แพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น ความต้องการคอนเทนต์สูงมาก สตูดิโองานล้น คนทำงานไม่พอ วงการบันเทิงไทยต้องการนักเขียนบทรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก รับธุรกิจบันเทิงโลกที่กลับมาฟื้นตัวยาวถึงปี 2024
นักเขียนบทรุ่นใหม่กับการขยายตัวของธุรกิจบันเทิงไทย

การเข้ามาของแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์จากต่างประเทศเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้เร็วขึ้น โทรทัศน์พื้นฐานกำลังก้าวข้ามระบบทีวีดิจิทัลไปสู่ระบบสมาร์ททีวีหรือแอนดรอยทีวีที่สามารถรับชมผ่านอินเตอร์เน็ตได้ นอกจากจะเพิ่มช่องทางให้ผู้ผลิตรายการสามารถนำคอนเทนต์ ของตัวเองลงสู่ออนไลน์ได้แล้ว ยังเปิดทางให้กับบริการวิดีโอคอนเทนต์แบบบอกรับสมาชิก เช่น Netflix, POPTV, IQIYI, WeTV เข้ามาขยายตลาดในประเทศไทยได้มากขึ้นกว่าปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศเหล่านี้มาพร้อมกับนโยบายการลงทุนซื้อเนื้อหาที่ผลิตโดยสตูดิโอในประเทศที่เข้าไปทำตลาด ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทยในขณะนี้ต้องการคอนเทนต์สดใหม่เป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากผู้ผลิตจะต้องทำละครป้อนช่องปกติแล้ว แพลตฟอร์มโอทีที (OTT-Over the Top-วิดีโอบนอินเตอร์เน็ต) ก็มีความต้องการออริจินัลคอนเทนต์จากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งภาพยนตร์และละคร โดยเฉพาะตลาดใหญ่ตอนนี้ คือ IQIYI ของจีน ที่รับซื้อละครจากสตูดิโอต่าง ๆ ไปฉายบนแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก หรือ Netflix ที่เคยจ้างผลิตออริจินัลคอนเทนต์จากไทยเช่นกัน จากเรื่อง เคว้ง และ อุบัติกาฬ รวมถึงยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายโปรเจคด้วยกัน และยังมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ อีกมากที่กำลังต้องการออริจินัลคอนเทนต์จากผู้ผลิตไทย

แม้โอกาสของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยจะมีมากขึ้น แต่บุคลากรในวงการกลับขาดแคลน โดยเฉพาะ “นักเขียนบท” ทั้งนักเขียนบทประจำสตูดิโอและนักเขียนบทอิสระ เพราะงานเขียนบทเป็นงานที่ใช้เวลาต้องพิถีพิถันในการศึกษาหาข้อมูลและใช้จินตนาการเรียบเรียงออกมาเป็นบทสำหรับถ่ายทำ ประกอบกับจำนวนงานภาพยนตร์และซีรีส์ที่มากขึ้น ทำให้นักเขียนบทที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อจำนวนงานที่เพิ่มเข้ามา และนอกจากจะขาดนักเขียนบทมือดีแล้ว ยังขาดนักเขียนบทรุ่นใหม่ที่จะเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคคอนเทนต์ในยุคปัจจุบันด้วยกันเองอีกด้วย โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z ที่ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มักไม่นิยมดูละครไทย แต่จะนิยมซีรีส์เกาหลีและซีรีส์ฝรั่งกันมากกว่า
หนึ่งเดียวในประเทศไทย สาขาวิชาการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์

หลักสูตรเขียนบทระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่สอนด้านการเขียนบทและกำกับการแสดงโดยเฉพาะ ได้ปรับการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีให้สามารถจบการศึกษาได้ใน 3 ปี เพื่อให้ทันกับความต้องการของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย นอกจากนี้นักศึกษายังสามารถเลือกจบปริญญาใบที่สองได้หากเรียน 4 ปี หรือจบปริญญาโทสาขาเขียนบทและกำกับฯ ควบไปพร้อมกันก็ได้ เป็นการเพิ่มโอกาสการทำงานในอนาคตให้กว้างขึ้น

ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี นักศึกษาจะได้เรียนรู้ทฤษฎีการเขียนบท จิตวิทยาการเขียนบท การพัฒนาตัวละคร เทคนิคการแสดงและการกำกับการแสดง เน้นการเรียนแบบวิพากษ์ (Critical) จากอาจารย์ที่เป็นตัวจริงในวงการเขียนบท และเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้แสดงออก เรียนรู้ ฝึกปรือฝีมืออย่างไม่ปิดกั้น พร้อมอาวุธติดกายที่ถูกถ่ายทอดจากเหล่าโค้ชที่พร้อมทั้งความสามารถและประสบการณ์ ผ่านการผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ และกิจกรรมระหว่างเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่ยังขาดหายไปจากวงการบันเทิงไทยในปัจจุบัน และเป็นพื้นฐานที่สำคัญของนักเขียนบทรุ่นใหม่

นอกจากนี้ทางหลักสูตรเขียนบทและกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ ยังร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพภายนอกไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอเขียนบทหรือโปรดักชั่นเฮาท์ต่าง ๆ ในการถ่ายทอดประสบการณ์และรับนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า นักศึกษาที่จบการศึกษาจากสาขานี้จะมีทักษะ ความรู้ และเป็นตัวจริงในวงการเขียนบทได้ในอนาคต
สาขาวิชาการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยรังสิต เบอร์ติดต่อ: 093-998-7995 facebook : http://https://www.facebook.com/filmwriting.rsu

บทความโดย: อาจารย์ณัฐศรชัย พรเอี่ยม
สาขาวิชาการเขียนบทและการกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
"