Online หรือ On-site? ก็เรียนให้สุข สนุกได้ สไตล์นิเทศศาสตร์

04 Nov 2021

     การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลให้ระบบการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนสู่ออนไลน์แบบ 100 % แม้จะมีการปรับตัวสู่การเรียนออนไลน์มาสักระยะแล้ว แต่ยังคงมีเสียงสะท้อนพูดถึงข้อจำกัดของการออนไลน์ที่ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ต่างต้องปรับตัว ลองมาฟังเทคนิคการสอนจาก 5 อาจารย์สุดชิคแห่งวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ว่ามีวิธีการสร้างบรรยากาศการเรียนให้นักศึกษามีความสุข สนุก และยังคงได้รับความรู้อย่างเต็มที่ไม่ต่างจากการเรียนในชั้นเรียนได้อย่างไร

 

สื่อสารให้ชัดเจน แม้มีนักศึกษาจำนวนมากก็เอาอยู่

     ดร.ณชรต อิ่มณะรัญ หัวหน้าสาขาวิชาการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ (FWD) กล่าวว่า “เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการเรียนออนไลน์ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทั้งการเรียนการสอนของอาจารย์และนักศึกษาหลาย ๆ คน แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น จุดสำคัญของการควบคุมห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ก็คือ ความชัดเจนของการสื่อสาร เนื้อหาไม่ต้องมาก แต่เน้นความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้จริง ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาสำหรับตอบข้อซักถาม ลดอัตตาทั้งอาจารย์และนักศึกษาเพื่อเรียนรู้และแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน”

 

แอคติ้งและลงมือผลิตสื่อจริงได้แบบ New normal

     ในส่วนการเรียนวิชาภาคปฏิบัติ อาจารย์รพีพิมล ไชยเสนะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์และโทรทัศน์ (FWD) กล่าวว่า “ใช้วิธีการสอนเสมือนจริงให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่การใช้ application ใหม่ ๆ ให้เกิดบรรยากาศแบบ virtual reality และใช้หลักการ student center ให้เป็นประโยชน์ โดยให้นักศึกษาได้มีการพูดคุยในหัวข้อ   ต่าง ๆ และเชิญวิทยากรเกี่ยวกับการถ่ายทำ Production มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้เรียนรู้วิธีการดัดแปลงอุปกรณ์มาใช้ โดยเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์ให้เหมาะกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ ทำให้นักศึกษาได้ใช้ไอเดียในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย”

     อาจารย์อรรถยา สุนทรายน อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล (DCC) กล่าวเสริมว่า “การให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน การมีภารกิจลับที่ไม่ให้นักศึกษารู้ตัวมาก่อน หรือการนำตัวอย่างภาพถ่ายมาเล่าถึงวิธีคิดและประสบการณ์จริงจากการถ่ายภาพ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพมาช่วยสอน ไม่ว่าจะเป็นกล้อง มือถือ ไฟ LED และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการถ่ายภาพ โดยการใช้กล้อง 2 ตัวที่มีมุมด้านหน้าและมุมด้านบน ช่วยสร้างความรู้สึกเหมือนการได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน ทำให้นักศึกษาเห็นภาพ เข้าใจและมีความสนใจมากขึ้น”

     ในมุมมองของ อาจารย์อรรจน์ จินดาพล รักษาการหัวหน้าสาขาวิชาสื่อสารการแสดง (PAC) กล่าวว่า “เราใช้หลักการ ‘You jump, I jump’ อยากให้เขาทำอะไร เราทำด้วย อยากให้สนุก เราต้องสนุก ทำและคิดไปด้วยกัน เวลาสอน On-site จะกระโดดโลดเต้นไปรอบห้อง ไม่ชอบนั่งโต๊ะสอน พอมาสอน Online ก็จะขยับกล้องออกห่าง และลุกกระโดดโลดเต้นไม่ต่างกัน ถ้าเขาเห็นว่าครูพร้อมจะบ้า พร้อมจะคิดไปด้วยกัน เขาก็จะกล้าลุกขึ้นมา ร่วมคิดร่วมทำไปด้วย อีกเทคนิคคือคุยส่วนตัว เราเรียกว่าเปิดคลินิกให้คำปรึกษารายคน ครูเหนื่อยหน่อย แต่เด็กชัดเจนมากขึ้นในประเด็นปัญหาของงานเฉพาะตน”

 

ต่างชาติต่างภาษา แต่สิ่งที่ต้องการเหมือนกันคือการมีส่วนร่วม

     สำหรับการสอนนักศึกษาต่างชาติ  ดร.นุดี หนูไพโรจน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์(นานาชาติ) กล่าวว่า “ความท้าทายของการสอนนานาชาติคือความหลากหลายของนักศึกษาทั้งวัฒนธรรมและช่วงวัย แต่สิ่งทุกคนมีร่วมกันคือความต้องการเรียนในบรรยากาศการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม พลังงานของผู้สอนเองก็มีส่วนสำคัญ เมื่อผู้สอนรู้สึกสนุก ผู้เรียนก็จะรู้สึกสนุกตาม การเปลี่ยนฉากหลังไปตามหัวข้อที่สอน ร่วมกับการใช้ sound effects ช่วยสร้างสีสันได้ นอกจากนี้การใช้วงล้อเสี่ยงทายเพื่อสุ่มเรียกคนตอบ การให้โหวตหรือตอบคำถามโดยขึ้นจอ real time ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมแม้แต่คนที่ขี้อายไม่กล้าเปิดไมค์ตอบก็ร่วมสนุกด้วยได้ ที่สำคัญคือการออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับออนไลน์โดยเฉพาะ ไม่ใช่เพียงย้ายแพลตฟอร์มแล้วสอนเหมือนเดิม”

     คำแนะนำสำหรับนักศึกษา อาจารย์รพีพิมล กล่าวว่า “เมื่อมีข้อจำกัด ให้มองว่าเป็นการท้าทายตัวเอง สิ่งหนึ่งที่จะเติบโตคือความคิดสร้างสรรค์และไอเดียของเราที่ไม่สามารถมาจำกัดได้”

      ด้าน ดร.ณชรต ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “อันนี้ไม่ได้พูดเล่นนะ !! เวลาอาจารย์เห็นตัวเองอยู่ในกล้องจะใจดีขึ้น 30% บรรยากาศในห้องเรียนก็ดีขึ้น 30% หน้าที่ของนักศึกษาก็เพียงโฟกัสการเรียนในแต่ละครั้งให้ชัดเจน ตั้งสมาธิดูและฟังอย่างตั้งใจ แชร์ประสบการณ์ใหม่ พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นร่วมกับเพื่อนและอาจารย์ เมื่อเรียนเสร็จก็ควรให้รางวัลกับตัวเองบ้าง ใช้ชีวิตวิถีใหม่แบบรู้เท่าทันความสุขง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง”

     นอกเหนือจากเทคนิคการจัดการเรียนการสอนหลากหลายสไตล์ที่อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์เฟ้นหามาสร้างบรรยากาศการเรียนออนไลน์ให้มีความสนุกสนานอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานความเหมาะสมกับความต้องการของนักศึกษาเพื่อให้เกิดความสุขในการเรียนแม้ในยามวิกฤติโควิด-19 แล้ว วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ยังมีการเตรียมความพร้อมในการกลับมาเรียน On-site ให้กับนักศึกษาด้วย

     ติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊กวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต Communication Arts RSU https://www.facebook.com/NitadeRSU  

 

เรียบเรียงโดย

อาจารย์เขมนิจ มาลาเว

อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