แค่มีความกล้า ภาษาอะไรก็พูดได้ อาจารย์ธีรพล มุละสีวะ สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

20 Jul 2020

สิ่งที่อาจารย์ธีรพล มุละสีวะ หรือ อาจารย์ต้นไผ่ อาจารย์จากสาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีเป็นสิ่งแรกในการเริ่มต้นเรียนภาษาจีนนั่นก็คือ ‘ความกล้า’ อาจารย์ต้นไผ่จบปริญญาโท สาขาวิชาการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ จากมหาวิทยาลัยหลู่ตง  เมืองเยียนไถ มณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

 

จุดเริ่มต้นของการเรียนภาษาจีน

            “จริงๆ จุดเริ่มต้นที่มาเรียนภาษาจีนได้ก็คือ พรหมลิขิต เพราะว่าผมไม่เคยคิดว่าจะเรียนภาษาจีนเลย เนื่องจากตอนมัธยมปลาย ผมเรียนสายปวช.มาเรียนเกี่ยวกับช่างคอม ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาษาเลย ตอนนั้นก็ตามเพื่อนไปสมัครสอบรอบโควต้าของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มหาสารคาม ด้วยความที่เราไม่อยากเรียน มหาวิทยาลัยรัฐบาล แล้วที่นั่นมีสาขาวิชาภาษาจีนเพิ่งจะเปิดใหม่ เราคิดว่าเราสอบไม่ได้แน่ เพราะเราเองไม่มีพื้นฐานทางด้านภาษาจีนเลย แต่ปรากฎว่าสอบติด ก็เลยตัดสินใจลองเข้าไปเรียน  ผมก็เรียนไปเรื่อยๆ จนได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีที่ประเทศจีน นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมมาเรียนภาษาจีนครับ

 

เหตุผลที่เลือกมาเป็นครู (ระดับมหาวิทยาลัย)

            “ตอนแรกผมไม่ได้อยากมาเป็นครู ผมอยากทำงานในบริษัท เพราะว่าผมไปดูซีรี่ส์จีนมา รู้สึกว่าบรรยากาศในการทำงานในออฟฟิศทำไมมันดูสนุก ซึ่งตอนนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็แนะนำให้เป็นครู แต่ผมก็ปฏิเสธอย่างเดียว ตอนเรียนชั้นปีที่ 4 ที่ประเทศจีน ก็ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่บริษัทหนึ่งในประเทศจีน ช่วงที่เราไปฝึกงาน ก็เป็นบรรยากาศการทำงานออฟฟิศแบบจีนเหมือนในซีรีส์ที่เราดูเลยครับ แต่ว่ามันไม่สนุก มันไม่เหมือนกับซีรีส์ เป็นการทำงานที่พนักงานในบริษัทไม่พูดคุยกันเลย เวลาทำงานเขาก็จะทำงาน และเวลาที่เขาสั่งงานเขาก็สั่งงานผ่านโปรแกรมแชท และทางบริษัทมีกฏว่าถ้าพูดคุยกันนอกเหนือจากเรื่องงาน ในเวลาทำงานจะโดนปรับทันที ครั้งละ 100 หยวน ก็คือ 500 บาทไทย บรรยาศก็เลยเงียบมาก ไม่มีใครคุยกันเลย หลังจากที่ผมฝึกงานเสร็จ ผมก็รู้สึกว่าทำงานบริษัทคงไม่ใช่ทางของผม ผมก็เลยไม่อยากทำงานออฟฟิศแล้ว จึงกลับไปที่มหาลัย ก็มีเด็กแลกเปลี่ยนที่มาเรียนภาษาจีน  อาจารย์ก็ให้ผมไปช่วยสอนภาษา ซึ่งนักเรียนแลกเปลี่ยนเป็นชาวกัมพูชาและชาวเวียดนาม เป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสไปสอน อาจารย์ให้ผมเข้าไปสอนในช่วงปิดเทอม เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ระหว่างที่สอนผมก็รู้สึกว่ามันสนุก อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมรู้สึกว่าอยากจะมาเป็นครูภาษาจีน และที่เลือกมาเป็นครูสอนระดับมหาวิทยาลัยก็เพราะว่าผมไม่ชอบเด็กตัวเล็กๆ ผมรู้สึกว่าเราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง และผมเองเป็นคนตัวใหญ่ด้วย ผมก็เลยคิดว่าไม่น่าจะรอด และเนื่องจากตอนที่ผมได้ไปสอนเด็กที่โตแล้ว เวลาที่ผมบอกให้เขาไปทำอะไรเขาก็จะเชื่อฟัง ให้ไปทำอะไรเขาก็โอเค และนี่ก็คือเหตุผลที่เลือกมาเป็นอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยครับ”

 

 

