ผศ.ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี LINE Certified Coach 2023

26 Feb 2023

     การันตีความเชี่ยวชาญผ่านประสบการณ์ตรงจากการทำงานและการสอน ตอกย้ำความเป็นมืออาชีพของนักวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ของ ผศ.ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ และอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต 1 ใน 4 LINE Certified Coach 2023 for API ผู้เชี่ยวชาญด้าน API เจ้าของหนังสือ Practical Building a Powerful LINE OA for Developer ซึ่งตอนนี้มีชื่อเรียกอีกหนึ่งชื่อว่า “โค้ชเณร”

เส้นทางสู่ LINE Certified Coach 2023

     ผศ.ดร.วุฒิพงษ์ ชินศรี (โค้ชเณร) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ  กล่าวว่า  LINE Certified Coach เป็นโครงการหนึ่งของ LINE ประเทศไทย ที่เฟ้นหาบุคคลที่มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับ LINE Platform อย่างลึกซึ้ง สามารถให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องการใช้เครื่องมือต่างๆ ของ LINE เพื่อธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง LINE Certified Coach จะมี 2 กลุ่ม คือ 1) LINE Certified Coach for Business ที่จะเน้นเรื่องการตลาดออนไลน์ และการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ และ 2) LINE Certified Coach for API ซึ่งจะช่วยต่อยอด LINE OA เข้ากับ LINE API ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ LINE OA ให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ ได้ด้วย ทำให้สามารถประยุกต์ใช้ LINE OA กับธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น

      “เริ่มต้นเมื่อช่วงปลายปี 2563 ได้เห็นโครงการนี้ผ่านสื่อต่างๆ จึงลองสมัครสอบดู ซึ่งช่วงนั้นยังเป็นช่วง      โควิด-19 อยู่ การจัดสอบจึงเป็นแบบออนไลน์ ตอนทำข้อสอบก็รู้ตัวเลยว่าไม่ผ่าน พอกดปุ่มส่งก็ชัดเจนครับ ไม่ผ่าน ครั้งนั้นไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย ส่วนตัวมีความรู้ในด้านการเขียนโปรแกรมเพื่อเชื่อมต่อกับ LINE API แต่การสอบนั้นจะมีเนื้อหาทางด้านธุรกิจด้วยซึ่งเราจำเป็นต้องรู้และเข้าใจด้วยจึงจะทำได้ สำหรับในครั้งนี้ผมเกือบจะสมัครไม่ทันเหมือนกันเพราะไม่ได้ติดตาม แต่นับเป็นความโชคดีในขณะที่ผมกำลังเขียนหนังสือ “Practical Building a Powerful LINE OA for Developer” ใกล้จะเสร็จ ผมได้พยายามค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำมาอ้างอิง เลยพบโครงการนี้เปิดรับสมัครอยู่ ผมก็ตัดสินใจสมัครอีกครั้งเพราะคิดว่ารอบนี้เราเขียนหนังสือเกี่ยวกับ LINE อยู่ แม้จะไม่ได้เน้นทางด้านธุรกิจก็ตาม แต่ก็ลองดูถือว่าได้อัพเดทความรู้ไปด้วย ซึ่งรอบแรกเริ่มจากการส่งข้อมูลเพื่อให้ทาง LINE พิจารณาคุณสมบัติ ซึ่งรอบนี้ผ่านได้ไม่ยาก จากนั้นจะเข้าสู่รอบของการสอบข้อเขียน โดยช่วงเช้าจะมีการอบรมความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับ LINE ให้ด้วย ซึ่งวันนั้นผมตั้งใจเรียนมาก พอช่วงบ่ายเริ่มสอบข้อเขียน ความรู้จากตอนเช้าช่วยผมได้เยอะเลย การสอบครั้งนี้ถือว่ามีลุ้นว่าจะผ่าน แต่ก็ไม่มั่นใจซะทีเดียว ผมสมัครด้าน API จำเป็นต้องผ่านทั้งด้าน Business และด้าน API ด้วย แต่สุดท้ายก็สอบผ่านมีโอกาสไปสอบรอบสัมภาษณ์ ซึ่งรอบสัมภาษณ์ผมก็พยายามเตรียมตัวอย่างเต็มที่ เพราะมาถึงจุดนี้แล้วถ้าเป็นไปได้เราก็อยากสอบผ่าน ซึ่งผมก็ทำ LINE OA เอาไว้เพื่อประกอบการนำเสนอให้เกี่ยวข้องกับโจทย์ที่ได้รับและซ้อมนำเสนอตามเวลาที่กำหนด จากความพยายามนั้น สุดท้ายผลสอบออกมาก็ทำให้ผมดีใจเป็นอย่างมาก ที่สอบผ่านได้” 

     ดังนั้นจึงเป็นการการันตีได้ว่า ผู้ที่สอบผ่าน LINE Certified Coach จึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง สามารถนำความรู้ในการใช้ LINE Platform ไปถ่ายทอดหรือขยายผลให้แก่ภาคธุรกิจหรือประยุกต์ใช้ในวงการวิชาชีพต่างๆ ได้

