ถ้ามีคนถามว่าทำไมจึงรักมหาวิทยาลัยรังสิต คำตอบคือเพราะ "รพีพรรณ" ศิษย์ "สืบแสง" ลูก "พ่ออาทิตย์" ด้วยความเคารพ รัก และศรัทธาต่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต และยังผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ ทำให้ ดร.รพีพรรณ เพชรอนันต์กุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น เนื่องในวันภาษาไทย พุทธศักราช ๒๕๖๕ ยังคงมุ่งมั่นทั้งด้านวิชาการ สั่งสมประสบการณ์ด้านวิชาภาษาไทยเพื่อจะได้พร้อมส่งเสริม สนับสนุน และประสิทธิประสาทความรู้ทางด้านวิชาภาษาไทยให้มีบุคลากรที่พร้อมไปด้วยศักยภาพต่อไป
บทบาทการเป็นอาจารย์ ความทุ่มเท และความมุ่งมั่นที่รักในหน้าที่ของ ดร.รพีพรรณ เพชรอนันต์กุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์เล่าว่า เมื่อปี ๒๕๔๘ เคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษาไทย ได้เคยจัดโครงการประกวดกลอนสด ให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งแรก เพื่อเทิดพระเกียรติ ๕๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยความร่วมมือกับ สถาบันสุนทรภู่ ขึ้น ด้วยคุณูปการของ ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ แรงเสริมสนับสนุน และคำสั่งสอนที่ว่า “คิดดี ทำดี ไม่ต้องกลัว” นั้น เป็นแรงผลักดันให้คณะผู้จัดโครงการดังกล่าว ร่วมไม้ร่วมมือสร้างกิจกรรมให้สำเร็จไปยังเป้าหมาย โครงการกิจกรรมดังกล่าวนั้น ได้รับความสนใจจากโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ที่สำคัญยังได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ทั้งยังได้รับเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศว่ากิจกรรมโครงการของสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารนี้เทียบเคียงคุณภาพการจัดงานได้เท่างานระดับประเทศ
“ด้วยความไว้วางใจ ครูได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดกิจกรรมของสาขาวิชา ได้ประสานงานร่วมมือกับทั้งคนภายในและภายนอกวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มดงานที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ต่างๆ หลายๆ คนเป็นทีมงานเบื้องหลัง ทำงานปิดทองหลังพระ จัดสถานที่ จัดกิจกรรมให้ออกมาเพียบพร้อมที่สุด ในมุมมองของครู ครูมองว่าการปิดทองหลังพระเป็นภาระที่หนัก เราต้องทำงานด้วยใจรัก งานจึงออกมาประสบความสำเร็จ และที่ ม.รังสิต เองก็เป็นแหล่งรวมของบุคคลเหล่านี้เสียด้วย ระหว่างที่ทำงานที่นี่นั้น อีกหนึ่งบทบาทที่ครูได้ทำอยู่คือ ตำแหน่งกรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการบริหารสถาบันสุนทรภู่ นอกจากนี้ยังเป็นวิทยากร และบรรณาธิการหนังสือต่างๆ อีกด้วย สิ่งที่ครูชอบที่สุดนอกจากการสอนหนังสือ การได้เขียนหนังสือ แต่งบทประพันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งลมหายใจของครูเลยด้วยค่ะ ยิ่งเราหมั่นเขียน หมั่นหาความรู้ ประสบการณ์ก็จะยิ่งพอกพูน รางวัลต่างๆ ที่พ่วงมากับผลงานแต่ละชิ้น เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ความท้าทายสำหรับครูอีกหนึ่งภารกิจคือ อาจารย์อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มอบหมายหน้าที่ให้เป็นบรรณาธิการจัดพิมพ์หนังสือกวีนิพนธ์ และผลงานที่ผ่านมาหนังสือกวีนิพนธ์ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิตได้รับรางวัลจากการประกวดเนื่องในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ต่อเนื่องมาทุกปี รวมหนังสือที่ได้รับรางวัลทั้งหมด ๑๕ เล่ม ดังนั้นการใฝ่รู้ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สำหรับครูแล้ว ครูเชื่อว่าเราจะทำทุกอย่างที่ตั้งใจไว้ได้เป็นอย่างดี”
การบริหารมุมมองความคิดไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต การทำงาน หนึ่งบุคคลสำคัญที่เป็นต้นแบบ เป็นแม่พิมพ์แบบอย่างของอาจารย์ คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต ท่านเป็นคนเก่ง เป็นบุคคลที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และยังเป็นผู้ที่มาก่อนกาลเสมอ ด้วยวิสัยทัศน์ และสายตาอันกว้างไกล นี่จึงทำให้ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
"