ฮีโร่ครูจีน รายการทีวีชื่อดังของประเทศจีน

            “รายการนี้เป็นรายการเกี่ยวกับการสอนโดยเฉพาะ  เป็นรายการสำหรับชาวต่างชาติและคนจีนเองที่เรียนการสอนในระดับปริญญาโทเข้ามาแข่งขัน  ในขณะที่ผมจะกำลังจะเรียนจบ กำลังเตรียมตัวกลับมาประเทศไทย ก็มีรายการนี้มาในช่วงนั้นพอดี โดยจะมีการคัดเลือก โดยการแบ่งเป็นเขต เราก็ต้องอัดคลิปการสอน ส่งไปยังรายการ แต่ระหว่างที่คัดเลือกในระดับประเทศ ก่อนหน้านั้นก็ต้องคัดเลือกในมหาวิทยาลัยก่อน ทุกคนที่เรียนการสอนก็จะต้องไปสอบสอนให้กับคณะกรรมการดู หลังจากนั้นผลการตัดสินออกมาว่าผมได้ที่ 1 ตอนนั้นมี 3 คน มีประเทศเกาหลี ประเทศเวียดนามและประเทศไทย ทางมหาวิทยาลัยก็เลือกประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขัน ก็คือผมเอง ผมก็ต้องส่งคลิปไปที่รายการนั้น หลังจากที่ผ่านเข้ารอบแรก ต้องไปแข่งต่อที่กว่างโจว ถ้าเทียบกับที่ประเทศไทยก็น่าจะเป็นในระดับภาค แต่ในรอบชิงชนะเลิศต้องไปแข่งที่ปักกิ่ง มีทั้งหมด 60 กว่าคน หลังจากนั้นก็ต้องคัดอีก จนเหลือรอบ 32 คนครับ หลังจากที่ผมไปแข่งก็รู้สึกว่ามันยังมีอีกหลายๆ อย่างที่เราเองยังไม่รู้ ซึ่งต้องไปค้นหาอีกเยอะเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน ผมก็รู้สึกว่าการที่ไปรายการนี้เหมือนกับว่าตัวผมเองได้ไปเปิดหูเปิดตาด้วยครับ”

 

 

เทคนิคในการเข้าไปสู่รอบ 32 คนสุดท้ายในรายการฮีโร่ครูจีน

“จริงๆ เทคนิคของผมก็คือการเตรียมตัวไปอย่างดี ซึ่งก่อนที่จะไปออกรายการนี้เขาก็จะมีการเขียนสคริปต์การพูดมาให้เราก่อนว่าเราต้องทำอะไรบ้าง และนอกจากเทคนิคที่เราเรียนมา ที่ต้องสอนเป็นขั้นตอนและวัฒนธรรมที่เราแสดงออกไปแล้ว เราเองเป็นคนรุ่นใหม่ เรารู้สึกว่ามันต้องมีความวาไรตี้บ้าง เวลาผมสอนเราก็เลยใส่ความเป็นธรรมชาติของผมเองเข้าไปด้วยครับ คือผมไม่ได้สอนแบบต้องท่อง ต้องจำ ต้องเป๊ะทุกอย่าง ผมก็ปรับให้มันเหมาะสม อย่างเช่น ตอนที่ผมไปแข่ง ผมใส่ชุดงิ้วไปแข่งก็จริง แต่ผมก็ผสมผสานเพลงในปัจจุบันเข้าไปด้วย ผมว่าคณะกรรมการน่าจะชอบในจุดนี้ครับ”

 

 

การเรียนภาษาจีนสไตล์ของต้นไผ่

            “ในการเรียนภาษาเราต้องเรียนไปเพื่อพูด เพื่อสื่อสาร เป้าหมายเดียวของผมก็คือต้องทำอย่างไรก็ได้ให้อีกฝ่ายฟังเรารู้เรื่องและถ้าอีกฝ่ายพูดอะไรมาผมเองก็ต้องฟังรู้เรื่องเช่นกัน วิธีการต่อไปก็คือตอนที่เราเข้ามหาวิทยาลัยเรามีเพื่อน เราก็นำสิ่งที่เราเรียนมา ไปพูดกับเพื่อน อย่างเช่นเราเรียนการทักทายมา เราก็เข้าไปทักทายเพื่อนด้วยประโยคที่เราเรียนมา อย่างสุดท้ายเลยก็คือ ฟังเพลงจีน ดูซีรีส์จีนครับ ถ้าถามว่าตอนแรกเราฟังรู้เรื่องไหม ก็ตอบได้เลยว่าไม่รู้เรื่อง แต่พอผมโตขึ้น ผมเพิ่งได้รู้ว่าการที่เราฟังไม่รู้เรื่อง แต่การที่ผมฟังทุกวันๆ มันทำให้ผมซึบซับ ผมคุ้นชินในสำเนียงและภาษาของเขา นี่ก็คือเคล็ดลับในการเรียนภาษาจีนของผมครับ และสุดท้ายผมอยากจะฝากถึงคนที่อยากเรียนภาษาจีน แต่ยังไม่มีความกล้านะครับ  ความไม่กล้า เกิดจากความกลัว เราแค่กลัว ตอนแรกผมก็กลัวที่จะต้องมาเรียนภาษาจีน แต่มันทำอะไรไม่ได้ เราก็ต้องเดินหน้าต่อไปครับ เราต้องลองสักตั้ง ถึงจะก้าวผ่านความกลัวนั้นได้ครับ”

 

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