ประสบการณ์ตรงเป็นสิ่งสำคั

     การประยุกต์ใช้งาน LINE Official Account ของโค้ชเณรที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้จำนวนมากเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงที่รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำ LINE OA เข้ามาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการเช็คเกรด ตารางเรียน ตารางสอน ในเทอมล่าสุด ผ่าน RSU Connect (LINE OA) ซึ่งช่วยให้อำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา หลังจากนั้นได้มีการใช้ LINE OA มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในงาน Open House ของคณะและมหาวิทยาลัย หรือช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยรังสิตเปิดศูนย์วัคซีนฯ ให้บริการช่วยเหลือสังคมก็มีการใช้ LINE OA ที่ชื่อว่า Lakhok Spirit ในการดำเนินกิจกรรมใจแลกใจ ซึ่งประสบการณ์ในการประยุกต์ใช้ LINE OA ของโค้ชเณรไม่จำกัดเฉพาะภาคการศึกษาเท่านั้น เพราะโค้ชเณรยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ภายนอกมหาวิทยาลัย ที่สนใจที่จะนำ LINE OA ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืองานด้านอื่นๆ ซึ่งนับเป็นอีกภารกิจหนึ่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยในมุมของการบริการวิชาการ นอกจากนี้ โค้ชเณรยังเคยเข้าร่วมการแข่งขัน LINE HACK 2020 ซึ่งสามารถผ่านเข้าถึงรอบสุดท้ายได้ จึงถือได้ว่าโค้ชเณรมีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ LINE Platform มาไม่น้อย

     “ตอนผมแข่ง LINE HACK ผมผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ซึ่งผมไม่ได้รับรางวัล แต่การแข่งในครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญ ทำให้เราได้เห็นคนเก่งๆ ซึ่งแต่ละคนเก่งกันคนละแบบ ส่วนทีมที่ชนะคือทีมเขามีคนเก่งครบทุกด้าน ไม่ได้เก่งเพียงแค่การเขียนโปรแกรมอย่างเดียว มุมมองทางด้านธุรกิจ ทักษะในการนำเสนอรวมไปถึง Soft Skill อื่นๆ ล้วนมีความสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ ผมมองว่าอาจารย์ไม่ได้เก่งทุกอย่าง หรือรู้ทุกเรื่อง เราต้องพัฒนาตัวเอง อย่ากลัวการแข่งขันกับภายนอก เราสามารถแพ้ได้ เพราะเวทีที่เราไปแข่งขัน เป็นการแข่งขันกับมืออาชีพ สิ่งที่เราได้รับจากการแข่งขันแม้เราจะแพ้ ซึ่งมีค่ามากก็คือประสบการณ์ที่เราจะนำมาพัฒนาตัวเอง และปรับใช้กับการเรียนการสอนหรือถ่ายทอดให้นักศึกษาของเราได้

     นอกจากในมุมของการเขียนโปรแกรมแล้ว ผมโชคดีที่มีโอกาสทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจและสตาร์ทอัพ ตั้งแต่การเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมวิสาหกิจดิจิทัล ที่มีภารกิจสนับสนุนให้มีการนำผลงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ หรือผลงานอื่นๆ ต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยใช้เครื่องมือออนไลน์เข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้ช่วงที่ผ่านมาได้ใช้ Platform สำหรับการค้าขายไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada, Facebook มาระดับหนึ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตก็ได้เปิดร้านชื่อว่า RSU Store ใน Platform ดังกล่าวเอาไว้ โดยหลังจากนั้นมีโอกาสได้ทำงานได้ตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ซึ่งมีหน่วยงานในกำกับที่ทำหน้าที่บ่มเพาะธุรกิจและสตาร์อัพ จากเดิมที่เราพอมีความรู้อยู่บ้างแต่เมื่อมีหน้าที่รับผิดชอบก็ทำให้เราจำเป็นต้องศึกษาและพัฒนาตัวเองในด้านเพิ่มเติม จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นทำให้ผมได้พัฒนาตนเองจนสามารถมีความรู้ทั้งด้านธุรกิจและการเขียนโปรแกรมมากพอที่จะสอบผ่านเป็น LINE Certified Coach for API ได้”

การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด

     “ส่วนตัวผมมองว่าการที่เราเป็นนักวิชาการจะสอนหนังสือตามตำราเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะภาคเอกชนเขามีทักษะวิชาชีพที่อาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ทำอย่างไรเราถึงจะตามทันโลก เพราะหลายๆ อย่างบนโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเทคโนโลยี สิ่งที่เราสอนนักศึกษาวันนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องล่าสุด แต่เวลานักศึกษาจบออกไปเทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่นำมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษา การฝึกให้ลงมือทำ ฝึกให้เกิดทักษะในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ”

     การที่อาจารย์มีทั้งความรู้ในด้านวิชาการและมีประสบการณ์การทำงานในด้านวิชาชีพ ถือเป็นสิ่งสำคัญในหลักสูตรด้านวิชาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักศึกษาและผู้ปกครองด้วย มหาวิทยาลัยรังสิตเองส่งเสริมให้อาจารย์พัฒนาตนเองทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ ทำให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจสภาพความเป็นจริงในการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอในสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

 

 

                       

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