ม.รังสิต ปรับหลักสูตรแอนิเมชัน เน้นปั้นบัณฑิตสู่ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์

19 Feb 2021

เมื่อวัยรุ่นยุคปัจจุบันมีพฤติกรรมการสร้างคาแรคเตอร์ต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นตัวเองบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แน่นอนว่าคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นจึงมีแนงโน้วไปในทางดิจิทัลมากขึ้น และดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเผยแพร่ จำหน่ายและให้บริการด้าน ดิจิทัลคอนเทนต์ อาทิ แอนิเมชัน คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เกม สื่อในรูปแบบ ใหม่ อาทิ Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR) Mixed Reality (MR) การ์ตูนคาร์แรคเตอร์ต่างๆ คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ปรับหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องและตอบโจทย์ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อเพิ่มความหลากหลายในสายงานแอนิเมชันแก่นักศึกษา

 

 

อาจารย์นัฐวุฒิ สีมันตร คณบดีคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.2542 คณะดิจิทัลอาร์ตเป็นสาขาวิชาหนึ่งของคณะศิลปะและการออกแบบ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยการออกแบบ ซึ่งแรกเริ่มนั้นมหาวิทยาลัยรังสิตเรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เปิดการเรียนการสอนด้านคอมพิวเตอร์อาร์ต หรือด้านแอนิเมชัน และเป็นยุคของการเปลี่ยนถ่ายการทำงานศิลปะแบบดั้งเดิมสู่ความเป็นดิจิทัล โดยใช้แอนิเมชันสร้างผลงานวาดภาพแอนนิเมชั่น และตามมาด้วยการสร้างงานรูปแบบ 3D แอนิเมชันที่ได้มีการพัฒนาตามมา หลักสูตรด้านแอนิเมชันของคณะดิจิทัลอาร์ต ม.รังสิต มีการเปิดสอนมายาวนานกว่า 20 ปี ผลิตบัณฑิตสายอาชีพด้านคอมพิวเตอร์อาร์ต และวิชวลเอฟเฟค รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชัน ภาพประกอบ ภาพยนตร์ เกม และงานโฆษณา

 

 

สำหรับปี พ.ศ. 2564 หลักสูตรของคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรสาขาวิชาคอมพิวเตอร์อาร์ตระดับปริญญาตรี โดยรวมสาขาวิชาวิชวลเอฟเฟคเข้ามา เนื่องจากปัจจุบันมีการเรียนการสอนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ ประกอบกับทิศทางของตลาดในยุคดิจิทัลคอนเทนต์ จึงปรับปรุงให้หลักสูตรคอมพิวเตอร์อาร์ตมีความชัดเจนสอดคล้องกับวิชาชีพมากขึ้น โดยมีการปรับปรุงสาขาใหม่ออกเป็น 3 แขนงวิชา ได้แก่ 1. แขนงวิชา 2D แอนิเมชันและโมชันกราฟิก (2D Animation and Motion Graphic) 2. แขนงวิชา 3D แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟคท์ (3D Animation and Visual Effects) 3. แขนงวิชาดิจิทัลอิลลัสเตรชันและคอมิก (Digital Illustration and Comic) โดยทั้งสามแขนงวิชามีความเอื้อซึ่งกันและกันในสายวิชาชีพตั้งแต่การทำ Pre-Production จนถึง Post-Production ในงานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ งานอุตสาหกรรมแอนิเมชัน หรือแม้กระทั่งงานคอนเซ็ปต์อาร์ต สำหรับงานแอนิเมชัน ภาพยนตร์ และเกม เป็นต้น เหล่านี้ทำให้งานแอนิเมชันมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นคณะดิจิทัลอาร์ตเห็นความสำคัญของนักศึกษาที่ควรได้รับความรู้ทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และสามารถเลือกเรียนแขนงวิชาข้ามศาสตร์กันได้เพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงาน

 

 

