เม้าท์มอยกับ #ทีมวิศวะ-เทคโนโลยี

06 Aug 2020

    

            ไม่ว่าจะเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัยก็เชื่อว่าน้องๆ ต้องตั้งฉายาให้แก่อาจารย์แต่ละท่านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสอน ความเจ้าระเบียบ เขี้ยว สายโหด สายฮา จู้จี้ขี้บ่น ใจดีสุดๆ  ฯลฯ วันนี้จะพาไปเม้าท์มอยกับเพื่อนๆ สายวิศวกรรมศาสตร์-เทคโนโลยี กันว่าวิชาที่ใช่และอาจารย์ที่ชื่นชอบจะเป็นแบบไหนกันบ้าง

นายธนวัฒน์ เจียมจิตวานิชย์  (บอส) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ

วิชาที่ผมชอบมากๆ คือ Lab System Analysis (CSC 205) เป็นวิชาที่ต่างก็รู้ว่า ห้ามสาย ห้ามขาด และห้ามแอบหลับ เพราะมีเซอร์ไพรส์ที่ต้องสอบก่อนเรียนและหลังเรียนทุกคาบ (เน้นๆ) โดยเนื้อหาที่เรียนจะเป็นทั้งทฤษฎีและปฎิบัติ โดยเน้นด้านการวิเคราะห์ วางแผน แก้ไขปัญหา และการพัฒนา ทำให้เราต้องเข้าใจสิ่งที่เรียนอย่างแท้จริงถึงจะทำการวิเคราะห์ออกมากได้ ฟังแล้วอาจจะดูยากแต่อย่าเพิ่งกลัวไปมันไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะอาจารย์มีวิธีการสอนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นสื่อความรู้ต่างๆ ที่ทันสมัย หรือการใช้ Lab simulations room ในการจำลองการพัฒนา วิเคราะห์ และวิจัย สิ่งที่นักศึกษาสนใจทำให้นักศึกษาเข้าใจได้เรียนรู้และสนุกไปกับมัน นอกจากนี้อาจารย์ยังให้คำปรึกษาคำแนะนำที่ดีเสมอ และที่สำคัญเมื่อเรียนในรายวิชานี้จบลง อาจารย์ยังให้นักศึกษาได้นำความรู้ที่ได้เรียนไปใช้จริง โดยให้นักศึกษาทำโครงการที่ช่วยแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มจากการลงพื้นที่จริงเพื่อวิเคราะห์ปัญหา บอกเลยสนุกสุดๆ

นางสาวปิยากร ปิยคุณากร (เอเซีย) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สถาบันการบิน

     เอเซียจะขออนุญาตมาแชร์ประสบการณ์ชีวิตศิษย์การบินและเม้าท์มอยครูการบินให้เพื่อนๆ ฟัง วันแรกของการขึ้นฝึกบินก็จะเดือดๆ หน่อย พวกเราจะมีศัพท์ที่ใช้เรียนในหมู่นักเรียนการบินว่า หอแทบแตก หิ้วปีก นํ้าตาไหลมาแต่ไกล เป็นต้น ส่วนตัวเอเชียเป็นคนเมายานพาหนะทุกชนิดทั้งรถ เรือ หรือเครื่องบิน แล้วยิ่งมาขับเครื่องบินที่เราเรียกว่า C172 ซึ่งเป็นเครื่องเล็ก เจอหลุมอากาศนิดเดียวก็เหมือนเล่นรถไฟเหาะ ปกติเวลาฝึกบินจะบินกันคนละประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง แต่ไฟล์ทแรกของเซียขึ้นไปยังไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเลย ภาพที่จำได้คือพอขาแตะพื้นรู้สึกขาสั่นมากก้าวแทบไม่ไหว ต้องขอบคุณเพื่อนสาย โอ๋และเนื้อทิพที่หิ้วปีกพาเซียมานั่งพัก

