พี่หนุ่ม หรือปัจจุบันอาจารย์ณัฐวุฒิ เที่ยงตรง รองคณบดีฝ่ายวิจัยพัฒนาและบริการวิชาการและหัวหน้าสาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต รุ่นที่ 12 เป็นอีกหนึ่งศิษย์เก่าที่สารรังสิตมีโอกาสได้ไปพูดคุยและติดตามความสำเร็จ
เหตุผลของคนอยากเรียนสถาปัตย์
พี่หนุ่ม : “สำหรับตัวผม สมัยวัยเด็กช่วงเรียนมัธยมศึกษาในความคิดของเราสถาปัตย์คืออะไร? รู้แต่เพียงว่าส่วนตัวเป็นคนชอบศิลปะ ชอบวาดรูป วาดนั่น วาดนี้มาตลอด ตอนหาที่เรียนต่อเลือกคณะสาขานั้นก็พยายามหาคณะที่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเรา ด้วยความเป็นคนชอบติวจึงได้มีโอกาสติวหลากหลายสาขาที่เป็นแนวศิลปะอย่างศิลปกรรมและสถาปัตย์ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยความที่ได้สัมผัสวิถีชีวิตของรุ่นพี่ศิลปกรรม และ สถาปัตยกรรมว่าแตกต่างกันอย่างไรจึงช่างใจว่าทางไหนที่เหมาะกับเรา และก็พิจารณาค้นหาตัวเองว่าวิถีไหนเหมาะกับเรา และตัวผมค่อนข้างมั่นใจว่าเส้นทางของเราควรมาทางสถาปัตย์มากว่า จึงเลือกเอนทรานซ์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงเลือกมหาวิทยาลัยรังสิตไว้ในลำดับสุดท้ายด้วย (เรียกว่ากันพลาด) สุดท้ายได้มาเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่นที่ 12”
สถาปัตย์ ม.รังสิตในอุดมคติ
พี่หนุ่ม : “ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่ค่อยรู้จักมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมากนักและช่วงปี พ.ศ. 2542 เทคโนโลยียังไม่ทันสมัยมากนัก (สืบค้นข้อมูลลำบาก) ก็เลยมองภาพไม่ออกว่ามหาวิทยาลัยในเมืองจะเป็นอย่างไร แต่จำได้ว่าก้าวแรก วันแรกของการมาสมัครที่นี่ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมไม่รู้สึกกังวลเลย คือ การได้รับการดูแลเทคแคร์จากรุ่นพี่ ที่คอยซักถามพูดคุยเราและผู้ปกครอง ทำให้รู้สึกว่าภาพใกล้เคียงกับที่เราคุ้นเคย และบรรยากาศเหมือนตอนที่ได้ไปติว และเมื่อได้มาเริ่มต้นเป็นนักศึกษาชีวิตของความสนุกก็เริ่มขึ้น ด้วยความที่ไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งมาก แต่การันตีว่าเป็นตัวท็อปในวิชาพื้นฐาน การวาดภาพ แต่ด้านภาษาอังกฤษไม่ได้เลย พอเรียนปีหนึ่งยังไม่สามารถปรับตัวได้จึงทำให้เกรดร่วงกราวเกือบรีไทด์ “มหาวิทยาลัยเอกชนก็ไม่ใช่เล่นๆนะ” และถ้าเราต้องมารีไทด์จากมหาวิทยาลัยรังสิตอีกคงไม่ได้แล้ว ทำให้ต้องปรับตัว เริ่มเรียนหนัก ติวหนักในวิชาที่ไม่ถนัด เพิ่ม-ถอนวิชาเองจนทำให้ผ่านอุปสรรคของการเรียนสถาปัตย์ไปได้ และที่สำคัญตลอดการเรียนตั้งแต่ปีที่ 1-5 ผมค่อนข้างมั่นใจว่าที่นี่คือ School of Architecture ในแบบที่ผมอยากเป็น”
เสน่ห์ของสายอาชีพสถาปัตย์
