่างไรเมื่อเกิดปัญหา การที่ให้นักศึกษาเริ่มต้นจากการทำโครงการจริงก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วเนี่ยสิ่งที่นักศึกษาเขียนแผนมาจะเป็นจริงได้หรือเปล่า แต่เราพยายามดูจากแผนว่าแผนที่เขียนมามันมีโอกาสเป็นจริงได้แต่ถ้านำไปสู่การปฏิบัติจริงมันจะสำเร็จมั้ย แต่ทั้งสองโครงการก็ทำเกินเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ในโครงการตั้งแต่ต้นเลย มันก็แสดงให้เห็นว่าศักยภาพของนักศึกษาหรือศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่เนี่ย ในระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง สามารถทำสิ่งที่คิดว่า มันอาจจะยากสำหรับในยุคโควิดแบบนี้แล้วและเวลาก็มีจำกัด ทั้งต้องเขียนแผนและทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อกราฟฟิก สื่อออนไลน์ ทำคลิปวิดีโอ ทำกิจกรรมonsite เพื่อนำไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ถ้าใครได้ดูจะเห็นว่าทั้งสองโครงการเนี่ยจะมีผู้สนับสนุน เพราะว่านักศึกษาเอาแผนที่มันสมบูรณ์แล้วไปเสนอกับองค์กรต่าง ๆ หลาย ๆ องค์กรก็จะมาช่วยสนับสนุนทั้งเป็นตัวเงินหรือเป็นสิ่งของ ก็จะทำให้เห็น หรือสิ่งที่นักศึกษาทำนั้น บริษัทต่าง ๆ เห็นค่า เขาถึงสนับสนุน
อนาคตเมื่อนักศึกษาออกไปสู่โลกภายนอกของการทำงานแล้ว เขาจะมั่นใจได้เลยว่าสิ่งที่ทำมันถูกต้อง วันจบไปก็มักจะพูดถึงโครงการที่ทำร่วมกับเพื่อนเสมอว่าไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกันยังไง มันจะเป็นเหมือนใบผ่านทางที่นำไปสู่โลกวิชาชีพได้
ผมพอใจมากในเบื้องต้น ตอนแรกก็ไม่มั่นใจเพราะนักศึกษาวางแผนเป้าหมายไว้ใหญ่ แต่นักศึกษาก็ยืนยันว่าจะทำก็เลยลองปล่อยไปแล้วก็สุดท้ายเปลายทางเขาก็ทำได้ แล้วก็ยังทำเกินเป้าหมายเพราะคิดว่ามันยังมีเวลา ก็อยากจะทำให้มันดีที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมไม่ได้บอกว่าคุณต้องหยุดหรือคุณควรจะต้องทำต่อ แต่เป็นสิ่งที่นักศึกษาเลือกเองว่าเขาอยากจะทำ
ในส่วนของการเรียนสาขาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สาขานี้เป็นสาขาที่เปิดกว้างในเรื่องของวิชาชีพทุกองค์กรจะต้องสื่อสาร ทั้งสื่อสารกับพนักงาน บุคลากรภายในองค์กร สื่อสารกับุคคลภายนอก ฉะนั้นฝ่ายสื่อสารองค์กร จะต้องรับผิดชอบในการสื่อสารตรงนี้ การทำงานพีอาร์มันไม่ได้ทำในส่วนการประชาสัมพันธ์อย่างเดียว ปัจจุบันมีการผสมผสานเข้าไปในเรื่องการผลิตสื่อ การจัดอีเว้นท์ การเขียนข่าว การเขียนโครงการ การเขียนเพื่อของบประมาณต่าง ๆ สามารถรู้กรอบเวลาการทำงานของตัวเองให้อยู่ในระบบได้ รวมถึงการประเมินผล สามารถทำงาน online และ onsite ได้
ฉะนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงต้องการนักพีอาร์เยอะ ถ้าสนใจในงานสื่อสารองค์กรก็แนะนำเลยไม่จำเป็นต้องเป็นมอรังสิตที่เดียว ลองเปรียบเทียบหลักสูตรหลาย ๆ ที่ แต่ถ้าที่มอรังสิต เราก็จะมีความหลากหลายในเรื่องของการปฏิบัติมากขึ้น เพื่อนำไปสู่โลกของวิชาชีพได้ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น แล้วตอนนี้ก็เรียนจบได้เร็วขึ้นด้วยหลักสูตรสามปี

นางสาวกนกวรรณ สุขเจริญ นักศึกษาสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จากโครงการสี่ขามีหัวใจ กล่าวว่า โครงการเริ่มต้นมาจากปัญหาสัตว์เร่ร่อนในปัจจุบัน ที่ไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย อาจจะเพราะที่มันเป็นปัญหาที่ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงด้วย ปัญหานี้จึงถูกละเลย พวกเราเลยอยากจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่รับดูแลน้องหมาน้องแมวอยู่ในตอนนี้อย่าง บ้านกัญญาภัทร จึงได้มาเป็นโครงการสี่ขามีหัวใจ
ซึ่งสุดท้ายแล้วโครงการของเรา ก็จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้นต้องขอความร่วมมือจากทุกคน คอยสอดส่องและช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับปัญหาสัตว์เร่ร่อนนี้หมดไป ในเมื่อเราเลือกที่จะเลี้ยงเขาแล้ว ใช้ความรักอย่างเดียวมันไม่พอ แต่ต้องมีความพร้อมด้วย พร้อมที่จะดูแลเขา พร้อมจะรักษาเขาในวันที่เขาเจ็บป่วย พร้อมที่จะรักเขาในวันที่เขาไม่น่ารัก และที่ขาดไม่ได้เลยในส่วนของความประสบความสำเร็จของโครงการ หากไม่มีแรงสนับสนุนและช่วยเหลือจากทุกคน และผู้สนับสนุนของเรา ขอบคุณสมาร์ทฮาร์ท มีโอ และเทใจ ที่ร่วมโครงการและสนับสนุนโครงการพวกเราตลอดจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

นายลัทธพล เสาร์ศิริ นักศึกษาสาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จากโครงการ Dreams Classroom กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากที่พวกเราคิดว่าการศึกษา คือรากฐานที่สำคัญของชีวิต ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ดังนั้น เราเลยเลือกจัดตั้งโครงการที่ทำเพื่อการศึกษา ถึงแม้ว่าสิ่งที่เราทำยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ด้วยความสามารถที่พวกเราทำได้ทันทีในตอนนี้ คือการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้นให้กับเยาวชนได้

การได้ทำโครงการครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานแบบนักประชาสัมพันธ์อย่างแท้จริง ทั้งการเริ่มต้น การดำเนินการ ไปจนถึงการทำให้โครงการสำเร็จได้ ที่สำคัญต้องขอบคุณทุกการสนับสนุนจากประชาชน และผู้สนับสนุนทุกท่านจริง ๆ ที่ทำให้โครงการดำเนินการไปได้ตามวัตถุประสงค์ และภาพห้องเรียนในฝันที่พวกเราวาดไว้ ตอนนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพแล้ว
"