 เซียอยู่สายครูแดง-ไตรรงค์ ครูแดงเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบมาร่วมที่คนเยอะๆ แต่ก็แอบตามข่าวตลอด         ขอเม้าท์ตอนงานประดับปีกปล่อยเดี่ยว ทุกคนในรุ่นได้ผ่านการปล่อยเดี่ยว (ขึ้นบินคนเดียวในวงจรและทำการลงสนามเอง) จะต้องมีพิธีประดับปีกให้กับก้าวแรกที่ต้องเสียทั้งเหงื่อและนํ้าตา ครูแต่ละท่านจะเป็นคนมาประดับปีกให้ศิษย์ในสายของตัวเอง วันงานครูแดงโทรมาบอกว่า ‘ครูไม่ได้ไปนะ ครูกำลังนวดอยู่ ลุ้นตอนพวกเอ็งปล่อยเดี่ยวจนเกร็งไปหมด’ เท่านั้นแหละฮากันลั่นเลย เรา 3 คนเลยกระจายไปร่วมแถวเพื่อให้ครูท่านอื่นประดับปีกให้ 555555 (น่าสงสารจริงๆ)แต่ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ดีนะคะเพราะครูที่ติดปีกให้เซียเป็นครูแยมที่พวกเรารักและเคารพมากๆ เป็นครูที่ดูแลพวกเรามาตั้งแต่ปี 1 สอนอยู่ที่คณะจนกระทั่งตอนนี้มาเป็นครูการบินแล้ว เป็นครูที่เอาใจใส่พวกเราระดับ 10 ครูแยมจะคอยตามติดชีวิตพวกเราผ่านทางไลน์ว่าตอนนี้เป็นยังไงกันบ้าง คอยส่งความรู้ให้อ่านอยู่เสมอ วันที่ครูแยมติดปีกให้เซียก็รู้สึกดีใจเหมือนครูสายตัวเองติดให้เลยนํ้าตาคลอกันทั้งครูทั้งศิษย์ ล่าสุดพวกเราหลายๆ คนในรุ่นรวมถึงตัวเซียได้มีโอกาสบินกับครูแยม ครูก็ถ่ายรูปกับรุ่นเราทุกคนที่ได้บินด้วยบวกกับที่พวกเราเข้าพิธีประดับ 2 ขีด (ชั้นโตสุดของศิษย์การบิน) ครูแยมบังเอิญได้เป็นประธานในพิธีด้วยเลยมีรูปกับรุ่นเราเยอะ ครูแยมก็แอบเอารูปพวกนั้นไปทำวีดิโอ (เป็นการตัดต่อวีดิโอครั้งแรงของครูแยมเลยนะ) แล้วแกก็เอามาลงโซเชียล น่ารักมากๆๆๆๆ ในคลิปครูก็เขียนว่า ‘RSU12 รักพวกเอ็งว่ะ’ ให้มันรู้ซะบ้างว่าใครลูกรัก 555555 พอหอมปากหอมคอนะคะ เม้ามากกว่านี้น่าจะมีหลังไมค์

นายกิตติภูมิ สงศรี (บาส) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยีอาหาร

วิชา Food Chemistry 1 หรือ FTH 211 เป็นวิชาที่นักศึกษาคณะเทคโนโลยีอาหารต้องเจอ  เป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางเคมีที่มีผลต่ออาหาร ซึ่งเป็นวิชาที่เด็กฟู้ดทุกคนต้องรู้และเป็นวิชาที่ทุกคนต้องอ่านหนังสือหนักเพราะว่ายากมากๆ ผมเข้าใจว่าอาจารย์อยากให้เรามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และฝึกให้นักศึกษาเป็นคนตรงต่อเวลา วิชานี้เริ่มเรียนกัน 9 โมง ดังนั้น นักศึกษาต้องมาถึงห้องเรียนก่อนเวลา หากอาจารย์เริ่มสอนแล้วอาจารย์จะล็อคห้อง OMG! ตายแล้ว ผมเคยมาถึงหน้าห้องเรียน 9 โมง 1 นาที ผมโดนเช็คชื่อว่ามาสาย และหลังจากนั้นอาจารย์ก็ล็อคห้องเลย ทำให้วิชานี้เป็นที่รู้กันว่า ห้ามมาเข้าห้องเรียนสายเด็ดขาดเพราะนี่คือกฎเหล็ก 5555 อีกเรื่องคือ ห้ามใช้โทรศัพท์เวลาเรียน หากมีนักศึกษาคนไหนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอ่านไลน์ หรือทำอะไรก็แล้วแต่อาจารย์จะยึดทันที ซึ่งก็เข้าใจว่าอาจารย์อยากให้นักศึกษามุ่งมั่นกับการเรียนให้มากๆ (รักอาจารย์กิ่งนะค้าบ)