แขนงวิชา 3D แอนิเมชันและวิชวลเอฟเฟคท์ (3D Animation and Visual Effects) เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องในสายงานแอนิเมชันต่างๆ ตัวอย่างงานภาพยนตร์ Hollywood และ Pixar Animation Studios แขนงนี้จึงเป็นการเรียนศาตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเน้นตั้งแต่การทำ Pre-Production และ Post-Production การทำ Modeling งานปั้นต่างๆ ไปจนถึงการ Rigging ใส่ข้อต่อต่างๆ เพื่อให้ตัวละครสามารถขยับได้ ทำให้เกิดแอนนิเมชั่น เกิดตัวละครที่มีความเคลื่อนไหวสมจริง มีความสวยงามในการเคลื่อนไหวอีกด้วย นักศึกษาจะได้เรียนการจัดแสง SLR การ Render การจัดแสงแบบต่างๆ และการ Compositing เป็นต้น นอกจากนี้แขนงวิชาดังกล่าวนี้ยังเรียนรู้เกี่ยวกับการทำวิชวลเอฟเฟคต์ การทำ CG ที่เห็นกันในภาพยนตร์ โฆษณาต่างๆ โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานกระบวนการแรกของการทำ CG การทำเอฟเฟค จนสามารถผลิตงานแอนนิเมชั่นและวิชวลเอฟเฟคได้

 

 

แขนงวิชาดิจิทัลอิลลัสเตรชันและคอมิก (Digital Illustration and Comic) เป็นแขนงวิชาที่เน้นให้นักศึกษารู้จักพื้นฐานความงามของศิลปะ พื้นฐานการวาดเส้น การลงสี เทคนิคของการใช้ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อต่อยอดในการสร้างผลงานการวาดภาพประกอบได้สมบูรณ์มากขึ้น นักศึกษาที่เลือกแขนงนี้นอกจากจะสามารถเขียนการ์ตูนได้แล้ว ยังมีทักษะของการเล่าเรื่องรูปแบบของ Comic สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายสื่อ ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องขั้นสูงที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์จากจินตนาการและความเป็นตัวตน สู่การเล่าเรื่องผ่านตัวละครของตัวเอง ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและผูกพันธ์กับตัวละครได้อย่างยาวนาน เป็นต้น

 

 

แขนงวิชา 2D แอนิเมชันและโมชันกราฟิก (2D Animation and Motion Graphic) จะเน้นให้นักศึกษานำภาพนิ่งที่วาดขึ้นจากฝีมือของตนเอง ทำให้มีชีวิตโดยการทำให้เกิดคาแรกเตอร์ ลักษณะนิสัยของตัวละคร และเป็นตัวละครที่มีชีวิตจริงขึ้นมา การทำแอนิเมชันนี้จะทำให้นักศึกษาได้สร้างและประพันธ์ตัวละครที่ผ่านออกแบบด้วยตัวเองจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยผลงานนั้นจะเป็นเสมือนการสื่อสารความคิด จินตนาการ ของตัวเองผ่านการทำแอนนิเมชั่น 2D รวมถึงการบูรณาการในส่วนของวิชาด้าน Motion Graphic ให้แก่นักศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัลที่การทำ Motion Graphic กลายเป็นสื่อหลักและมีความน่าสนใจ อย่างการสร้างภาพประกอบหรือภาพเคลื่อนไหวด้วยกราฟฟิกในหลากหลาย Platform

 

 

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 แขนงวิชานั้น นักศึกษาจะได้รับความรู้จากคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีประสบการณ์โดยตรงในวงการวิชาชีพที่หลากหลาย ทำให้สามารถผลิตนักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักกระบวนการคิด การสังเคราะห์ การพัฒนางานที่ผสมผสานระหว่างความสร้างสรรค์ จินตนาการ ประกอบการกับการใช้เครื่องมือให้สอดคล้องตรงกับชุดความคิดเพื่อสร้างผลงานให้สมบูรณ์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น

"

ผู้จัดทำ

บทความที่คุณอาจสนใจ