พี่หนุ่ม : “เมื่อพบจบออกออกมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมภูมิใจคือ ผมได้เป็น “สถาปนิก” นอกจากการเรียนที่คณะผมชอบที่สุดคือการได้ออกไปต่างจังหวัด ไป Field Trip กับเพื่อนๆ การได้ร่วมกิจกรรมสันทนาการต่างๆ และคำพูดจากที่ได้รับการส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นยังก้องอยู่ในหัวผมนั่นคือ “พวกเราเป็นนักคิด” นักคิดที่รู้จักช่างสังเกตุ ต้องหาคำตอบให้ได้ในคำถามต่างๆ อาทิ ทำไมโต๊ะสูงเท่านี้ ทำไมต้องนั่งไขว้ห้าง คิดและหาคำตอบในมิติต่างๆ “สถาปัตย์รังสิตสอนให้เป็นครีเอทีฟ” จุดเด่นที่ผมชอบคือสถาปัตย์รังสิตไม่ได้สอนผมให้เป็นสถาปนิกอย่างเดียวแต่สอนวิธีคิดมากกว่า ซึ่งจะเห็นว่าคนที่จบจาก ม.รังสิต ทุกคนจะแทรกตัวไปทำงานอยู่ในหลายๆ บริบท”
เส้นทางประสบการณ์สถาปนิกที่เป็นอาจารย์
พี่หนุ่ม : “หลังเรียนจบก็ได้ทำงานสายงานสถาปนิก รับงานออกแบบเอง งานออกแบบบ้านพักอาศัย งานออกแบบเมือง งานออกแบบผังต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ระหว่างทำงานได้รับการชักชวนจากอาจารย์ให้เขาไปสอนรุ่นน้องที่คณะสถาปัตย์ ม.รังสิต ได้ลิ้มลองการสอนก็รู้สึกสนุก บวกกับจังหวะของชีวิตที่สามารถสอบเข้ามาเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้ จึงได้ทำงานเป็นอาจารย์ควบคู่กับสถาปนิกด้วยมากว่า 10 ปี สิ่งที่เรียนรู้คือความห่างของช่วงอายุระหว่างตัวเรากับนักศึกษา ข้อคิดคือเราจะไม่พยายามปรับตัวนักศึกษาให้ตามเรา เพราะนักศึกษาเขามีความใหม่อยู่เสมอ เราต้องปรับตัวเองอยู่ตลอด ด้วยความที่เราถูกบ่มเพาะมาว่าเราเป็นนักคิด จึงต้องออกแบบและดีไซน์บรรยากาศการเรียนการสอนนักศึกษาให้ไปเป็นสถาปนิก นักศึกษาทุกคนจะถูกหล่อหลอมให้เป็นนักคิด รู้จักตั้งคำถาม รู้จักถอดรหัสหาคำตอบกับปัญหานั่นๆ”
มุมมองการตั้งเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ
พี่หนุ่ม : “มนุษย์ทุกคนมีหลายร่างในคนเดียว เราไม่จำเป็นต้องไล่ร่างนั่นออกจากตัวเรา ตัวผมมีร่างคือ ร่างทรงสถาปนิก ร่างทรงอาจารย์ ร่างทรงผู้บริหาร คำตอบของเป้าหมายแต่ละบทบาทจะมีเป้าหมายของตัวมันเอง จะเห็นว่าเป้าหมายของการทำงานเป็นอาจารย์ ผมปักหลักและตั้งใจทำงานพัฒนาให้งานเราออกมาดี นักศึกษาได้เรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการ ได้พาชีวิตและความฝันเขาไปสู่การเป็นสถาปนิกต่อไปในอนาคต วันหนึ่งถ้านักศึกษาเข้ามาเรียนและสามารถตอบคำถามเราได้ว่ามาเรียนทำไม? ขณะเดียวกันเขาสามารถตอบคำถามตอบคุณพ่อคุณแม่ได้ในวันที่เรารับปริญญา เมื่อมองภาพนั่นวันที่คนถ่ายภาพรับปริญญาร่วมกับเขาเป็นคนเดียวกันกับคนที่มาส่งในวันแรก เราในฐานะอาจารย์ก็โอเคแล้ว ขณะเดียวกันในฐานะที่ผมเป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต และเป็นผู้บริหารของสถาบันแห่งนี้ เป้าหมายในการทำงานบริหารของผม คือ การมีเครือข่ายร่วมกัน เป็นสถาบันที่สอนนักศึกษาให้เป็นสถาปนิก ไม่ใช่คู่แข่ง ผมโชคดีที่จบมากจาก ม.รังสิต และโชคดีที่เป็นอาจารย์และผู้บริหารที่นี่ ทำให้เรามีเป้าหมายเดียวกัน”
ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ทุกคนย่อมผ่านเรื่องราวมากมาย พี่หนุ่มก็เช่นกัน เรื่องราวตั้งแต่การเริ่มค้นหาตัวเอง รู้จักตัวเอง จนมาถึงจุดที่ลงตัว ประสบการณ์ มุมมอง และข้อคิดสะกิดใจหลายคีย์เวิร์ด ที่อาจสร้างแรงบันดาลใจเชิงบวก ให้น้องทุกคนตามฝันได้เป็นสถาปนิก หรือ สายอาชีพที่อยากเป็นได้ในอนาคต
"