สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแทกูคาทอลิก และ มูลนิธิวัฒนธรรมคยองบุก ประเทศเกาหลีใต้ จัดสัมมนาเกาหลีศึกษาในประเทศไทย หัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาเกาหลีในประเทศไทย" โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ห้อง Auditorium (11-101) อาคารรัตนคุณากร (อาคาร 11) มหาวิทยาลัยรังสิต
ภายในงานได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาภาษาเกาหลีร่วมสัมมนามากมาย อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. ฌองส์ ฮวัน ซึง มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พาร์ค จินอุก มหาวิทยาลัยแทกูคาทอลิก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ซน ฮเยจิน มหาวิทยาลัยซอจอง ศาสตราจารย์ ดร. ปริศวร์ ยิ้นเสน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศยามล ศรสุวรรณศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ ดร. สุเขตต์ศักดิ์ หวานวาจา มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ ดร. พัชรยา ปาลสุทธิ์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธเนศ สายจิตบริสุทธิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวัสว์ สุรกิจบวร มหาวิทยาลัยนเรศวร และ อาจารย์สัชฌุกร แก้วช่วย โรงเรียนสารวิทยา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยสุดา ม้าไว คณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 โดยในรุ่นที่ 1 มีนักศึกษาในสาขาวิชาจำนวน 40 คน ปัจจุบันมีนักศึกษา 4 ชั้นปี จำนวนทั้งสิ้น 540 คน นอกจากนี้ ภาควิชาภาษาเกาหลียังได้เปิดสอนรายวิชาภาษาเกาหลีเป็นวิชาศึกษาทั่วไปสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรังสิตที่สนใจ โดยในแต่ละปีการศึกษามีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรังสิตลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาเกาหลีกว่า 300 คน
“วิทยาลัยของเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะและเชี่ยวชาญภาษาเกาหลี เพื่อจบไปแล้วจะได้สามารถนำความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง ที่สำคัญการเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี ที่วิทยาลัยของเรายังได้จัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ สำหรับนักศึกษาในสาขาวิชา นักเรียนมัธยมศึกษา และผู้ที่สนใจภาษาเกาหลี ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างกัน อาทิ มหกรรมเกาหลีรังสิต ก็ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 โดยในการจัดกิจกรรมทุกครั้งก็จะได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมมากมายเสมอ เช่น กิจกรรมในวันนี้ นับเป็นงานสัมมนาที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาภาษาเกาหลีในประเทศไทยมารวมตัวกัน พวกเราจะได้พูดคุย นำเสนอแผนการพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีร่วมกัน เรียกได้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้สอนและผู้เรียนภาษาเกาหลี และยังจะเป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาภาษาเกาหลีให้มีความน่าสนใจ เพื่อพวกเราเหล่านักภาษาจะได้เรียนรู้ภาษาที่เราชื่นชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
"