นางสาวศุภลักณ์ พานโคตร (แคร์) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์

วิชาที่ชอบคือเวิร์คช็อป วิชานี้จะเป็นวิชาปฏิบัติในเรื่องของเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในงานด้านวิศวะ ไม่ว่าจะเป็น งานตะไบ งานกลึ่ง งานเชื่อม และงานไฟฟ้า ซึ่งแต่ละงานจะมีอาจารย์ประจำคอยให้ความรู้และคอยสอนให้ลงมือทำโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีอุบัติเหตุเลย แต่ก็ต้องระวังกันเอาเองด้วย ซึ่งในแต่ละเซคที่เรียนวันเดียวกัน อาจารย์จะแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม คือต้องแยกกันเรียนในแต่ละงานทั้ง 4 งาน แต่ละงานจะมีเวลาให้ทำชิ้นงานในแต่ละงาน เมื่อเสร็จงานแรกแล้วก็จะวนกันทำให้ครบทั้งหมด 4 งาน และนักศึกษาก็จะได้ชิ้นงานที่ตัวเองทำด้วย งานตะไบก็จะทำค้อนเล็กๆ (คนทำสวยก็ได้ชิ้นงานสวยค่ะ 5555) และอีกชิ้นหนึ่งคืองานกลึง งานนี้ได้ทำลูกดิ่ง ดูเหมือนเครื่องมือจะทำง่ายแต่ก็ไม่ได้ง่ายเลย เมื่อเราเรียนจบคอร์สแล้ว เราจะได้ชิ้นงานที่เราทำคือค้อนและลูกดิ่งที่เราทำเองกับมือมาเป็นที่ระลึก หากเรียนแบบนี้ทำให้เราได้ความรู้ด้วย ได้ผลงานที่เราทำเองด้วย ได้เพื่อนที่คอยช่วยเราด้วยค่ะ

นายอนุเทพ ฮั้วเจียม (หมอ) นักศึกษาชั้นปีที่  3 คณะนวัตกรรมเกษตร

            วิชาที่ชอบเรียนคือ Genetics ตอนแรกฟังจากชื่อแล้วเท่ดีมีความน่าสนใจ พอได้เรียนแล้วก็รู้สึกว่ายากเหมือนกัน แต่ในความยากก็ยังมีอาจารย์กษิดิ์เดช อ่อนศรี หรือ อ.โปรดิ้ว ที่จะมีกิจกรรมให้นักศึกษาทำในคาบเรียนตลอด อาจารย์มีความสนุกสนานเป็นกันเอง มีแนวการสอนไม่น่าเบื่อและทำให้นักศึกษาเข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้ง่ายขึ้น อาจารย์จะมีมุขฮาๆ มาสอดแทรกเวลาสอนเสมอ อย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการเรียนการสอนแบบออนไลน์อาจารย์จะมีวิธีการดึงสตินักศึกษาให้มีความสนใจตลอดคาบ นอกจากนี้ อาจารย์ยังเป็นที่ปรึกษาคอยแนะนำพวกเราตลอดทั้งเรื่องเรียนและเรื่องส่วนตัว

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